“เรื่องเล่าของสาวรับใช้” ผู้หญิงกับสัญลักษณ์ที่ถูกกำหนด

ตอนที่บรรณาธิการเนื้อหาของ Tonkit360 เอาหนังสือเล่มนี้มาคืนให้เธอบอกว่า นวนิยายเล่มนี้ให้ความรู้สึกของการแบ่งชนชั้นมาก ซึ่งที่เธอรู้สึกนั้นไม่ผิด เพราะนวนิยายที่ถูกจัดประเภทให้เป็น “ไซไฟดิสโทเปีย” อันหมายถึงวรรณกรรมแนววิทยาศาสตร์ที่จำลองสภาพสังคมอนาคตในด้านมืด

ความรู้สึกของการอ่าน “เรื่องเล่าของสาวรับใช้” นั้นจะค่อย ๆ เพิ่มจินตนาการให้เราไปเรื่อย ๆ เนื้อหาดำเนินไปอย่างไม่เร่งร้อน แต่จะค่อยเพิ่มความกดดันให้เราไปเรื่อย จนกระทั่งถึงช่วงที่เรียกได้ว่าเป็นด้านมืดของสังคมที่หลายคนคิดว่าเป็นสังคมอุดมคติ แต่แท้จริงแล้ว เป็นได้แค่สังคมที่ซุกซ่อนเอาความเลวร้ายเอาไว้ใต้พรม และไม่สามารถหาทางออกได้

“เรื่องเล่าของสาวรับใช้” เป็นชื่อที่ถูกแปลมาจาก The Handmaid’s Tale ของมาร์กาเร็ต แอ๊ดวูด นักเขียนชาวแคนาดา และผู้แปลในฉบับภาษาไทยคือ จุฑามาศ แอนเนียน ซึ่งถ่ายทอดคำบอกเล่าของสาวรับใช้ที่ครั้งหนึ่งเคยมีอิสระแต่กลับต้องถูกบังคับให้กลายเป็นเหมือนเครื่องมือในการผลิตประชากรได้อย่างสนุก

บางช่วงบางตอนของสาวรับใช้ ผู้ไม่เคยละความคิดเรื่องกลับไปสู่อิสระภาพเหมือนดังเช่นที่เธอเคยได้สัมผัสในโลกเก่า ได้กล่าวถึงอำนาจที่เธอมีอยู่น้อยนิดบนเรือนร่างของตนเองว่า “ฉันสนุกกับอำนาจ อำนาจของกระดูกที่ใช้ยั่วหมา เป็นอำนาจที่ไร้พลังแต่มีอยู่ ฉันหวังว่าพวกนี้จะแข็งขึงขึ้นมาเมื่อเห็นพวกเราและต้องแอบถูกไถตัวเองเข้ากับแผงกั้นทาสีพวกนั้น”

อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่านี่คือนวนิยายที่อ่านสนุก และจะยิ่งเพิ่มความตื่นเต้นขึ้นเรื่อย ๆ ต้องยอมรับว่า จินตนาการของ มาร์กาเร็ต แอ๊ดวูด นั้นทำให้เราจินตนาการไปได้ไกล และรู้สึกหวาดหวั่นว่า ถ้าเกิดสังคมในรูปแบบนี้เกิดขึ้นจริง คุณค่าของผู้หญิงจะถูกกำหนดไว้แบบไหน

หลายคนอาจคิดว่า เนื้อหาของนวนิยายเรื่องนี้อาจจะชวนหดหู่ เพราะพูดถึงสังคมในด้านมืดเอาเข้าจริงแล้ว ความหดหู่นั้นมีน้อยมาก แต่ถ้าถามเรื่องความเร้าใจของการดำเนินเรื่องนั้นมาแบบเต็มร้อยเลยทีเดียว ลองหามาอ่านกันดูค่ะ