“ฆ่าตัวตาย” ความสูญเสียที่ต้องเยียวยา

เมื่อเรามีคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือ ศิลปินที่รักต้องจากไปด้วยการฆ่าตัวตาย ความทุกข์จากการจากไปเป็นเรื่องที่สร้างความเศร้าให้กับหลายคน และมีอีกหลายคนจมอยู่กับความเศร้านั้นจนหาทางออกไปไม่ได้ ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจกันดีกว่าความเศร้าโศกที่ต้องสูญเสียคนที่รักไปแบบกระทันหันนั้นจะทำให้คนเราจะมีอารมณ์ผันเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อเข้าใจแล้ว เราจะได้ตั้งรับกับสิ่งที่จะเกิดตามมาได้ด้วยความเข้าใจ

ความรู้สึกตกใจ : “พอรู้ข่าวมือเท้าฉันชาไปหมด” เป็นความรู้สึกแรกเมื่อต้องพบกับความสูญเสีย และเป็นสิ่งที่เราจะแสดงออกเมื่อต้องเผชิญหน้ากับข่าวร้าย ความรู้สึกตกใจจะช่วยปกป้องจิตใจเราไปด้วย และจะทำให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่อไปได้

ปฎิเสธ : “ฉันไม่เป็นไร” หลังจากผ่านความรู้สึกตกใจมาแล้ว ภาวะจิตใจจะเข้าสู่โหมดปฎิเสธ ความจริงที่เกิดขึ้น และ จะไม่พยายามแสดงความรู้สึกออกมาซึ่งความรู้สึกเช่นนี้เป็นภาวะป้องกันทางจิตใจของตนเองอย่างหนึ่ง และทำให้รับมือกับความสูญเสียได้ดีขึ้น

ความรู้สึกผิด : “ฉันคิดว่ามันเป็นความผิดของฉัน” เมื่อต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักด้วยเหตุฆ่าตัวตาย คนที่อยู่ข้างหลัง จะรู้สึกผิดที่ปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น จากความคิดที่ว่าเราน่าจะช่วยเขาได้ หรือ เราน่าจะฟังเขาในเวลาที่เขาต้องการเรา แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องภายในของคนหนึ่งคนนั้นเป็นเรื่องอยู่เหนือการควบคุม

ความรู้สึกโกรธ : “เขาทำกับอย่างนี้กับฉันได้อย่างไร” อีกหนึ่งวิธีการแสดงออกของผู้ที่สูญเสียคือการแสดงความรู้สึกโกรธต่อผู้ที่เสียชีวิต กับสิ่งที่พวกเขาทำลงไป และความรู้สึกโกรธนั้นเกิดขึ้นเปรียบเสมือนการยอมรับรับความเป็นจริงได้เพียงแต่อยู่ในห้วงอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้

ยอมรับ : “ฉันคงคิดถึงเขาแต่ยังคงต้องดำเนินชีวิตต่อไป” ระยะสุดท้ายในการรับมือกับความสูญเสียคือการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง การยอมรับไม่ใช่การลืม การยอมรับคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเจ็บปวด และ กลับมามีชีวิตเป็นของคุณเองอีกครั้ง ขณะที่ผู้ที่จากไปก็ยังคงมีภาพที่ดีอยู่ในความทรงจำ

เมื่อเข้าใจความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นแล้วนี่คือ 5 วิธีที่คุณจะสามารถพาตัวออกหรือคนใกล้ชิดออกจากความเศร้า

1. ความเศร้าหลังจากสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักด้วยการฆ่าตัวตายนั้น ผู้ที่คอยปลอบใจต้องอยู่กับคนที่มีอารมณ์สวิงขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา คุณต้องเข้าใจและใจเย็นพอที่จะพูดคุยกับเขา

2. พยายามหากิจกรรมให้เพื่อนของคุณได้เข้าร่วม อย่าปล่อยให้เขาจมอยู่กับความเศร้าแต่เพียงลำพัง

3. เพื่อน ครอบครัว หรือ คนที่คอยเป็นห่วงเป็นใย คือกลุ่มคนที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนที่สูญเสียนั้นสามารถพาตัวเองออกจากความเศร้ามาใช้ชีวิตปกติได้

4. หากคุณไม่สามารถพาตัวเองออกมาจากความเศร้าได้หนทางที่ดีที่สุดคือการหาผู้เชี่ยวชาญ หรือ จิตแพทย์ ซึ่งอาการแบบนี้ก็เหมือนคุณเป็นหวัด คุณต้องหาหมอเพื่อทำการเยียวยา

5. จงจำไว้ว่า เมื่อพบกับความสูญเสียคุณไม่สามารถก้าวข้ามมันได้อย่างรวดเร็ว หากแต่ต้องใช้เวลาจงมองความสูญเสียที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจ และ ค่อยๆฟื้นกลับมาเป็นตัวของคุณเอง