MCATT ทีมปฏิบัติการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจพี่น้องชาวไทย

ภาพจาก Pixabay

ในห้วงที่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิธ ใกล้เข้ามาทุกขณะ ทำให้หลายคนอดใจหายไม่ได้

แม้จะมีเวลาได้ทำใจนานร่วมปี แต่เมื่อถึงเวลาเข้าจริงๆ บรรยากาศของฝูงชนที่ไปรวมตัวกันเพื่อร่วมกันส่งเสด็จพระองค์สู่สวรรคาลัย ในวันที่ 26 ตุลาคม ก็อาจเกิดปฏิกิริยาความโศกเศร้ารุนแรงที่คาดไม่ถึงได้

กรมสุขภาพจิตจึงเตรียมรับมือด้วยการจัดทีม MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team)  หรือทีมปฏิบัติการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ  ซึ่งมาจากหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ  ในการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้บริการดูแลสภาพจิตใจของพี่น้องประชาชน ร่วมกับทีมสุขภาพฝ่ายกาย

โดยจัดทีม MCATT  เพื่อคอยให้บริการประชาชน ไว้ที่ 7 จุดบริการ ประกอบด้วย  1.บริเวณพระเมรุมาศ 2.ท่าช้าง 3.ท่าเตียน 4.กรมรักษาดินแดน 5. เจดีย์ขาว  6.โรงแรมรัตนโกสินทร์ และ 7.กองสลากเดิม

นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ทีม MCATT  จะเน้นการปฐมพยาบาลทางใจ ด้วยหลัก 3 ส. ได้แก่ สอดส่องมองหา,  ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยงสำรวจค้นหาคนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจรุนแรง หายใจเร็ว กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เพื่อให้การช่วยเหลือตามความจำเป็นพื้นฐาน

นอกจากนี้  กรมสุขภาพจิตได้เตรียมทีมจิตอาสายุว MCATT TO BE NUMBER ONE ประมาณ400 คน เพื่อร่วมเดินเท้าเข้าหาประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่เปรียบเหมือนหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการช่วยดูแลจิตใจพี่น้องประชาชนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นด้วย

ขณะที่ประชาชนเองก็สามารถช่วยกันสอดส่องดูแลคนรอบข้างได้  หากพบว่า ผู้ใดมีอาการร้องไห้ฟูมฟาย แยกตัวอยู่คนเดียว เพ้อ ซึมเศร้า เหม่อลอย หรือเอะอะโวยวาย ให้ใส่ใจ รับฟัง พูดคุย ปลอบประโลมเขา สัมผัสให้เขารู้สึกว่ามีคนเข้าใจ มีคนให้กำลังใจ

ในกรณีที่ช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โศกเศร้ารุนแรง มีความคิดฆ่าตัวตาย หรืออาการทางจิตกำเริบ ให้ขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ พยาบาลเคลื่อนที่ทีม MCATT ซึ่งจะส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญต่อไป โดยได้ประสานกับสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาในการรับผู้ป่วยเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำว่า การปรับตัวต่อการสูญเสียเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่จะต้องจัดการและก้าวผ่านความทุกข์โศกของตนเองไปให้ได้ ซึ่งการปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงความรู้สึกโศกเศร้า จะทำให้กระบวนการโศกเศร้านั้นยาวนานยิ่งขึ้นได้