เครื่องมือ RRST คัดกรองความเสี่ยงรักษาซ้ำในผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมอง

“ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” อาจต้องกลายเป็น “ผู้พิการ” หรือ “เสียชีวิต” หากต้องกลับเข้ารับการรักษาซ้ำ

อาจารย์ ดร.จันทรา แก้วภักดี อาจารย์พยาบาลประจำสาขาวิชาการพยาบาลสุขภาพชุมชน โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานวิจัยสร้าง “เครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงต่อการกลับมารักษาซ้ำ” (RRST – Readmission Risk Screening Tool) ในผู้สูงอายุที่มีโรคหลอดเลือดสมอง

ซึ่งได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “INQUIRY” และ “Trends in Sciences” ที่ได้วิจัยร่วมกับภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข และภาควิชาชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ School of Nursing, University of Massachusetts Lowell สหรัฐอเมริกา ด้วยความห่วงใยในคุณภาพชีวิตของ “ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง”

เพื่อเสนอเป็น “ทางเลือก” สู่ “ทางรอด” สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จากการประเมินด้วยเครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงต่อการกลับมารักษาซ้ำก่อนกลับบ้าน

อาจารย์ ดร.จันทรา แก้วภักดี กล่าวต่อไปว่า แม้โรคหลอดเลือดสมองจะพบมากใน “ผู้สูงวัย” แต่ “วัยทำงาน” ก็เสี่ยงได้หากขาดความระมัดระวังในพฤติกรรมการดูแลตัวเอง ได้แก่ รับประทานอาหาร การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งนับเป็น “ปัจจัยหลัก” ที่ทำให้โรคทวีความรุนแรง

อาจารย์ ดร.จันทรา แก้วภักดี อาจารย์พยาบาลประจำสาขาวิชาการพยาบาลสุขภาพชุมชน โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เช่นเดียวกับ “ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่นอนติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้” หรือ “ขาดการเคลื่อนไหว” อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เกิดแผลกดทับ ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณแผลได้ รวมทั้งการที่ผู้ป่วยไม่ได้เคลื่อนไหวจากการนอนราบนาน ๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อที่บริเวณปอด หรือติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้

ยังมี “ปัจจัยรอง” ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการของ “โรคหลอดเลือดสมอง” ได้เช่นกัน ได้แก่ “อิทธิพลของฮอร์โมน” ที่เกี่ยวกับเพศ เช่น ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน ที่มีผลต่อเรื่องไขมันในเลือด หรือโรคหลอดเลือดต่าง ๆ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง ต้องรับประทานยาหลายชนิด ฤทธิ์ของยาบางชนิดอาจส่งผลทำให้อาการของ “โรคหลอดเลือดสมอง” เป็นมากขึ้นได้

ด้วย “เครื่องมือ RRST” ที่ยังไม่เคยมีผู้ใดสร้างขึ้นมาก่อนนี้ จะช่วยทำให้ “ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” ได้สร้างความตระหนักถึงแนวทางในการดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อให้เลิกพฤติกรรมแบบเดิมที่ส่งผลกระทบทำให้กลับมาเป็นซ้ำ

โดยการประเมินจากเครื่องมือคัดกรอง อาทิ พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อโรค ได้แก่ อาหารหวาน อาหารเค็ม และอาหารมัน การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย การพักผ่อนและการนอนหลับความสม่ำเสมอในการรับประทานยา และปริมาณยาที่รับประทานต่อวัน โรคประจำตัวที่มีอยู่ การตรวจเช็กสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการของ “โรคหลอดเลือดสมอง” จะไม่ทำให้ผู้ป่วยต้องเพลี่ยงพล้ำจากพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต้องกลับมารักษาซ้ำได้

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th