กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยมะเร็งต่อมลูกหมากพบมากในผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป พบเป็นลำดับที่ 4 ของมะเร็งในเพศชาย ในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการ แนะควรตรวจสุขภาพประจำปี เป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้โรคหายขาดได้
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะที่มีเฉพาะในเพศชาย มีหน้าที่ในการสร้างน้ำหล่อลื่นระหว่างมีเพศสัมพันธ์และสารเลี้ยงอสุจิ สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก พบมากในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีบิดา พี่ชาย หรือน้องชายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากสถิติการเกิดโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (Cancer in Thailand Vol.X 2016-2018) พบว่าอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก คือ 3,755 ราย โดยพบเป็นลำดับที่ 4 ของมะเร็งในเพศชาย อาการแสดง มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการ มักจะตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือจากการพบสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด (serum PSA: serum prostatic specific antigen) สูงเกินค่าปกติ
แต่เมื่อเซลล์มะเร็งมีการขยายตัวจนเบียดท่อปัสสาวะ อาจทำให้ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่พุ่ง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปวดแสบเวลาปัสสาวะ มีเลือดปนมากับปัสสาวะหรืออสุจิ (อาการบางอย่างอาจคล้ายกับโรคต่อมลูกหมากโต แต่ต่อมลูกหมากโตไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจน) และในกรณีมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลามอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังหรือปวดสะโพก กระดูกหักโดยไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลด ขาบวม หรือตัวเหลืองตาเหลืองได้
การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก ทำโดยการเจาะเก็บชิ้นต่อมลูกหมากทางทวารหนักแบบสุ่ม แต่ในปัจจุบันมีทางเลือกในการตรวจวินิจฉัยที่มากยิ่งขึ้น ได้แก่ การเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบริเวณต่อมลูกหมาก หากพบว่ามีบริเวณที่น่าสงสัย จะเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก จะนำภาพเอกซเรย์ดังกล่าวเป็นแผนภาพนำทางในการเจาะชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก ทำให้ช่วยลดจำนวนชิ้นเนื้อที่ต้องเจาะเก็บ ลดการเจาะชิ้นเนื้อในรายที่ความเสี่ยงต่ำ และเพิ่มโอกาสตรวจเจอมะเร็งต่อมลูกหมากมากยิ่งขึ้น
นายแพทย์พร้อมวงศ์ งามวุฒิวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งทางเดินปัสสาวะ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของตัวโรค และจะพิจารณาร่วมกับอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เริ่มตั้งแต่การตรวจติดตามหรือเฝ้าระวังเชิงรุกในผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มที่มะเร็งมีความสามารถในการลุกลามต่ำ ไปจนถึงการผ่าตัดนำต่อมลูกหมากออก การใช้ยาลดฮอร์โมนเพศชาย การฉายแสง การฝังแร่ การให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัดตัดอัณฑะ รวมถึงการให้ภูมิคุ้มกันบำบัด
การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นจำเป็นที่ต้องผ่าตัด นำต่อมลูกหมากออกทั้งหมด โดยวิธีการผ่าตัดที่นิยมในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ การผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมดผ่านกล้อง และการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย เป็นการใช้แขนกลหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยศัลยแพทย์ ทำให้มีความแม่นยำในการเก็บเส้นประสาทที่ช่วยเรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ดีมากยิ่งขึ้น
การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากให้พบในระยะเริ่มต้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้โรคหายขาดได้ ปัจจุบันแนะนำให้ตรวจในเพศชายที่มีอายุระหว่าง 45-75 ปี ด้วยวิธีตรวจคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนักร่วมกับการตรวจระดับสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด (serum PSA)
การลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถทำได้โดย ลดการทานเนื้อสัตว์ที่ปิ้งย่างไหม้เกรียม ลดการทานไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ ลดการใช้ฮอร์โมนแอนโดรเจน หากมีภาวะต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง และมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รีบควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีความสัมพันธ์กับมะเร็งต่อมลูกหมากได้ นอกจากนี้การดูแลสุขภาพโดยทั่วไปให้แข็งแรง งดการสูบบุหรี่ งดการดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็จะทำให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งร้าย และมีสุขภาพที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ที่มา: กรมการแแพทย์