เหนือกว่ารถคือ “คนขับ”

จากพาดหัวข่าว “รถเมล์เบรกแตก” ย่านพระราม 2 กวาดรถไป 14 คัน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บเกือบ 20 ราย แว่บแรกที่ผมเห็นข่าวนี้ ภาพที่ผุดขึ้นมาให้หัว คือ ต้องเป็นรถเมล์รุ่นเก่าที่อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์แน่ ๆ แต่เมื่อกดเข้าไปอ่าน กลับกลายเป็นรถเมล์ไฟฟ้าของ ไทยสมายล์ บัส ที่เพิ่งนำออกมาวิ่งได้ไม่นาน

ยิ่งมีบทสัมภาษณ์ของคุณลุงพนักงานขับรถบอกว่าเบรกไม่อยู่ ยิ่งทำให้นึกในใจว่ารถใหม่ขนาดนี้เบรกจะพังได้ขนาดนี้เลยหรือ และทำให้คิดต่อไปอีกว่า ด้วยความที่เป็นรถพลังงานไฟฟ้า จากประสบการณ์ของตัวเองที่เคยไปทดลองขับรถ EV หลายยี่ห้อ ที่จังหวะกดคันเร่งมันพุ่งเสียจนน่ากลัว ก็คิดไปอีกว่าอาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุก็ได้

อย่างไรก็ดี “ไทยสมายล์ บัส” มีการออกจดหมายชี้แจงอย่างเป็นทางการแล้วว่า ตัวรถเมล์ไฟฟ้าคันดังกล่าวระบบไม่มีความผิดปกติใด ๆ ทั้งเรื่องของระบบไฟฟ้า และระบบควบคุมการเบรก พร้อมยืนยันว่าสาเหตุของการชนครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของระบบตัวรถเมล์ไฟฟ้า

ส่วนสาเหตุของการชนครั้งนี้ เขามีการชี้แจงว่าเป็นเหตุจากพนักงานขับรถที่ยอมรับว่าตนเองพักผ่อนน้อย และเผลอเหม่อลอยชั่วขณะ เมื่อรถเคลื่อนตัวไปจึงเกิดอาการตกใจ เมื่อตั้งใจจะเหยียบเบรกรถ กลับไปเหยียบคันเร่งแทน ทำให้ความเร็วของรถพุ่งตัวไปจนตัวเองเสียการควบคุมไปชั่วขณะ

หากในคำชี้แจงของไทยสมายล์ บัส เป็นความจริงทั้งหมด นั่นก็หมายความว่าเป็นอีกครั้งที่อุบัติเหตุบนท้องถนนมาจาก Human Error ซึ่งตรงกับสถิติตัวเลขที่ผมเคยเขียนถึงก่อนหน้านี้ครับว่า สาเหตุของอุบัติเหตุทางถนน 94 เปอร์เซ็นต์มาจากความผิดพลาดของมนุษย์

ส่วนหนึ่งจากคำชี้แจงที่บอกว่า “พนักงานขับรถที่ยอมรับว่าตนเองพักผ่อนน้อย” จุดนี้ก็ต้องไปดูกันอีกนะครับว่าที่พักผ่อนน้อย เป็นเพราะการแบ่งกะในการขับที่มากไปหรือไม่ หรือระบบการว่าจ้างพนักงานขับรถเป็นอย่างไร หรืออาจเป็นความบกพร่องส่วนตัวของผู้ขับเองที่ไม่จัดสรรเวลาพักผ่อนของตัวเองช่วงนอกเวลาทำงาน

ก่อนหน้านี้ รถเมล์ไฟฟ้า แม้จะเป็นบริการโดยเอกชน แต่ก็ถือว่ามีภาพลักษณ์ที่ดีมาตลอด เพราะเหมือนเป็นการพลิกโฉมรถเมล์ไทย ทั้งความใหม่ของรถและพลังงานสะอาด ขณะเดียวกันการบริการก็ได้รับคำชมว่าดีกว่ารถร่วมบริการในช่วงที่ผ่านมาพอสมควร แต่พอมีเคสนี้เกิดขึ้นในยุคโซเชียลแบบนี้ ก็ทำให้มีเสียง “บ่น” ออกมาไม่น้อย

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผู้โดยสารบ่น มันคือปัญหาเดิม ๆ แบบที่เคยเกิดขึ้นกับคุณภาพของการบริการของรถร่วมบริการในอดีต อาทิ พฤติกรรมการขับปาดซ้าย-ขวา จอดรถไม่ตรงป้าย กดกริ่งแล้วไม่จอดป้าย หรือบางทีขับเลนขวาสุด จนผู้โดยสารที่ป้ายแทบจะต้องลงไปโบกกลางถนนให้จอด ทั้งหมดเป็นเสียงของผู้โดยสารจริง ๆ ที่เจอมาครับ

หากดูคุณสมบัติของพนักงานขับรถ ไทยสมายล์ บัส ที่เขาประกาศไว้ในเว็บไซต์ ก็ต้องบอกว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด อาทิ อายุ 22 ปีขึ้นไป มีทักษะในการขับรถโดยสาร มีใบอนุญาตขับรถประเภท 2 ขึ้นไป (ท2) สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีประวัติอาชญากรรม แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ จะทำอย่างไรให้คงมาตรฐานที่ดีเอาไว้ให้ได้

สุดท้ายคงต้องย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นรถประเภทไหนและมีสมรรถนะดีแค่ไหน แต่สิ่งที่เหนือกว่ารถคือ “คนขับ” นี่แหละครับ โดยเฉพาะงานที่เป็นบริการขนส่งมวลชนสาธารณะ หน่วยงานควรต้องรู้และเข้าใจตัวพนักงานมากที่สุด ว่าเขาพร้อมแค่ไหนในการรับผิดชอบทั้งรถและชีวิตคนบนรถ รวมไปถึงชีวิตคนอื่น ๆ ที่อยู่โดยรอบด้วย

เคสนี้ยังโชคดีอยู่หน่อยที่ไม่มีความสูญเสียร้ายแรงถึงชีวิต แต่หากไม่มีการควบคุมมาตรฐานของทั้งรถและคนขับต่อไปเรื่อย ๆ รถเมล์ไฟฟ้าก็อาจจะมีดีแค่ความใหม่ แต่การบริการอาจถูกตั้งคำถาม ที่สำคัญหากเกิดเหตุครั้งต่อไปอาจจะไม่โชคดีเหมือนครั้งนี้ก็ได้ครับ