บันไดเลื่อน/ทางเลื่อน จุดไหนอันตราย และใช้งานอย่างไรให้ปลอดภัย

เรื่องของความปลอดภัยในการใช้บันไดเลื่อน (และทางเลื่อน) ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากมีข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่สนามบินดอนเมืองเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนรู้สึกกังวลใจเวลาที่ต้องใช้บันไดเลื่อน ที่มักมีให้บริการอยู่แทบจะทุกที่ และนึกสงสัยมีจุดไหนของบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อนบ้างที่เป็นจุดเสี่ยงอันตราย ควรจะต้องหลีกเลี่ยงหรือใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้น ซึ่งการที่เรารู้ว่าจุดไหนของบันไดเลื่อนเป็นจุดเปราะบางที่ทำให้เสี่ยงอันตรายมากที่สุดถือเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อตัวผู้ใช้งานเอง อย่างน้อย ๆ ก็สามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทได้ นอกจากนี้ยังควรรู้วิธีการใช้งานบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอย่างปลอดภัย

กลไกการทำงานของบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน

เว็บไซต์ ช่างมันส์ มีข้อมูลที่ให้ความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบและระบบการทำงานของบันไดเลื่อนและทางเลื่อน โดยทั้งบันไดเลื่อนและทางเลื่อนมีองค์ประกอบและกลไกการทำงานคล้าย ๆ กัน คือ

1. ห้องเครื่อง จะอยู่ด้านปลายทั้งสองด้านของบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน ในส่วนนี้จะประกอบด้วย “เฟือง” ที่ขับสายพานให้หมุนไป และมีมอเตอร์ที่ทำให้เฟืองเคลื่อนที่ ซึ่งจะอยู่ทางด้านบนของบันไดเลื่อน โดยส่วนของมอเตอร์และเฟืองนั้นจะอยู่ใต้แผ่นเหล็กที่สุดทางทั้งสองด้าน ส่วนนี้จะรับน้ำหนักได้มาก อาจมากถึง 500 กิโลกรัมต่อตารางเมตร แผ่นเหล็กนี้จะวางพาดอยู่บนโครงสร้างอีกที คล้าย ๆ กับฝาปิดท่อระบายน้ำ และต้องไขนอตปิดให้เรียบร้อย

2. โครงสร้างของบันไดเลื่อน จะเป็นตัวรับน้ำหนักของขั้นบันไดและตัวบันไดเลื่อน รวมถึงน้ำหนักของผู้โดยสารที่ใช้บันไดเลื่อน

3. รางเลื่อน ชุดโซ่ และขั้นบันได ส่วนนี้จะเป็นเหมือนขั้นบันได เวลาที่มันอยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนที่ ผู้ใช้งานสามารถเดินบนขั้นบันไดได้ แต่จะต่างจากขั้นบันไดปกติตรงที่จะมีฟันในแต่ละขั้น ซึ่งจะทำให้ขั้นบันไดเหล่านี้เคลื่อนอยู่ในทางของมัน

4. ที่จับหรือราวจับ มีไว้เพื่อความสะดวกในการทรงตัวของผู้โดยสาร โดยส่วนที่จับจะเคลื่อนไปพร้อม ๆ กับส่วนของบันได เนื่องจากทุกชิ้นส่วนอยู่บนชุดขับเคลื่อนเดียวกัน

จุดอันตรายของบันไดเลื่อน อยู่ตรงไหน

เฟซบุ๊กของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า จุดเสี่ยงของการใช้งานบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน คือบริเวณจุดสิ้นสุดทางเลื่อน (รอยต่อระหว่างตัวทางเลื่อนกับแผ่นปิดห้องเครื่อง) ซึ่งจะมีลักษณะเป็นซี่หวี (ทุกซี่ต้องไม่แตกหัก) ที่ถ้าหากไม่มีการตรวจเช็กเกี่ยวกับความพร้อมในการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ก็อาจสามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพราะบริเวณจุดสิ้นสุดทางเลื่อนเป็นจุดส่วนโค้งที่หากพบว่าชำรุด อาจจะสามารถดึงวัตถุหรือสิ่งของต่าง ๆ เข้าไป ด้วยกลไกของระบบทางเลื่อนที่เป็นกลไกเครื่องกลแบบหมุนวนไปมา และเป็นจุดที่บันไดเลื่อนกำลังหมุนพลิกด้านพอดี

อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลยังมีคำแนะนำอีกว่า หากต้องการความปลอดภัย ต้องพยายามก้าวผ่านบริเวณจุดสิ้นสุดทางเลื่อนไปให้ได้ ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้เกือบถึง 100 เปอร์เซ็นต์ (อุบัติเหตุจากความประมาท) และถ้าหากเกิดอุบัติเหตุจริง ๆ บริเวณจุดสิ้นสุดทางเลื่อนก็จะมีปุ่มสีแดงเอาไว้ ใช้กดเพื่อให้ทางเลื่อนหยุดทำงานอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ทางเลื่อนหลายคนไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีปุ่มนี้ ส่วนชุดอุปกรณ์บันไดเลื่อนเองก็ยังมีเซ็นเซอร์ที่จะทำงานอัตโนมัติเพื่อให้บันไดเลื่อนหยุดด้วย และระหว่างการใช้งานบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน ควรหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ เพื่อให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการใช้บันไดหรือทางเลื่อนให้มากที่สุด

นอกจากนี้ บริเวณต้นและปลายบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน ควรจัดให้เป็นบริเวณ Safe Zone ต้องไม่มีสิ่งของกีดขวาง และห้ามจัดกิจกรรมใด ๆ บริเวณทางขึ้น-ลงบันไดเลื่อนโดยเด็ดขาด

อุบัติเหตุที่มักเกิดกับบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน

อุบัติเหตุ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิด เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ไม่มีใครตั้งใจ และส่วนมากมักจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจด้วย อุบัติเหตุจึงเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ถึงอย่างนั้น อุบัติเหตุก็มีสาเหตุและส่งผลกระทบที่สามารถชี้วัดได้ การรู้ถึงลักษณะของอุบัติเหตุและสาเหตุของอุบัติเหตุ จะช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท และป้องกันอุบัติเหตุได้ โดยอุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นกับบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน สามารถเกิดขึ้นได้จาก

1. เกิดจากความประมาทหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตัวผู้ใช้งานเอง ส่วนตัวบันไดเลื่อนได้มาตรฐานความปลอดภัยและได้รับการบำรุงรักษาสม่ำเสมอ ไม่มีการชำรุด ผู้ใช้งานก็ควรระมัดระวังความปลอดภัยของตัวเอง ไม่ทำพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายใด ๆ เช่น การไม่จับราวบันไดเลื่อนแล้วก้าวพลาดสะดุดล้ม การปล่อยให้เด็กใช้งานบันไดเลื่อนตามลำพัง การวิ่งเล่นบนบันไดเลื่อน การกระโดดโลดเต้น ยื่นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกแนวบันไดเลื่อน รวมไปถึงการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างใช้งานบันไดเลื่อน เนื่องจากสมาธิและโฟกัสของสายตาไปรวมอยู่ที่โทรศัพท์ ทำให้เราไม่ได้สังเกตขาและเท้าที่กำลังใช้งานบันไดเลื่อนเท่าที่ควร

2. เกิดจากตำแหน่งการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน กรณีบันไดเลื่อนกับกำแพงอยู่ชิดกันมากเกินไป ดังที่เคยเกิดอุบัติเหตุบันไดเลื่อนหนีบศีรษะเด็กกับซอกกำแพงที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง โดยมาตรฐานการติดตั้งบันไดเลื่อนบอกไว้ว่าการติดตั้งบันไดเลื่อนห้ามชิดกันเกิน 50 เซนติเมตร ถ้าชิดกันมากกว่านั้นต้องมีการป้องกัน และเตือน หรือมีแนวป้องกัน

3. เกิดจากสภาพบันไดเลื่อนที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยและขาดการบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งอาจจะพบได้ไม่บ่อยนัก เพราะส่วนใหญ่ บันไดเลื่อนและทางเลื่อนตามสถานที่ต่าง ๆ จะถูกดูแลเป็นอย่างดี มีการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น บันไดเลื่อนหรือทางเลื่อนไม่ได้อันตรายทุกที่ ส่วนผู้ใช้บันไดเลื่อนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยของตัวเอง ไม่ประมาท และมีสติตลอดเวลา เรียนรู้จากเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ

วิธีการใช้งานบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อนให้ปลอดภัย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ให้ข้อมูลเรื่องการใช้บันไดและทางเลื่อนอย่างปลอดภัย ดังนี้

  • ไม่ควรหยอกล้อกันหรือใช้โทรศัพท์มือถือขณะใช้งาน เนื่องจากการใช้งานบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน ควรต้องมีสติตลอดเวลา ควรโฟกัสอยู่กับการใช้งานบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อนตลอดเวลา โดยเฉพาะบริเวณต้นและปลายทางเลื่อน อย่าไว้ใจเครื่องจักรที่ทำงานเองโดยอัตโนมัติ
  • การก้าวขึ้น-ลงบันไดเลื่อน ต้องมองจังหวะการเคลื่อนตัวของบันไดเลื่อน พร้อมกับก้าวเท้าขึ้นบันไดเลื่อนให้พอดีกับขั้นบันได
  • จังหวะที่ก้าวขึ้น-ลงบันไดเลื่อน ไม่ควรวางบนเท้าบนเส้นสีเหลือง เพราะเป็นตำแหน่งที่ขั้นบันไดจะแยกออกจากกัน อาจทำให้เสียการทรงตัวและหกล้มได้
  • ตรวจสอบความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกาย หากสวมเครื่องแต่งกายที่ยาวระพื้น หรือชายผ้าที่พลิ้วไม่กระชับแนบไปกับร่างกาย ต้องยกชายผ้าให้พ้นระดับพื้น รวมถึงผูกและเก็บเชือกรองเท้าให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันมิให้ชายผ้าและปลายเชือกเข้าไปติดในช่องหรือซี่ร่องบันไดเลื่อน หรือแม้แต่เหยียบสะดุดเอง จะทำให้ได้รับอันตรายได้
  • จัดเก็บไม้ค้ำยัน ไม้เท้า หรืออุปกรณ์ช่วยเดินอื่น ๆ ให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม หากมีรถเข็นควรใช้ลิฟต์หรือบันไดเลื่อนสำหรับรถเข็น เพราะล้อรถเข็นอาจลื่นไถลหรือสะดุดกับพื้นต่างระดับของบันไดเลื่อน ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงจัดล้อของรถเข็นให้เข้าที่ เพื่อป้องกันรถเข็นเคลื่อนตัวไปชนผู้อื่น
  • การเตรียมพร้อมที่จะก้าวเท้าออกจากบันไดเลื่อน เมื่อถึงปลายบันไดเลื่อน ควรก้าวเท้าเดินออกไปทันที โดยก้าวข้ามเส้นซี่หวีบันไดเส้นสีเหลือง เพิ่มความระมัดระวังขณะก้าวเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้คนด้านหลังมาชนและเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้
  • ขณะกำลังก้าวขึ้น-ลงบันไดเลือน และยืนบนบันไดเลื่อน ควรจับราวบันไดเลื่อนให้มั่น เพื่อไม่ให้เสียการทรงตัวและควรยืนชิดด้านขวา (เท้าต้องไม่เหยียบขอบสีเหลือง) เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับผู้ที่จะเดินขึ้น-ลง บันไดเลื่อน
  • ไม่วางสิ่งของบนบันไดเลื่อน เพราะเศษวัสดุอาจเข้าไปเกี่ยวในซี่ร่องบันไดเลื่อน หากถือสิ่งของทั้งสองมือ ควรเปลี่ยนมารวมไว้ในมือเดียว เพื่อให้สามารถจับราวบันไดเลื่อนได้สะดวก นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย อย่างการยืนพิงกับขอบด้านข้างของบันไดเลื่อน การนั่งราวจับของบันไดเลื่อน การนั่งบนบันไดเลื่อน การยื่นศีรษะหรือลำตัวออกนอกราวจับของบันไดเลื่อน ยื่นเท้าชิดขอบข้างของบันไดเลื่อน (เส้นเหลือง) เพราะอาจเกิดอันตรายได้

ข้อควรระวังอื่น ๆ ในการใช้บันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน

  • ไม่ใช้บันไดเลื่อนในการขนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก เพราะบันไดเลื่อนอาจรับน้ำหนักไม่ไหว อาจเกิดอันตรายได้
  • ไม่ขึ้นหรือลงสวนทางการเคลื่อนตัวของบันไดเลื่อน เช่น พยายามเดินขึ้นบันไดที่เลื่อนลง หรือพยายามเดินลงบันไดที่เลื่อนขึ้น เพราะอาจสะดุดล้ม
  • กรณีที่บันไดเลื่อนไม่ทำงาน ควรงดใช้บันไดเลื่อน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ควรสวมรองเท้าหุ้มส้นที่มีพื้นแข็งเสมอกัน เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม เพิ่มความระมัดระวังในการสวมรองเท้าส้นสูงขณะขึ้น-ลงบันไดเลื่อน และหลีกเลี่ยงรองเท้ายาง เนื่องจากเปลี่ยนรูปได้ง่าย เราอาจถอดรองเท้าออกไม่ทันหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด
  • เมื่อใกล้ถึงปลายทางบันไดเลื่อน ให้รีบก้าวเท้าข้ามบันไดเลื่อนขั้นสุดท้าย (อย่ารอให้เท้าชนขอบซี่หวีของบันไดหรือรอยต่อทางเลื่อน) เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกบันไดเลื่อนหนีบ กรณีรองเท้าเข้าไปติดในซี่ร่องบันไดเลื่อน ให้รีบถอดรองเท้าออกทันที

ข้อมูลจาก กรมประชาสัมพันธ์