บทวิเคราะห์หลายชิ้นจากสื่อต่างประเทศ ต่างลงความเห็นว่าผู้นำโลกยุคใหม่จะเป็นผู้นำโลกที่อายุน้อยหรืออยู่ในช่วงของวัยกลางคน ดังเช่น จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาที่ปัจจุบันอายุ 51 ปี เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสวัย 45 ปี หรือนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ ซันน่า มาริน ที่ปัจจุบันมีอายุเพียง 37 ปี จะเห็นว่าผู้นำโลกโดยเฉพาะในแถบยุโรปและสแกนดิเนเวียเริ่มมีอายุน้อยลง ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าสังคมยุคปัจจุบันผู้คนมีประสบการณ์การทำงานและประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว
ผู้นำอายุน้อยส่วนใหญ่เติบโตมาในศตวรรษที่ 21 หรือคาบเกี่ยวระหว่างศตรวรรษที่ 20 และ 21 พวกเขาได้อยู่ในโลกที่เปลี่ยนผ่านจากสังคมอุตสาหกรรมและยุคแอนาล็อกจนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งทำให้การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้นำยุคใหม่นั้นมีความเข้าใจเรื่องความเปลี่ยนแปลง และสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว
ผลการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ที่ปรากฏออกมาน่าจะเป็นเสียงสะท้อนที่ทำให้เห็นว่าสังคมต้องการความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวบุคคลที่เป็นผู้นำ หากเสียงสะท้อนจากผลเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่าถ้าไม่เปลี่ยนสิ่งที่ดำรงอยู่ก็จะดำรงอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 4 ปี ดังนั้น การตัดสินใจของผู้คนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงก็จะออกมาอย่างที่เห็น แต่ในทุกความเปลี่ยนแปลงนั้นมีความเสี่ยง และบทความชิ้นนี้จะพาคุณผู้อ่านไปดูกันว่าเสียงสะท้อนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในอดีตนั้น ทำให้เกิดสถาบันทางการเมืองแบบไหนในปัจจุบันขึ้นมาบ้าง
ความเปลี่ยนแปลง พ.ศ.2531 จากประชาธิปไตยครึ่งใบสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ
ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งปี 2531 เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีรักษาการผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 3 สมัยปฏิเสธคำเชิญเป็นนายกรัฐมนตรีจากแกนนำพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งรัฐบาลโดยบอกว่า “ผมพอแล้ว” และทำให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จากพรรคชาติไทย ขึ้นดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะผู้นำประเทศ และนับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกนับจากยุคของพล.อ.เปรม ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและเป็นสัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งแรกของการเมืองยุคใหม่
ฮันนีมูนพีเรียดของ “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในฐานะนายกรัฐมนตรีนั้นเต็มไปด้วยสีสัน หากแต่การจัดตั้งรัฐบาลที่เต็มไปด้วยการแบ่งผลประโยชน์และเอื้อประโยชน์แก่นายทุนบางกลุ่ม จนทำให้ได้รับฉายา “บุฟเฟต์คาบิเนต” จนทำให้เกิดการรัฐประหารอีกครั้ง และมีเหตุให้บานปลายไปจนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535
พรรคพลังธรรม สะท้อนชัดว่าตัวบุคคลไม่ทำให้พรรคการเมืองกลายเป็นสถาบัน
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในเวลานั้นเสียงไม่เอาทหารและความรุนแรงดังไปทั่วไปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานคร พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่แจ้งเกิดในฐานะผู้ว่ากทม. กลายเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม และความร้อนแรงของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2535 ได้นำพาให้พรรคพลังธรรมที่เป็นพรรคที่เพิ่งเกิดได้ไม่นาน กวาด ส.ส. 32 ที่นั่งในกรุงเทพฯ จาก 35 เขต
ซึ่งอีกสามเขตที่เหลือนั้นได้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช, ดร.ลลิตา ฤกษ์สำราญ จากพรรคประชากรไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงสมัครสมัยแรกและเป็น ส.ส. จากประชาธิปัตย์เพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับเลือกในกรุงเทพมหานคร และผลการเลือกตั้งดังกล่าวก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่าคนในกรุงเทพฯ ต้องการความเปลี่ยนแปลง
ความร้อนแรงของพรรคพลังธรรม นั้นขึ้นอยู่กับพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เมื่อถึงเวลาที่พล.ต.จำลอง บอกลาทุกตำแหน่งทาการเมือง พรรคพลังธรรมก็เริ่มลดความร้อนแรงลงเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุด อดีต ส.ส. ที่เคยอยู่กับพรรคก็ออกไปร่วมงานกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย
ปี 2544 เมื่อคนต่างจังหวัดไม่ต้องการให้คนกรุงฯ กำหนดอนาคตประเทศอีกต่อไป
หากจะเรียกพรรคพลังธรรมในอดีตว่าเป็นพรรคของคนเมืองหลวงก็คงไม่ผิดไปนัก ขณะเดียวกันการเริ่มต้นของพรรคไทยรักไทย (เพื่อไทยในปัจจุบัน) ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าคนต่างจังหวัดต้องการพรรคที่เป็นปากเสียงให้กับพวกเขาเช่นกัน และความต้องการนั้นสะท้อนออกมาในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยชนะแบบถล่มทลายทั่วประเทศ
นโยบายของพรรคไทยรักไทยในอดีตนั้น เน้นไปที่ประชานิยมและกลุ่มรากหญ้า ทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด ทำให้ไทยรักไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน ผู้คนเริ่มเบื่อนักการเมืองหน้าเก่าและการทำงานการเมืองแบบเดิม ๆ ที่ไม่ได้นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคม หากแต่เอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้องและนายทุนของตนเอง
การมีอยู่ของพรรคไทยรักไทย เรียกได้ว่าเป็นการประสานประโยชน์ของคนทุกกลุ่มในสังคม จนทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่จนครบวาระ 4 ปี และในการเลือกตั้งปี 2548 ไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เขาไม่ได้อยู่จนครบวาระ 4 ปี หากแต่ถูกรัฐประหารเสียก่อน และภายหลังจากนั้นการเมืองไทยก็เข้าสู่เส้นทางของการต่อสู้บนท้องถนนรัฐประหารอีกครั้ง จนกระทั่งการเลือกตั้งในปี 2562 ได้ทำให้เห็นว่าการเมืองไทยกำลังเข้าสู่จุดเทิร์นนิ่งพอยต์อีกครั้ง
2562-2566 เสียงสะท้อนการเลือกตั้งที่ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง
การเลือกตั้งในปี 2562 นับเป็นการแจ้งเกิดที่สวยงามของพรรคอนาคตใหม่ (ปัจจุบันคือก้าวไกล) หากแต่อุบัติเหตุทางการเมืองจนทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์และถูกยุบพรรค แต่ทางพรรคก็แก้ไขด้วยการตั้งพรรคก้าวไกล พร้อมกับได้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งกลายเป็นว่าเป็นทางเลือกที่ทำให้พรรคก้าวไกลไปได้ไกลกว่าอนาคตใหม่ เพราะพิธา ในฐานะ ส.ส.ได้แสดงวิสัยทัศน์และเสน่ห์ในการพูดในที่สาธารณะผ่านการอภิปรายและ การให้สัมภาษณ์สื่อหลายครั้ง
และระยะเวลา 4 ปีในฐานะส.ส. พิธาได้สร้างฐานผู้ให้ความสนับสนุนไว้อย่างมากมาย ประกอบกับยุคสมัยที่ผู้คนต้องการผู้นำที่เป็นคนรุ่นใหม่ เข้าถึงได้ง่าย และสื่อสารในภาษาเดียวกัน คุณสมบัติดังกล่าวมีอยู่เต็มเปี่ยมในตัวพิธา แม้จะมีข่าวในทางด้านลบออกมาบ้าง แต่ดูเหมือนความนิยมของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผนวกกับความชัดเจนในนโยบายของพรรคก้าวไกล และการสื่อสารในยุคดิจิทัลที่ใช้สื่อออนไลน์ได้ดีกว่าทุกพรรค
ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากแต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้กลับน่าสนใจมากกว่าว่าพรรคก้าวไกลและ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะไปได้ไกลขนาดไหน เพราะเอาเข้าจริง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่เห็นอยู่ในเวลานี้หากไม่ติดแนวคิดในบางประการของพรรคฯ ชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็เข้าคุณสมบัติของผู้นำในโลกยุคดิจิทัลเอจมากกว่าแคนดิเดตคนอื่น