ม.มหิดลคิดค้นวัคซีนป้องกันไข้ซิกาสายพันธุ์เอเชีย


“ไข้ซิกา” (Zika Fever) เป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อจากยุงลายที่เคยทำให้ทุกคนไม่เคยลืมจากเหตุการณ์ระบาดครั้งแรกของ “ไข้ซิกาสายพันธุ์เอเชีย” ในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ. 2559 แม้จะเป็นโรคติดเชื้อที่ยังไม่มียาป้องกัน แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเห็นคนไทยผลิตวัคซีนใช้ได้เอง ทำให้เพียง 6 ปีต่อมาได้มีการคิดค้นและพัฒนา “วัคซีนป้องกันไข้ซิกา” ฝีมือคนไทยสำเร็จเป็นครั้งแรก โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นที่พึ่งทางการแพทย์และสุขภาพของคนไทยเสมอมา

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจากยุงลายที่มีเชื้อไวรัสไข้ซิกา อาจมีอาการไข้สูง เยื่อบุตาอักเสบผื่นขึ้นตามตัว อ่อนเพลีย หากเป็นสตรีมีครรภ์อาจส่งผลให้คลอดบุตรออกมาผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก สมองพิการ หรือมีการพัฒนาไม่สมบูรณ์

ปัจจุบันไข้ซิกาที่พบในโลกนอกจากสายพันธุ์เอเชีย ซึ่งมักพบในประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังมีที่มักพบในประเทศในแถบทวีปแอฟริกา ด้วยประสบการณ์เชี่ยวชาญด้านการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนกว่า 4 ทศวรรษ ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ได้ต่อยอดขยายผลจนสามารถคิดค้นและพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้ซิกา ที่สามารถป้องกันได้ทั้งสายพันธุ์เอเชีย และสายพันธุ์แอฟริกา ในหลอดทดลองสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

ซึ่งในเชิงนโยบายต่อไปอาจผลักดันให้เป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับประชาชนฉีดป้องกันตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ตลอดจนฉีดในเด็กหญิงวัย 10-12 ปี โดยอาจแบ่งเป็น 2 เข็ม เข็มแรกฉีดเพื่อสร้างภูมิต้านทาน และเข็มที่ 2 ฉีดเพื่อกระตุ้นในอีก 4 สัปดาห์ต่อมา

โดยจะเป็นการลงทุนทางสุขภาพที่คุ้มค่า เนื่องจากประสิทธิภาพของ “วัคซีนป้องกันไข้ซิกาสายพันธุ์เอเชีย” ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล คิดค้นและพัฒนาขึ้นนี้ หากฉีดครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย ก็อาจมีภูมิต้านทานโรคไปได้นานหลายสิบปี ซึ่งไวรัสไข้ซิกานอกจากติดต่อจากแม่สู่ลูกแล้ว ยังติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ วัคซีนป้องกันไข้ซิกาจึงจำเป็นสำหรับทุกคนทั้งหญิงและชาย

ดร.ณรงค์ นิทัศน์พัฒนา นักเทคนิคการแพทย์ (ผู้เชี่ยวชาญ) ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมคิดค้นและพัฒนา “วัคซีนป้องกันไข้ซิกาสายพันธุ์เอเชีย” กล่าวเพิ่มเติมให้ความเชื่อมั่นถึงวัคซีนที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นดังกล่าวว่า ได้ผ่านการทดสอบทางห้องปฏิบัติการในสัตว์ทดลองแล้วพบว่ามีความปลอดภัยสูง เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อตายที่ผลิตภายใต้หลักการขององค์การอนามัยโลก โดยเป็นการนำเชื้อไวรัสมาทำให้ตาย แล้วผ่านกระบวนการทำให้ปลอดภัยจากสิ่งเจือปนไม่พึงประสงค์ ก่อนฉีดเข้าไปในสัตว์ทดลอง

ในอนาคตอาจมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นอีกมากมาย การพัฒนาวัคซีนด้วยเทคโนโลยีเดียวกันนี้ให้สามารถใช้ป้องกันได้หลายโรคในเข็มเดียวจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีประสิทธิภาพ ซึ่งในส่วนของไข้ซิกา เกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) ดังนั้น ในอนาคตอาจพัฒนาให้สามารถใช้ป้องกันไวรัสหลายชนิดในเข็มเดียวกัน นั่นคือป้องกันร่วมกับโรคที่เกิดจากไวรัสในตระกูลเดียวกันได้ เช่น ไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis: JE) และไวรัสเวสท์ไนล์ (West Nile virus: WNV)

ซึ่งการผลิตวัคซีนด้วยโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practices) จนสามารถใช้ได้อย่างแพร่หลาย อาจต้องลงทุนงบประมาณเริ่มต้นหลายร้อยล้านบาท โดยก่อนอื่นจะต้องมีการผลิตในโรงงานกึ่งอุตสาหกรรม แล้วทดสอบความปลอดภัยระยะที่ 1 ในกลุ่มเล็ก ก่อนขยายสู่ระยะที่ 2 ในกลุ่มขนาดกลาง

เมื่อพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน GMP โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี จากนั้นจะเข้าสู่การทดสอบระยะที่ 3 ในกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ต่อไป โดยหากพบว่าวัคซีนสามารถป้องกันโรคไข้ซิกาได้ดี ก็จะถึงเวลาที่จะนำวัคซีนไปฉีดให้แก่ประชาชนทั่วไป

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ [email protected]