เปิดไทม์ไลน์หลังเลือกตั้ง 14 พ.ค. นายกฯ คนใหม่ไม่มาง่าย ๆ

ศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 27 ของประเทศไทยในปี 2566 เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเป็นที่เรียบร้อย จากนี้เหลืออีกเพียง 4 วัน คนไทยประมาณ 52 ล้านคนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าอนาคตต่อจากนี้ เสียงส่วนใหญ่ของคนไทยต้องการผู้นำและนโยบายการบริหารประเทศแบบใด

หากทั้งนี้ ผลการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ยังไม่สามารถบอกได้ว่าคนไทยจะได้นายกรัฐมนตรีชื่ออะไร มีพรรคการเมืองไหนเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หากผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการต่อรองของพรรคการเมือง เพราะถึงแม้ศึกการหาเสียงจะจบลง แต่สงครามทางการเมืองยังคงต้องดำเนินต่อไป

และในซีรีส์ศึกเลือกตั้ง 2566 ที่ทีมงาน Tonkit360 จัดทำมาตลอดเดือนเมษายนจนถึงพฤษภาคม Episode นี้จะมาเปิดไทม์ไลน์ให้คุณผู้อ่านเห็นว่าหลังการนับคะแนนจบลง สงครามทางการเมืองยังคงดำเนินไปอย่างไร และคนไทยทั้งประเทศต้องรอกันนานแค่ไหน กว่าจะได้รู้ว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยเป็นใคร

ขั้นตอนที่ 1 : เส้นทางสู่รัฐสภา ต้องให้ กกต. รับรองผลการเลือกตั้งก่อน

เมื่อการลงคะแนนเลือกตั้งจบลง ก็ใช่ว่าชัยชนะที่ผู้สมัครของแต่ละพรรคแต่ละเขตกำอยู่ในมือจะไม่หลุดลอยไป เพราะหลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ผู้สมัครฯ ที่ได้รับชัยชนะจากการลงคะแนนยังไม่ได้เป็น ส.ส. อย่างเป็นทางการ เพราะ กกต. หรือคณะกรรมการเลือกตั้ง ต้องทำการตรวจสอบข้อร้องเรียนและตรวจสอบวิธีการหาเสียงเลือกตั้งว่าผิดข้อกำหนดที่ตั้งเอาไว้หรือไม่

โดย กกต. จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ โดยอยู่ในกรอบระยะเวลา 60 วัน ซึ่งนั่นเท่ากับว่าสองเดือนหลังการเลือกตั้ง ในระยะเวลาดังกล่าวเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และในอดีตก็เคยมีตัวอย่างมาให้เห็นแล้ว กับเรื่องคุณสมบัติที่ ส.ส. ที่แม้จะชนะการเลือกตั้งแต่ก็ไม่สามารถเดินเข้าสู่สภาฯ ได้ (มีการประมาณการเอาไว้ว่า กกต. จะรับรองผลการเลือกตั้งได้ประมาณเดือนกรกฎาคม)

ขั้นตอนที่ 2 : สู่รัฐสภาฯ เลือกประธานสภาฯ

หลังจาก กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง และประกาศในพระราชกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ เปิดประชุมรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 121 ซึ่งเป็นการเรียกประชุมสมาชิกรัฐสภามาประชุมเป็นครั้งแรก

ซึ่งการประชุมรัฐสภาครั้งแรกนี้จะเกิดขึ้นภายใน 50 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. โดยในการประชุม รัฐสภาครั้งแรก กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแต่ละสภา มีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานสภาคนหนึ่งหรือสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ตามมติของสภา (ทั้งนี้มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าการประชุมสภาฯ นัดแรกจะมีขึ้นประมาณต้นเดือนกันยายน)

โดยในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นกรรมการบริหารหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองขณะเดียวกันมิได้

ขั้นตอนที่ 3 : ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

ในการเปิดประชุมรัฐสภาหลังจากได้ประธานและรองประธานรัฐสภาแล้ว จะมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีโดยรัฐธรรมนูญปี 2560 นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองจำนวนไม่เกิน 3 รายชื่อ ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่า ‘บัญชีว่าที่นายกฯ’ (ตามมาตรา 88) และต้องเป็นบุคคลซึ่งในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมี ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนฯ หรือ 50 คน ร่วมกันเสนอชื่อ อีกทั้งผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับเสียงไม่น้อยกว่า ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของสภาผู้แทนฯ เท่าที่มีอยู่อีกด้วย

ทั้งนี้ใน ‘บทเฉพาะกาล’ ของรัฐธรรมนูญมาตรา 272 มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในระบบการเลือกนายกฯ ช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ นั่นก็คือให้ ส.ว. แต่งตั้งฯ มีส่วนในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ ด้วย จากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา

เมื่อมีการลงมติและได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประธานรัฐสภาจะเป็นผู้นำชื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นจะมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งลงมา

ขั้นตอนที่ 4 : เส้นทางสู่ทำเนียบ กับนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

หลังจาก ส.ส. และ ส.ว. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้เรียบร้อยแล้ว (ประมาณเดือนกันยายน) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะพิจารณาเลือกสรรผู้ดำรงแหน่งรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ซึ่งจะเป็นการจัดสรรจากพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของแต่ละพรรคและต้องใช้เวลา

หลังจากได้รายชื่อคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย นายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อรัฐมนตรีขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าเพื่อทำการถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่

ขั้นตอนที่ 5 : เดินหน้าบริหารประเทศ และคณะรัฐมนตรีรักษาการพ้นวาระ

หลังจากดำเนินการตามขั้นตอนตั้งแต่ 1-4 จากท้องถนนสู่รัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล คณะรัฐมนตรีชุดใหม่และนายกรัฐมนตรีจะได้เริ่มต้นการทำงาน ถึงเวลานั้นตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ที่ปรึกษารัฐมนตรี โฆษกประจำตัวนายกฯ โฆษกประจำตัวรัฐมนตรี ไปจนถึงคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ก็จะปรากฏให้เห็นตามมา ขณะที่คณะรัฐมนตรีรักษาการ รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีคนเก่าก็จะพ้นวาระไป

โดยขั้นตอนนี้น่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือนกันยายนต่อเนื่องต้นเดือนตุลาคม ถึงเวลานั้นคนไทยทั้งประเทศก็จะได้เห็นการทำงานของนายกฯ และทีมรัฐมนตรีชุดใหม่ ส่วนจะถูกใจหรือมีเซอร์ไพรส์อะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 คงได้เห็นกัน