ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันเลือกตั้งใหม่ในวันอาทิตย์ ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งกติกาและวิธีการในการเลือกตั้งหนนี้ มีความเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2562 อย่างไรบ้าง ทีมงาน Tonkit360 สรุปมาฝากกัน
กาบัตร 2 ใบ ระวัง! คนกับพรรคอาจคนละเบอร์
จากกติกาการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถกากบาททั้งพรรคและคนภายในบัตรใบเดียว มารอบนี้จะมีบัตรให้กา 2 ใบ โดยใบแรกเลือกคนที่รัก หรือส.ส. เขต และใบที่สองเลือกพรรคที่ชอบ ซึ่งก็คือส.ส. แบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์นั่นเอง อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือเบอร์ของพรรค กับส.ส. เขตของพรรคนั้น ๆ อาจจะไม่เหมือนกัน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจึงต้องระมัดระวัง และดูรายชื่อและเบอร์ของผู้สมัครที่เราต้องการจะเลือกให้ดี
ส.ส. เขต 400 คน จาก 400 เขต
จากการเลือกตั้งปี 2562 ที่มีส.ส. เขต 350 คน และส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน รวมเป็น 500 คน มาในปีนี้ มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนใหม่ โดยการเพิ่มจำนวนส.ส. เขต เป็น 400 คน จากทั้งหมด 400 เขตทั่วประเทศ ซึ่งกติกาในการเลือกส.ส. เขตนั้น ถือว่าเข้าใจง่ายไม่มีอะไรซับซ้อน คือ ใครได้คะแนนมากที่สุดในเขตนั้น ๆ ถือว่าเป็นผู้ชนะ นับเป็น 1 ที่นั่งของส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรทันที
ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน คำนวณอย่างไร
จากสัดส่วนส.ส. เขตที่เพิ่มขึ้นเป็น 400 คน ทำให้จำนวนส.ส. บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ลดลงจาก 150 คน เป็น 100 คน ซึ่งการคิดคำนวณว่าพรรคที่เรากากบาทให้ไปจะได้ที่นั่งในสภาหรือไม่ จะคิดในระบบที่เรียกว่า “หาร 100” ตามจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คนทั่วประเทศ โดยหลังการนับคะแนนเสร็จสิ้น จะมีการคำนวณดังนี้
- นำจำนวนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์เป็นตัวตั้ง หารด้วย 100 (จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน) จะได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน
- จากนั้นนำจำนวนคะแนนของพรรคนั้น ๆ ที่ได้รับเลือก หารคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน จะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคนั้น ๆ
การนับคะแนนเลือกตั้ง 66
ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่าเมื่อถึงเวลา 17.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะประกาศปิดการออกเสียงลงคะแนน เว้นแต่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงมาปรากฏตัวเพื่อใช้สิทธิ์ก่อน 17.00 น. จากนั้นจะเปิดหีบนับคะแนนต่อหน้าประชาชนที่อยู่ ณ หน่วยเลือกตั้ง และประกาศผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ณ หน่วยเลือกตั้งนั้น ๆ ต่อไป
เลือกตั้งล่วงหน้า ต้องลงทะเบียนก่อน!
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตและนอกเขตเลือกตั้ง ซึ่งผู้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิ์ล่วงหน้า จำเป็นต้องลงทะเบียนเพื่อยืนยันการใช้สิทธิ์ล่วงหน้าก่อน โดยเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา ไปจนถึง 9 เมษายน 2566 นี้ ซึ่งการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าจะแบ่งเป็น 2 กรณีดังนี้
- เลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง สามารถยื่นคำขอด้วยตัวเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นยื่นแทน ต่อนายทะเบียนอําเภอ หรือยื่นคําขอทางไปรษณีย์ จ่าหน้าซองถึงนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น
- เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง สามารถยื่นคำขอด้วยตัวเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นยื่นแทน ต่อนายทะเบียนอําเภอ หรือยื่นคําขอทางไปรษณีย์ จ่าหน้าซองถึงนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น รวมถึงสามารถยื่นคำขอผ่านแอปพลิเคชัน Smart Vote ได้
โหลดเลย! แอปฯ ข้อมูลเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งรอบนี้ ประชาชนยังสามารถที่จะตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชัน “Smart Vote” ที่จะมีข้อมูลซึ่งสามารถตรวจสอบหน่วยเลือกตั้ง รายชื่อผู้สมัคร นโยบายพรรคการเมือง และการตอบคำถามทั้งหมดของกกต. นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชัน “ตาสับปะรด” ซึ่งเป็นช่องทางให้ประชาชนได้มีตรวจสอบการเลือกตั้งและร้องเรียนเมื่อพบเห็นการทุจริต ขณะเดียวกันยังมีช่องทางเว็บไซต์ www.รู้ก่อนเลือก.com และสายด่วนกกต. 1444 อีกด้วย
ข้อมูลจาก
www.ect.go.th
www.รู้ก่อนเลือก.com