ถ้าใครเป็นแฟนบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ เชื่อว่าเกินครึ่งหนึ่งต้องรู้จักรายการพรีวิวฟุตบอลที่ได้ชื่อว่าเป็น Flagship รายการกีฬาของ BBC ที่ออกอากาศมาตั้งแต่ปี 2507 อย่าง Match of the Day ซึ่งรายการนี้เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบให้รายการพรีวิวฟุตบอลทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ตลอดระยะเวลากว่าห้าทศววรษที่ Match of the Day ออกอากาศ มีการหมุนเวียนเปลี่ยนพิธีกร (Presenter) และนักวิเคราะห์เกม (Pundit) รวมไปถึงนักฟุตบอลที่เข้ามาร่วมรายการหลายต่อหลายชุด
สำหรับชุดปัจจุบันที่แฟนฟุตบอลชื่นชอบไม่น้อยมี แกรี่ ลินิเกอร์ (อดีตนักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ) ทำหน้าที่เป็น Presenter มี Pundit เป็นอดีตนักฟุตบอลสองรายคือ อลัน เชียเรอร์ อดีตนักเตะชื่อดังจากทีมนิวคาสเซิล และ เอียน ไรต์ อดีตนักเตะอาร์เซนอล หลายท่านอ่านมาถึงบรรทัดนี้อาจสงสัยว่าทำไมเป็นนักฟุตบอลทั้งหมด
ต้องเรียนให้ทราบว่า การทำรายการพรีวิวฟุตบอลที่อังกฤษ จะเน้นความน่าเชื่อถือและมุมมองของคนที่มีประสบการณ์จริงมากกว่าจะเป็นนักวิเคราะห์อย่างเดียว (ที่ทราบเพราะผู้เขียนเอง เคยทำงานกับโปรดิวเซอร์ที่ผ่านการทำงานกับ Sky Sport มา และได้ร่วมกันคัดเลือกทีมพิธีกร ซึ่งได้รับทราบเหตุผลที่เลือกทีมในลักษณะดังกล่าว เพราะพิธีกรหรือ Pundit ที่มาจากนักฟุตบอลจะมีมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อแฟนบอล)
กลับมาที่การเขียนถึง รายการ Match of the Day ที่ต้องเขียนถึงรายการนี้ เพราะเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทาง BBC ออกประกาศว่า แกรี่ ลินิเกอร์ ในฐานะ Presenter หรือพิธีกรของรายการจะหยุดจัดรายการชั่วคราวจนกว่าทาง BBC และลินิเกอร์ จะหาจุดที่ลงตัวในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของเจ้าตัวได้ หลังจากมีการประกาศออกไป ปรากฏว่าอลัน เชียเรอร์, เอียน ไรต์ ซึ่งทำรายการร่วมกับ ลินิเกอร์ ประกาศจะไม่ทำรายการหากไม่มีลินิเกอร์
เหตุการณ์บานปลายยิ่งขึ้นเมื่อมีพิธีกรภาคสนามของ BBC รวมไปถึงนักจัดรายการวิทยุจาก BBC 5 (สถานีวิทยุสำหรับรายการกีฬาของอังกฤษ) ประกาศไม่จัดรายการพรีวิวฟุตบอลและรีวิวฟุตบอลเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ทุกคนล้วนรักในรายการที่ตัวเองทำ แต่การแทรกแซงทางการเมืองมายัง BBC เป็นเรื่องที่รับไม่ได้
ทั้งนี้ แกรี่ ลินิเกอร์ ไม่ใช่พนักงานประจำของ BBC เป็น Presenter ให้สำหรับรายการเท่านั้น ขณะที่การแสดงความคิดเห็นของ ลินิเกอร์ นั้นเกิดขึ้นในแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ของเจ้าตัวที่มีคนตามหลักล้าน โดยเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อการที่รัฐบาลอังกฤษ มีนโยบายในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยน้อยกว่าประเทศอื่นในยุโรป
ถ้ามองในแง่ของ Influencer ลินิเกอร์ ประสบผลสำเร็จในการส่งประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยให้เป็นไวรัล แต่ในขณะเดียวกัน BBC มองว่าลินิเกอร์ ใช้โซเชียลมีเดียในการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว และเกรงว่าภาพของ BBC และลินิเกอร์ที่แนบสนิทกันจาก Match of the Day จะทำให้ภาพของ BBC นั้นต่อต้านนโยบายรัฐบาล
เอาเข้าจริงเรื่องนี้ เพียร์ส มอร์แกน พิธีกรชื่อดังจากรายการ Good Morning Britain ได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ และน่าจะเป็นบทสรุปที่ถูกต้องที่สุด เขาทวิตข้อความไว้ว่า
“แกรี่ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนของ BBC เหนืออื่นใด แกรี่ ไม่ใช่แม้กระทั่งลูกจ้างของ BBC ส่วนตัวแม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดเห็นของ แกรี่ แต่มันไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ มันเป็นสิทธิของแกรี่ ที่จะแสดงความคิดเห็น”
เป็นบทสรุปที่ชัดเจนนะคะ ลินิเกอร์ มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น และ BBC ก็ไม่มีสิทธิห้ามเพราะเกรงใจรัฐบาล หรือ มีคนในรัฐบาลขอมา…เหตุการณ์นี้ให้ความรู้สึกคุ้น ๆ นะคะ เพราะมันไม่ได้ไกลตัวเราเลย และเอาเข้าจริง การทำหน้าที่ “สื่อ” ที่เป็น “สื่อ” จริง ๆ นั้น การแสดงความคิดเห็นที่อยู่บนความจริงเป็นสิทธิพื้นฐานอยู่แล้ว และถ้าสื่อทำไม่ได้ ถูกแทรกแซงจากนักการเมือง สภาพสังคมจะเป็นแบบไหนกัน…กรณีของ ลินิเกอร์ ขอแนะนำให้ผู้บริหารสื่อในเมืองไทยติดตามข่าวกันนะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ