“ซิงเกิลมัม” VS “ลูกออทิสติก” เลี้ยงให้รอดต้องทำอย่างไร

ภาพจาก YouTube : GDH

“Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” ถือเป็นซีรีย์ที่กำลังมาแรงอีกเรื่องในบ้านเรา หลังจากออนแอร์ไปแค่ไม่กี่ตอน แต่สามารถกระชากอารมณ์คนดูได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นเรื่องราวของตัวละครที่เป็น “ออทิสติก” โรคที่มีความผิดปกติของสมองมาตั้งแต่กำเนิด จนส่งผลให้มีการพัฒนาด้านสมองช้ากว่าเด็กทั่วไป

เมื่อไม่นานนี้  Tonkit360 เคยนำเสนอมุมมองเรื่องพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่ในตัวของเด็กออทิสติก ที่ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า “ออทิสติก ซาวองต์” (Autistic savant) มาแล้ว ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองให้ความใส่ใจในเรื่องนี้ มากกว่าพุ่งเป้าไปที่การแก้ไขความผิดปกติของเด็ก ก็อาจจะผลักดันให้พวกเขาแสดงความเป็นอัจฉริยะในตัวเองออกมาได้

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเด็กออทิสติกทุกคนจะเป็นอัจฉริยะได้ เพราะจากสถิติพบว่า มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่จะฉายแววในการเป็นออทิสติก ซาวองต์ ออกมา แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่ทุกคนต้องการเห็นนั่นคือ ลูกสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปได้อย่างเป็นปกติสุข

แต่ก็มีบางครอบครัวที่รับไม่ได้ที่ลูกตัวเองกลายเป็นเด็กพิเศษ บ้างก็อายสังคม ไม่พร้อมแบกภาระในการดูแล จึงทำให้สามีภรรยาหลายคู่ลงเอยด้วยการแยกทางกัน ซึ่งส่วนใหญ่ที่เราเห็นกันนั้น มักเป็นฝ่ายชายที่ละทิ้งครอบครัวไป เหลือเพียงฝ่ายหญิงที่ยังคงทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกต่อไป พร้อมกับพ่วงการเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวอีกหนึ่งสถานะ

การเป็นซิงเกิลมัมที่ต้องดูแลลูกเพียงคนเดียวนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นภาระที่หนักหนาเอาการ ยิ่งมีลูกเป็นเด็กพิเศษ ก็ยิ่งเพิ่มความท้าทายและความรับผิดชอบมากขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะเด็กออทิสติกจำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ

ดอสเซอร์ แฮนดรอน จิตแพทย์แห่งเว็บไซต์ oureverydaylife.com  แนะนำว่า การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว จำเป็นต้องมีครอบครัวและที่ทำงานให้การหนุนหลังอยู่ด้วย ซึ่งการที่อยู่กับลูกตามลำพังจากการเลี้ยงดูคนเดียวนั้น ในบางครั้งก็ช่วยให้ผู้เป็นแม่รู้สึกผ่อนคลายได้เช่นกัน เพราะไม่กดดันจากภาวะหรือคนรอบข้าง ซึ่งนั่นก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของลูกตามไปด้วย ส่วนการทำหน้าที่ซิงเกิลมัมให้รอด ต้องทำอย่างไรนั้น แฮนดรอน แนะนำไว้ดังนี้

เลิกโทษว่าเป็นความผิดตัวเอง

สิ่งจำเป็นที่ต้องขจัดออกไปจากความคิดหรือจิตใจให้ได้ คือ เลิกโทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ลูกเกิดมาผิดปกติหรือเป็นเด็กพิเศษ เพราะบ่อยครั้งที่แม่เลี้ยงเดี่ยวมักจะเกิดความรู้สึกผิดกับเรื่องนี้ ซึ่งอาจส่งผลในทางลบต่อลูกของเราได้โดยไม่รู้ตัว

อย่าหลีกหนีการเข้าสังคม  

แม้ว่าการเลี้ยงลูกที่เป็นออทิสติกเพียงลำพังจะเป็นภาระอันหนักอึ้ง จนทำให้ไม่มีเวลาไปสังสรรค์หรือร่วมกิจกรรมกับเพื่อนฝูง แต่ถ้าเพื่อนๆ และครอบครัวเข้าใจและทราบในเรื่องนี้ ก็จะช่วยให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวราวกับไม่มีที่พึ่ง เพราะพวกเขาพร้อมจะเข้าใจรวมถึงยินดีที่จะแวะเวียนมาหาเพื่อให้กำลังใจด้วย

อย่าปล่อยให้เงินขาดมือ

เด็กออทิสติกจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จึงอาจทำให้แม่เลี้ยงเดี่ยวบางคนขาดสภาพคล่องทางการเงินได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินด้วย ซึ่งการขอความช่วยเหลือจากครอบครัว ญาติพี่น้องให้ช่วยดูแลลูกแทนการจ้างคนเลี้ยงเด็ก ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง

เข้าร่วมกลุ่มต่างๆ

การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ อาจส่งผลให้ผู้เป็นแม่เกิดความรู้สึกกดดัน รวมถึงรู้สึกเศร้า และโดดเดี่ยวได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการเข้าร่วมกลุ่มต่างๆ ที่มีประสบการณ์ร่วมกัน จะช่วยเยียวยาจิตใจได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นกำลังใจให้กันแล้ว ก็ยังมีคำแนะนำดีๆ ในการเลี้ยงดู และพาลูกไปรับการรักษาอย่างถูกวิธีด้วย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ ถือเป็นกองหนุนที่เป็นเพื่อนคู่คิดให้กับคนที่เป็นซิงเกิลมัมได้เป็นอย่างดี