รถแข่งพลังงานทางเลือก ไม่ง้อ EV

หากยังจำกันได้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อากิโอะ โตโยดะ ประธานใหญ่โตโยต้าประเทศญี่ปุ่นเคยออกมาพูดชัดเจนว่า “รถ EV” อาจไม่ใช่ปลายทางทั้งหมดของรถไร้มลพิษในอนาคต เพราะยังมีพลังงานทางเลือกอีกมากมายบนโลกใบนี้ มาถึงวันนี้คงต้องบอกว่าคำพูดนั้นดูจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วครับ

ในการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบเอ็นดูรานซ์ 25 ชั่วโมง รายการ “Idemitsu 1500 SUPER ENDURANCE 2022” ที่สนามบุรีรัมย์ เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 17-18 ธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นประวัติศาสตร์หน้าของวงการมอเตอร์สปอร์ตไทยที่แข่งรถข้ามวันข้ามคืนแล้ว ยังมีรถแข่งพลังงานทางเลือกลงสนามมาด้วยครับ

แน่นอนว่าปัจจุบันโลกยานยนต์ทั่วโลกกำลังก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นเบนซินหรือดีเซล ไปสู่รถพลังงานทางเลือก ซึ่งรูปแบบที่เข้ามาทำตลาดมากที่สุดในตอนนี้ก็คือรถพลังไฟฟ้า หรือ EV ที่ไม่มีเครื่องยนต์สันดาป และใช้มอเตอร์ไฟฟ้าปั่นพลังงานสู่ล้อขับเคลื่อนโดยตรง

อย่างไรก็ดีการที่ทีมแข่ง Toyota Gazoo Racing Team Thailand และทีม ORC ROOKIE Racing ส่งรถแข่งพลังงานทางเลือก 3 คัน ร่วมแข่งขันในเรซเดียวกันกับรถแข่งที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ผมมองว่านี่เป็นก้าวย่างที่น่าสนใจของการพัฒนาเทคโนโลยีที่โตโยต้าพยายามเน้นมาตลอด

รถแข่ง 3 คันของโตโยต้า ลงแข่งในรุ่น CARBON NEUTRAL POWER CUP ซึ่งเป็นรถแข่งกลุ่มพลังงานทางเลือก คันแรกเป็น Toyota 86 e-fuel หมายเลข S22 ที่ใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (e-fuel) ลงสนามครั้งแรก ซึ่งขับไปได้ทั้งสิ้น 443 รอบ จบอันดับหนึ่งของรุ่น และอันดับ 50 โอเวอร์ออล

ส่วนอีก 2 คันจากทีม ORC ROOKIE Racing จากญี่ปุ่น ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน เริ่มจากรถหมายเลข S28 Toyota GR86 CNF Concept และรถหมายเลข S32 GR Collora H2 concept ซึ่งคันนี้มีท่านประธานใหญ่ อากิโอะ โตโยดะ เป็น 1 ใน 3 นักขับด้วย

ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นทคือรถแข่ง GR86 พลังงานไฮโดรเจนหมายเลข S28 ทำเวลาต่อรอบเร็วที่สุดประจำการแข่งขันได้เสียด้วยครับด้วยเวลา 1 นาที 50.691 วินาที นั่นหมายความว่าเทคโนโลยีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนไม่ใช่แค่ขับได้ แต่ยังขับได้แบบเต็มสปีดและทำความเร็วได้ไม่ต่างอะไรจากเชื้อเพลิงเบนซินเลย

เท่ากับว่าหากสามารถพัฒนาเชื้อเพลิงขึ้นมาได้ โตโยต้า ก็สามารถที่จะเดินหน้าพัฒนาเครื่องยนต์ได้ต่อไป และจะเป็นอย่างไรหากในอนาคต เราจะมีรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป แต่เติมเชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานทางเลือกต่าง ๆ และเผาไหม้ออกมามลพิษเป็นศูนย์ได้ คนใช้รถจะเลือกใช้รถประเภทไหน ระหว่าง EV กับรถที่มีเครื่องยนต์

สุดท้ายยิ่งเห็นภาพท่านประธานใหญ่โตโยต้า จับมือกับ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” แห่งซีพีแล้วล่ะก็ บอกเลยว่าการที่ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ร่วมมือกันแบบนี้ไม่ธรรมดาแน่นอน และคงไม่ใช่แค่กันจับมือกันขายรถ EV อย่างเดียวแน่ ๆ เพราะซีพีมีวัตถุดิบมากมายที่สามารถนำมาพัฒนาต่อไปเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกได้ในอนาคต

ฉะนั้น หากโตโยต้าสามารถผลิตได้ทั้งรถ EV และรถที่ใช้เครื่องยนต์ภายใต้พลังงานทางเลือกชนิดต่าง ๆ ได้ตามเป้า ไม่น่าแปลกใจที่บทสัมภาษณ์ของอากิโอะ โตโยดะ ในทุกครั้ง เขาแสดงให้เห็นว่าไม่เคยกลัวค่ายรถอย่าง Tesla เลย คงเป็นเพราะเหตุนี้นี่เองครับ