จิตใจคนนั้นยากแท้หยั่งถึง ดังนั้น ไม่ว่าจะคนดีหรือฆาตกร เราก็ไม่อาจมองพวกเขาได้แบบตื้น ๆ ต้องมองให้เข้าใจ ถึงจะถอดบทเรียนเพื่อป้องกันเหตุได้
จากเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภูเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก สิ่งที่น่าสลดใจมาก ๆ ในเหตุการณ์นี้ คือการที่เหยื่อเกินครึ่งเป็นเด็กเล็กอายุ 3-4 ขวบเท่านั้น ต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติของบุคคลผู้สูญเสียทุกคน ขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุ และขอให้เหตุการณ์ลักษณะแบบนี้อย่าได้เกิดขึ้นอีกไม่ว่าจะที่ไหนบนโลก เพราะมันเป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุดที่เกินจะรับได้ ในเวลานี้ที่ญาติของเหยื่อยังคงทำใจยอมรับไม่ได้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุก ๆ ท่านเข็มแข็ง และพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปโดยเร็ว
อย่างไรก็ดี หลังจากที่เหตุการณ์ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง เราจะได้เห็นบรรดานักจิตวิทยา นักอาชญาวิทยา หรือผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านนี้หลาย ๆ ท่านออกมาวิเคราะห์ถึง “เหตุจูงใจ” ที่คนร้ายลงมือก่อเหตุ ซึ่งมีโพสต์หนึ่งของนพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล จิตแพทย์ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ โพสต์ไว้ได้น่าสนใจ แน่นอนว่าสำหรับกรณีนี้ ผู้เชี่ยวชาญทำได้เพียงอนุมานจากข้อมูลต่าง ๆ ที่เปิดเผยให้สังคมรับรู้เท่านั้น เพราะไม่สามารถไปสอบสวนจากตัวคนก่อเหตุได้อีกแล้ว เราจึงไม่มีทางที่จะรู้มูลเหตุจูงใจที่แท้จริงว่าผู้ก่อเหตุนึกคิดอะไร ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เห็นจากการตามอ่านการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ จะพบว่ามีคนไทยจำนวนมากที่ไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องออกมาพูดย้ำถึงเรื่องนี้ซ้ำ ๆ
บางคนเข้าใจว่าการโพสต์วิเคราะห์มูลเหตุจูงใจของผู้เชี่ยวชาญ เป็นการตอกย้ำให้ญาติ ๆ ของเหยื่อเจ็บปวดมากขึ้น บางคนเข้าใจว่าเป็นการพยายามหาเหตุผลมาเข้าข้างคนก่อเหตุ บ้างก็เข้าใจว่าที่วิเคราะห์สาเหตุแบบนี้เพราะเห็นใจคนร้าย บ้างก็ก่นด่าสาปแช่งทั้งคนร้ายและผู้เชี่ยวชาญที่โพสต์ด้วยใจที่ยังอินกับเหตุการณ์ บางคนมองว่าอย่าไปให้ค่ากับคนพรรค์นั้น บ้างก็มองแค่ว่าเป็นเพราะยาเสพติด ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ มันก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น และบ้างก็เลือกที่จะปฏิเสธว่าปัญหาจริง ๆ ที่เป็นต้นตอคืออะไร เอาเข้าจริงต้นตอที่เป็นมูลเหตุของการก่อเหตุนั้น สามารถวิเคราะห์ลงไปได้ลึกกว่ายาเสพติด ที่มีรายงานว่าคนร้ายเริ่มเสพมาตั้งแต่เรียนมัธยม คือถ้าวิเคราะห์จริง ๆ ก็ต้องดูว่าถูกเลี้ยงดูมาแบบไหนถึงต้องพึ่งยาเสพติด
แม้ว่าการถอดบทเรียนจะกระทบกระเทือนจิตใจของผู้ที่เกี่ยวข้องหลาย ๆ คน แต่การเศร้าเสียใจหรือการก่นด่าสาปแช่งผู้ก่อเหตุนั้นไม่มีประโยชน์ การอยู่ในความโศกเศร้าไม่ได้แปลว่าต้องให้ทุกอย่างหยุดนิ่งโดยไม่ทำอะไรเลย แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุดคือ การหาแนวทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกต่างหาก ไม่เช่นนั้นพวกเราอาจจะต้องเจอกับเรื่องชวนช็อกและเสียใจกันแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ โดยการวิเคราะห์ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังที่เป็นสาเหตุให้คนกลุ่มนี้ก่อเหตุ การเข้าใจพฤติกรรมและความคิดของผู้ก่อเหตุมีประโยชน์มาก ๆ ต่อการบรรเทาเหตุ ป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำ รวมถึงระงับเหตุการณ์ที่คาดว่ากำลังจะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งต้องอาศัยความรู้ด้านจิตวิทยาและอาชญาวิทยา
จิตวิทยา สำคัญอย่างไร
เริ่มต้นที่ความสำคัญของ “จิตวิทยา” ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ (กระบวนการของจิต) กระบวนความคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ศึกษาถึงกระบวนการรับรู้ อารมณ์ บุคลิกภาพ พฤติกรรม รวมถึงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความพยายามที่จะศึกษาด้านจิตใจนี้ ก็เพื่อให้เข้าใจถึงหน้าที่หรือจุดประสงค์ต่าง ๆ ของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลและพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกต่อสังคม ขณะเดียวกันก็ศึกษาขั้นตอนของระบบประสาทของมนุษย์ ซึ่งมีผลต่อการควบคุมและแสดงออกพฤติกรรม
เมื่อสิ่งแวดล้อมมีผลต่อการรับรู้ มีผลต่อกระบวนการทางจิตใจความรู้สึกนึกคิด และมีผลต่อพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมา จิตวิทยา จึงเป็นการอธิบายพัฒนาการความเป็นมาของบุคลิกภาพและความรู้สึกนึกคิดที่ทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน
เมื่อจะวิเคราะห์จิตวิทยาของคนร้ายหรืออาชญากร ส่วนใหญ่แล้วนักจิตวิทยาจะวิเคราะห์ลงไปถึงจุดกำเนิดของคนร้าย ซึ่งก็คือครอบครัวและสภาพสังคมแวดล้อม พ่อแม่ให้เวลา ให้ความรัก เอาใจใส่มากแค่ไหนตอนเป็นเด็ก หรือเติบโตขึ้นมาโดยลำพัง พ่อแม่เลี้ยงมาแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวหรือไม่ ครอบครัวยากจนแร้นแค้น ถูกเอารัดเอาเปรียบให้รู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมหรือเปล่า เมื่อเจอสภาพสังคมและคุณภาพชีวิตแบบนี้มาก ๆ เข้า กลายเป็นปมในใจ และเกิดแรงขับของพฤติกรรม ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะใฝ่ดีแม้ว่าเติบโตมาในสภาพแวดล้อมเลวร้าย
ถ้าเป็นแรงขับในทางบวก คนกลุ่มนี้จะพยายามหาทางทำให้สภาพสังคมแบบที่เขาเติบโตมามันหายไป ด้วยการทำให้มันดีขึ้น คนรุ่นหลังจะได้ไม่ต้องพบเจอกับสิ่งเดียวกัน แต่ถ้าเป็นแรงขับในทางลบ คนเหล่านี้จะเคียดแค้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาคิดว่ามันทำให้เขามาถึงจุดอัปยศนี้ และถ้ามันถึงจุดหนึ่งที่พวกเขามีแรงจูงใจอยากจะแก้แค้น ไม่กลัวการทำผิด ไม่ละอายต่อบาป ไม่หลงเหลือสามัญสำนึก จะถูกลงโทษหรือไม่ก็ไม่สนใจ หรือที่เรียกว่า pathological motivation เป็นความผิดปกติรูปแบบหนึ่งเกี่ยวกับกลไกทางประสาทที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ ขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง ซึ่งยาเสพติดก็มีส่วนที่ทำให้การควบคุมนี้หายไปเช่นกัน แบบที่คนเมายาบ้าจะใจกล้ามากขึ้น
ในเมื่อคนกลุ่มนี้ไม่มีความละอายต่อบาปอีกต่อไปแล้ว เขาจึงแสดงออกด้วยการทำให้สังคมเจ็บปวดที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสังคมว่าพวกเขาเลวร้ายเพื่อตอบแทนสภาพสังคมได้แค่ไหน หรือเพื่อป่าวประกาศว่าก็เพราะสังคมนั่นแหละที่ทำให้เขามาถึงจุดนี้ ถ้าเขาทำสำเร็จ ก็จะทำให้เกิดความสะใจ ภาคภูมิใจที่แก้แค้นได้ รู้สึกสนุก เป็นผู้ชนะ นี่คือแรงจูงใจของอาชญากร สิ่งที่คนทั่วไปยากจะเข้าใจ แต่คนแบบนี้มีอยู่จริงในสังคม
แล้วการควบคุมตนเองสำคัญอย่างไร การที่คนเราสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุขแม้ว่าเราจะเกลียดขี้หน้าคนคนหนึ่งมาก ๆ ก็เพราะว่าเรายังควบคุมตนเองได้ ยังห้ามตัวเองไม่ให้ทำเรื่องเลวร้ายได้ ก็เพราะยังมีสามัญสำนึก ยังกลัวการทำผิด ยังกลัวการลงโทษ จึงควบคุมไม่ให้ตนเองแสดงพฤติกรรมเชิงลบออกมา นี่คือสิ่งที่คนปกติสามารถทำได้ แต่สำหรับคนที่สูญสิ้นการควบคุมตนเองไปแล้ว จุดนี้นี่เองที่ผิดปกติ
แล้วถ้าสังคมมีส่วนผลิตคนเหล่านี้ขึ้นมาจริง ๆ นักจิตวิทยาจะต้องหาคำตอบมาอธิบายได้ว่าสังคมแบบไหนกันที่ทำให้คนดี ๆ หันไปพึ่งยาเสพติดจนกลายเป็นคนติดยา สังคมแบบไหนที่หล่อหลอมให้คนกลายเป็นฆาตกร และสังคมแบบไหนที่ทำให้คนกลายเป็นปีศาจ ปีศาจที่โทษว่าทุกอย่างเป็นความผิดของสังคม และยกให้ตัวเองเป็นพระเจ้าเพื่อลงโทษสังคมที่พวกเขาเชื่อว่าผลักดันให้พวกเขามาถึงจุดตกต่ำในชีวิต ไม่ว่าจะฟังดูไร้ตรรกะแค่ไหน แต่นั่นคือสิ่งที่ฆาตกรคิดในมุมมองของตนเอง นั่นทำให้จิตวิทยาจะช่วยให้เราเข้าใจจุดเริ่มต้นจริง ๆ ของความคิดที่คนคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาฆ่าคน เพื่อไปแก้ปัญหาที่จุดเริ่มต้นจริง ๆ ของมัน
อาชญาวิทยา คืออะไร สำคัญแค่ไหนที่เอาจิตวิทยาของฆาตกรมาทำงานต่อ
ต่อมาเป็นความสำคัญของการศึกษา “อาชญาวิทยา” ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่มุ่งศึกษาถึงการอธิบายสาเหตุของการกระทำความผิดของอาชญากร (ผู้กระทำผิด) และเมื่อทราบถึงสาเหตุของการก่อเหตุแล้ว ก็จะหาแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้ เช่น สาเหตุของการก่อเหตุ เป็นปัจจัยที่ทำให้ฆาตกรต่อเนื่องลงมือในรูปแบบเดิม ๆ ซ้ำ ทั้งการเลือกเหยื่อ ที่อาจมีปมกับเหยื่อลักษณะนี้เลยเลือกเหยื่อแบบนี้ อาวุธที่ใช้ อาจเป็นอาวุธที่ตนเองเคยถูกทำร้ายในสมัยเด็กเลยผูกพันกับอาวุธนี้เป็นพิเศษ สถานที่ก่อเหตุ อาจเป็นสถานที่ที่มีลักษณะแบบที่ผู้ก่อเหตุคุ้นเคยในวัยเด็ก เป็นต้น หากรู้ถึงขนาดนี้ ก็จะมีโอกาสบรรเทา ป้องกัน หรือระงับเหตุไม่ให้เกิดขึ้นได้
เนื่องจากอาชญาวิทยาจะต้องอาศัยการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ ทั้งจากการสัมภาษณ์ผู้ก่อเหตุเพื่อวิเคราะห์แรงจูงใจ การอนุมานจากหลักฐานและพยาน รวมถึงการตั้งสมมติฐานจากสถิติและข้อมูลอาชญากรหลาย ๆ คน เนื่องจากมีผู้ก่อเหตุจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีชีวิตรอดมาให้นักวิเคราะห์พฤติกรรมได้ทำงาน อาจด้วยโดนวิสามัญหรือฆ่าตัวตายเอง การมีข้อมูลพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุมาใช้ประเมินอาชญากรรมที่คนเหล่านี้ก่อขึ้นในมุมมองของพวกเขา จะช่วยให้รู้ว่าพวกเขาคิดอ่านอย่างไร นักวิเคราะห์พฤติกรรมหลาย ๆ คนต้องจินตนาการเพื่อให้ตัวเองเข้าไปนั่งในใจฆาตกร ให้รู้ว่าพวกเขาคิดอะไร จะทำอย่างไรต่อ หากรู้แล้วก็จะได้หาวิธีป้องกันนั่นเอง
ปกติแล้ว สาเหตุของการก่ออาชญากรรมจะแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุหลัก ๆ คือ การกระทำความผิดที่เกิดจากปัจจัยทางชีวภาพ การกระทำความผิดที่เกิดจากปัจจัยทางจิต และการกระทำความผิดที่เกิดจากปัจจัยทางสังคม ดังนั้น หากจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุในการก่ออาชญากรรม จึงต้องมีข้อมูลด้านพฤติกรรมและจิตวิทยาของผู้ก่อเหตุมาประกอบด้วย
ดังนั้น อาชญาวิทยาจึงทำงานภายใต้สมมติฐานที่ว่า ถ้าสามารถเข้าใจจิตใจของอาชญากรได้ว่าทำไมถึงลงมือ ก็จะสามารถตัดวงจรการก่อเหตุได้ เช่น ฆาตกรต่อเนื่องที่ยังไม่ถูกจับ การอนุมานเอาจากรูปแบบการก่อเหตุซ้ำ ๆ จะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจำกัดบริเวณที่อาจเกิดเหตุ สอดส่องบริเวณนั้นให้มากขึ้น หรือดักซุ่มรอเผื่อคนร้ายก่อเหตุ จะได้จับตัวคนร้ายได้ หรือใช้เพื่อจำกัดตัวผู้ต้องสงสัยจากพฤติกรรมที่แสดงออกเวลาก่อเหตุ จิตวิทยาจะช่วยกรองได้ว่าพฤติกรรมแบบไหนที่เข้าข่ายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง
นอกจากนี้ อาชญาวิทยายังให้ความสำคัญกับการก่อเหตุซ้ำหลังจากพ้นโทษด้วย อย่างที่เราเห็นกันว่ามีผู้ก่อเหตุจำนวนไม่น้อยที่ติดคุก แต่พอออกมาก็ก่อเหตุซ้ำ พฤติกรรมนี้อาจตรงกับทฤษฎีการตีตรา ของคนที่เคยติดคุกมาก่อน พอออกมาสังคมก็ตีตราว่าเป็นพวกขี้คุก เป็นคนไม่ดี ไม่ค่อยได้รับโอกาสให้เริ่มต้นใหม่ ในเมื่อชีวิตเสียหายไปแล้วมันก็ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว เขาจึงไม่สนใจว่าตัวเองจะต้องถูกจับและติดคุกอีกกี่ครั้ง อาชญาวิทยาจึงต้องมีแนวทางในการป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้ก่อเหตุซ้ำ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ฉะนั้นแล้ว ไม่ใช่ว่าลงโทษแล้วทุกอย่างจะจบ
ต้องรู้ให้ได้ว่าอะไรที่ทำให้คนเรากลายเป็นฆาตกร
สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องตอบให้ได้ เวลาที่มีเหตุการณ์อาชญากรรมสะเทือนขวัญ คือ “ทำไม?” เพราะคำตอบของคำถามนี้เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการเข้าใจเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้น เมื่อเข้าใจเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เราจะสามารถบรรเทา ยับยั้ง หรือป้องกันเหตุการณ์ร้ายแรงเฉกเช่นหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาได้
“ทำไม” คือ คำถามที่เน้นไปที่การหามูลเหตุจูงใจของการก่ออาชญากรรม ในมุมของอาชญาวิทยามีแนวความคิดที่ตั้งข้อสันนิษฐานว่าผู้ก่อเหตุที่กระทำความผิดนั้น ไม่ได้เกิดมาจากความชั่วในจิตใจเพียงอย่างเดียว แต่อะไรล่ะที่เข้ามาเป็นปัจจัยสนับสนุนให้คนคนหนึ่งสามารถกระทำสิ่งชั่วร้ายได้ขนาดนั้น เพราะคนเราเติบโตขึ้นมาไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะการอบรมสั่งสอนเลี้ยงดู ความรักความเอาใจใส่จากพ่อแม่ หรือแม้แต่สภาพแวดล้อม แบบที่เราอาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า “ครอบครัว” คือสถาบันทางสังคมที่เป็นเบ้าหลอมของคนคนหนึ่งที่จะถูกผลิตออกสู่สังคม เราจึงมักจะต่อว่าคนที่มีพฤติกรรมไม่ดีว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอนนั่นเอง
อาชญาวิทยาเชื่อว่าไม่ใช่คนเรานึกอยากจะชั่วก็ชั่วเลยทันที แต่มันมีอะไรบางอย่างที่สะสมมาเรื่อย ๆ จนเป็นแรงขับให้เกิดความคิดชั่วร้ายขึ้นมา คิด แต่ถ้ายังมีสติ มีความยับยั้งชั่งใจ ก็จะยังไม่ลงมือ คนเหล่านี้ก็ดูเป็นคนปกติธรรมดาในสังคมที่เดินสวนกับเราไปมา แต่จะเก็บกดความคิดชั่วร้ายและความรู้สึกที่อยากจะกระโจนโจมตีใครสักคนเอาไว้ในใจ ซึ่งปกติแล้วมันก็จะมีสัญญาณที่แสดงออกมาโดยเจ้าตัวก็ไม่รู้ตัว ส่วนคนอื่น ๆ ก็รับรู้ความผิดสังเกตของพฤติกรรมได้แต่ยังไม่เอะใจ จนถึงจุดหนึ่งที่ความอดทนหมดลง พร้อมกับที่เส้นบาง ๆ ของความรู้ผิดชอบชั่วดีและการยับยั้งอารมณ์ถูกทำลายด้วย มันก็จะระเบิดออกมาทีเดียว
การเข้าใจสาเหตุของการลงมือก่อเหตุอาชญากรรมของเหล่าอาชญากร ไม่ใช่เข้าใจเพื่อที่จะรู้สึกเห็นใจคนก่อเหตุ เพราะสิ่งที่คนเหล่านี้ก่อขึ้นไม่ได้ชักชวนให้เราเห็นใจได้แม้แต่น้อยอยู่แล้ว แต่เข้าใจเพื่อที่จะได้รู้ว่าจริง ๆ แล้ว อะไรกันแน่ที่เป็นต้นเหตุที่แท้จริง เพื่อตัดวงจร ซึ่งมันสมควรไปแก้ไขที่จุดเริ่มต้นเลยมากกว่า
เรื่องแบบนี้จะเอาความโกรธแค้นและแรงสาปแช่งเป็นที่ตั้งไม่ได้
ทุก ๆ ครั้งที่มีเหตุการณ์สะเทือนขวัญเกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่มีเหยื่อมากหรือน้อยก็ตาม เมื่อเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของสังคมแล้วล่ะก็ สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือแรงโกรธแค้นจากสังคมที่ส่งไปถึงต่อตัวผู้ก่อเหตุ อาจรวมถึงบุคคลรอบข้างตัวผู้ก่อเหตุด้วย ต่อให้บุคคลนั้นจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการลงมือของผู้ก่อเหตุเลยก็ตาม เพียงแค่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ก็เป็นไปได้ว่าจะพลอยโดนลูกหลงเงาแค้นจากสังคมไปด้วยหากชาวเน็ตขุดเจอว่ามีหรือเคยมีความเกี่ยวข้องกัน และคิดเอาเองว่า ก็น่าจะเป็นคนแบบเดียวกันแหละ ไม่อย่างนั้นคงคบกันไม่ได้
แรงโกรธแค้นเป็นปฏิกิริยาทางสังคมที่เกิดขึ้นได้ปกติ เพื่อที่จะตอบโต้กับเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว นั่นเป็นเพราะคนในสังคมทำอะไรไม่ได้มากนอกจากตามเสพความคืบหน้าของข่าว ในใจมีอารมณ์ร่วม กำลังเป็นเดือดเป็นแค้นแต่ไม่สามารถแสดงออกได้ด้วยวิธีอื่น ในขณะเดียวกัน ทุกคนก็มีแพลตฟอร์มออนไลน์อยู่ในมือ เมื่อต้องการจะแสดงปฏิกิริยาโกรธแค้นจึงแสดงออกได้ค่อนข้างง่ายในปัจุบัน สังเกตได้จากข่าวออนไลน์ตามโซเชียลมีเดีย จะมีคนที่กด reaction โกรธเป็นจำนวนมาก มาพร้อมกับคอมเมนต์เชิงลบที่ก่นด่าแรง ๆ และสาปแช่งให้ผู้ก่อเหตุต้องเจอกับความฉิบหาย ความวิบัติในชีวิต ให้สาสมกับความระยำตำบอนที่ทำไว้
แล้วเราได้อะไรบ้างจากการก่นด่าและสาปแช่งด้วยความโกรธแค้นนอกเหนือจากความสะใจประเดี๋ยวประด๋าวที่ได้แสดงอารมณ์ออกมา ซึ่งก็ไม่ช่วยอะไร ๆ ดีขึ้น (แม้ว่าบางกรณีจะช่วยขับเคลื่อนการทำงานของภาครัฐได้บ้าง) ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมไม่มีสิทธิ์ที่จะโกรธแค้นอาชญากรที่ก่อเหตุชั่วร้าย และหวังว่าการสาปแช่งให้คนผู้นั้นตกนรกหมกไหม้ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดนั้นจะเป็นผล แต่ความคับแค้นใจ การสาปแช่ง เป็นเพียงหนทางที่แสดงออกถึงความคับแค้นใจเท่านั้น เราจะให้มันเป็นตัวตั้งต้นของการแก้ปัญหาไม่ได้ถ้าเราไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา
ต้องเข้าใจจิตใจผู้ก่อเหตุ ถึงจะล้อมคอกก่อนวัวหายได้
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นอย่างมีสาเหตุ แม้แต่สภาพจิตใจของอาชญากรที่ลงมือก่อเหตุก็ตาม คนเหล่านี้ก็มีชุดความคิดที่ลึกซึ้งเป็นของตัวเอง เพียงแต่เป็นชุดความคิดที่บิดเบี้ยว ตรรกะวิบัติ รวมถึงเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง ขาดสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี ขาดความเห็นอกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ยิ่งเมื่อถึงจุดที่ขาดความยับยั้งชั่งใจด้วยแล้ว จึงคิดว่าตนเองมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะกระทำต่อผู้อื่น แน่นอนว่าในมุมของคนปกติธรรมดา นั่นเป็นตรรกะสุดพังไร้ซึ่งความเป็นเหตุเป็นผล แต่ปัญหาคือสภาพจิตใจของฆาตกรไม่ได้ปกติแบบคนทั่วไปสักเท่าไร จากมุมมองของพวกเขา เป็นไปได้ว่าพวกเขามีความคิดว่าสิ่งเลวร้ายในความคิดของคนปกติ คือสิ่งที่ถูกต้องดีงามสำหรับพวกเขา
ส่วนยาเสพติด ที่มักจะมีบทบาทควบคู่กับการลงมือของอาชญากร เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้อาชญากรขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดจิตสำนึกที่รู้ผิดรู้ชอบ ที่ทำให้การลงมือก่อเหตุง่ายขึ้น แต่ยาเสพติดก็อาจจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยไขให้เห็นถึงสภาพจิตใจและและสภาพสังคมของอาชญากรได้เช่นเดียวกัน สภาพจิตใจของผู้ก่อเหตุเป็นอย่างไรเติบโตมาแบบไหนถึงต้องพึ่งพายาเสพติด และสภาพสังคมแบบไหนที่ทำให้คนคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาแบบเป็นทาสยาเสพติด หากคิดจะแก้ปัญหาจริง ๆ ต้องมองลึกลงไปถึงจุดนี้ พฤติกรรมของอาชญากรจะบอกได้เกือบทุกอย่าง
จุดนี้นี่เองที่ทำให้การศึกษาด้านจิตวิทยา อาชญวิทยา และการศึกษาพฤติกรรมของอาชญากร เป็นการศึกษาที่สำคัญและจำเป็น บุคคลที่ทำงานในแวดวงนี้จำเป็นต้องรู้ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังที่ทำให้คนคนหนึ่งเห็นผิดเป็นชอบได้ถึงขนาดที่สามารถลงมือก่ออาชญากรรมที่เลวร้ายโดยไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีหลงเหลืออยู่ เพราะในสังคมยังมีประเภทนี้อาศัยอยู่ร่วมกับเราจำนวนไม่น้อย รู้หน้าไม่รู้ใจ พวกเขาเดินปะปนอยู่กับคนปกติทั่วไป อำพรางแรงขับเคลื่อนทางพฤติกรรมบางอย่างไว้ ซึ่งถ้าเมื่อไรที่มีแรงกระตุ้น พวกเขาก็อาจจะลุกขึ้นมาก่อเหตุได้ทุกเมื่อ การเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนเหล่านี้จึงมีส่วนช่วยป้องกันเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
เพราะหากเราเจอใครสักคนที่มีเบื้องหลังชีวิตในอดีตและพฤติกรรมบางอย่างคล้ายกับสถิติที่รวบรวมพฤติกรรมของอาชญากรไว้ เราก็จะสามารถศึกษาแนวโน้มที่คนที่มีเบื้องหลังชีวิตแบบนี้ในการก่ออาชญากรรมได้นั่นเอง แน่นอนว่าอาจจะไม่สามารถตรงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ใช้เทียบเคียงสิ่งที่เหมือนและแตกต่างได้ การเข้าใจถึงเหตุผลและแรงจูงใจของคนร้ายจึงไม่ใช่การหาเหตุผลเข้าข้างหรือเห็นใจคนผิดว่าเพราะเติบโตมาอย่างแร้นแค้นถึงได้เป็นแบบนี้ อะไรทำนองนั้น แต่เพื่อหาแนวโน้มว่าใครอีกที่อาจจะลุกขึ้นมาก่ออาชญากรรมที่เลวร้ายสะเทือนใจอีกต่างหาก