ศาสตร์ของการบริหารทีมฟุตบอลในยุคปัจจุบันนั้น ไม่เพียงแต่จะต้อง “ซื้อ” ผู้เล่นให้ถูกต้องแล้ว ยังต้องพยายาม “ขาย” ให้ได้จังหวะราคาที่ดีที่สุดอีกด้วย
ที่ผ่านมา เลสเตอร์ ซิตี้ คือสโมสรที่ขึ้นชื่อลือชื่อเรื่องการเล่นแร่แปรธาตุ “สินค้า” ที่อยู่ในมือของพวกเขา ซึ่งนั่นก็หมายถึงบรรดาพ่อค้าแข้งทั้งหลายอย่างประสบความสำเร็จตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และล่าสุดพวกเขากำลังจะทำได้อีกครั้งในการปล่อย เวสลี่ย์ โฟฟาน่า ปราการหลังวัย 21 ปีให้เชลซี
แน่นอนมันเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทีมระดับกลางของพรีเมียร์ลีกในสภาพทุกวันนี้ ต้องสู้รบปรบมือกับทีมยักษ์ใหญ่ซึ่งนับวันบรรดาเจ้าของจากทั่วทุกมุมโลก ต่างอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาเพื่อต่อสู้แย่งชิงความเป็นเจ้ายุทธจักร เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญอยู่ที่การใช้จ่ายเม็ดเงินให้ได้คุ้มค่ามากที่สุด รวมทั้งบริหารสัญญาและการเพิ่มมูลค่าของบรรดานักเตะในทีมอีกด้วย
“สุนัขจิ้งจอก” แห่งฟิลเบิร์ต สตรีท นั้น เคยขายนักฟุตบอลได้ราคาดี ๆ ไปหลายคนแล้ว นับจากวันที่ตระกูลศรีวัฒนะประภา เข้าไปเทกโอเวอร์ ยกตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดก็คงจะมี แดนนี่ ดริงค์วอเทอร์ 35 ล้านปอนด์ให้เลซี, เบน ชิลเวลล์ 65 ล้านปอนด์ให้เชลซี, ริยาร์ด มาห์เรซ 68 ล้านปอนด์ให้แมนฯ ซิตี้ และเอ็นโกโล่ ก็องเต้ 30 ล้านปอนด์ให้เชลซี (คนนี้ไม่ได้เต็มใจขาย) และสุดยอดอภิมหากำไรก็คือ แฮร์รี่ แม็คไกวร์ 85 ล้านปอนด์ให้ “ปีศาจแดง” ซึ่งตามข่าววงในบอกว่ามีการโก่งราคากันสุด ๆ เมื่อรู้ว่า แมนฯ ยูไนเต็ด นั้น “หน้ามืด” ต้องเอาให้ได้ เพราะหมดตัวเลือกแล้ว
เทคนิคการขายที่ เลสเตอร์ ใช้เป็นอย่างไร?
ให้ไล่เรียงตามลำดับขั้นตอนที่พอจับสังเกตได้ก็คือ ข้อแรก “แสดงอาการเล่นตัว” เมื่อรู้ว่ามีสโมสรอื่นล็อกเป้าหมายมาที่นักฟุตบอลของพวกเขา อย่างเที่ยวนี้ก็คือเชลซีหมายปอง เวสลี่ย์ โฟฟาน่า ก็ต้องทำทีว่าไม่อยากขายบ้าง อ้างว่าผิดราคาไปบ้าง แต่ไม่ถึงกับตัดรอน เอาแค่ยั่ว ๆ บด ๆ สังเกตอาการทีมอื่น ถ้าอยากได้จริงเสนอราคามาเป็นรอบที่สอบ คราวนี้จะเหมือนหนูติดกับดักเข้าแล้ว ค่อยขอราคาเพิ่มอีกสักหน่อย
ข้อสอง “อย่าเพิ่งรีบหาตัวแทน” การหาตัวแทนนักเตะคนนั้นก็เปรียบเสมือนการเผยแบไพ่ให้คนอื่นเห็นว่าพร้อมจะขายคนเดิมแล้วจึงเร่หาตัวคนใหม่ นั่นเป็นสิ่งที่ เลสเตอร์ ไม่เคยรีบกระทำ ใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว เต็มที่ก็ใช้นักเตะที่ซื้อตัวมาตุนไว้ทดแทนไปก่อน
ข้อสาม คือ “การประวิงเวลา” เพราะยิ่งใกล้เวลาตลาดซื้อขายปิดตัว ฝ่ายที่กดดันและเดือดเนื้อร้อนใจคือสโมสรที่ต้องการจะซื้อตัวนักเตะคนนั้นให้ได้ ผู้ขายยิ่งได้เปรียบ
เที่ยวนี้ทีม “สุนัขจิ้งจอก” ก็ใช้เทคนิคเหล่านี้และไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาก็คงประสบความสำเร็จในการปล่อยตัวปราการหลังดาวรุ่งอย่าง เวสลี่ย์ โฟฟาน่า อีกครั้ง ด้วยค่าตัวแพงหูฉี่ในระดับ 75-80 ล้านปอนด์ด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ซื้อมาจาก แซงต์ เอเตียง เมื่อสองปีก่อนเพียงแค่ 30 ล้านปอนด์เท่านั้น
ในเมื่อเห็นไพ่ในมือแล้วว่า เชลซี “ไม่มีทางเลือก” ต้องหาคนไปเติมในตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟด้านขวา เพื่อเล่นในระบบ 3 เซ็นเตอร์แบ็กให้ได้ เพราะเสียทั้ง อันเดรส คริสเตนเซ่น และ อันโตนิโอ รูดิเกอร์ ไปเมื่อช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา และพวกเขายังชวดได้ตัว ชูลส์ กุนเด้ ไปอีก
ส่วนเลสเตอร์ นั้นมีกองหลังในทีมเหลือเฟือให้เลือกมาทดแทน โฟฟาน่า ที่จะต้องเสียไป แถมยังเหลือเงินไปซื้อนักเตะเพิ่มในตำแหน่งอื่นได้อีก เพราะยังไม่ได้ควักเงินซื้อใครเป็นเรื่องเป็นราวเลย เนื่องจากสภาพรายได้ของทีมลดลงมาเนื่องจากสถานการณ์ “โควิด”
สุดท้ายโทษใครไม่ได้ “ตาดีได้ ตาร้ายเสีย” ธุรกิจของการซื้อ-ขาย นักเตะก็เป็นแบบนี้ และจะเป็นต่อไป.