เชื่อว่าคุณผู้อ่านทั้งหลายน่าจะเคยได้ยินคำเปรียบเปรยที่เขาว่ากันว่า “ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร” กันมาบ้างใช่ไหมคะ? คิดเห็นอย่างไรกันบ้าง ถ้าคุณเห็นด้วย แล้วชีวิตของคุณเปรียบได้กับละครเรื่องไหน เคยคิด ๆ เปรียบเทียบไว้บ้างหรือเปล่า ตอนจบของละครเรื่องนั้นสมหวังหรือผิดหวัง? แล้วชีวิต ณ ตอนนี้ของคุณผู้อ่าน ใกล้ถึงจุดจบตามแบบละครเรื่องนั้นหรือยัง ค่อนไปทางสุขนาฎกรรมหรือโศกนาฏกรรม แต่…ขอเตือนอะไรนิดหน่อยนะคะ ว่า “ละครมันถูกตัดจบแค่วันฉายวันสุดท้าย แต่ชีวิตจริงยังต้องเดินต่อ”
จริง ๆ ต้องบอกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา เราแทบจะไม่ได้ดูละครไทยเลยด้วยซ้ำ จะมีบ้างนาน ๆ ทีตามที่ลงในคอลัมน์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ดูไม่จบหรอก เพราะการนำเสนอเรื่องราวและพล็อตของละครมันไม่ค่อยถูกจริต ต่างจากซีรีส์เกาหลีที่แม้จะฟังเฉย ๆ แล้วแปลไม่ออก ชีวิตลำบากตรงที่ต้องมานั่งตาเหลือกดูภาพไปพร้อม ๆ กับอ่านซับไทย อ่านซับไม่ทัน ประทับใจคำพูดตัวละคร หรือเสพติดฉากฟิน ๆ ก็เลื่อนกลับมาดูใหม่วนไป นี่แหละที่ทำให้ติดอยู่ในวังวนของซีรีส์เกาหลี เข้าแล้วหาทางออกไม่ได้ ดูแล้วมันอินกับชีวิตมากกว่าเยอะ
พูดถึงเรื่องการอินกับซีรีส์เกาหลี ช่วงนี้ค่อนข้างที่จะอินกับซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเติบโต การเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยมากเป็นพิเศษ เพิ่งได้คุยกับเพื่อนสนิทเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่าจริง ๆ แล้วเวลามันก็ผ่านไปเร็วเหมือนกัน ยังจำเรื่องราวสมัยใส่ชุดนักเรียนเป็นวัยรุ่นมัธยมตัวแสบได้อยู่เลยเหมือนเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวาน ทั้งที่ในความเป็นจริงมันผ่านมาเป็น 10 ปีแล้ว และอีกไม่กี่อึดใจ ชีวิตเราก็กำลังจะก้าวเข้าสู่เลข 3 ชีวิตผู้ใหญ่แบบเต็มตัว ที่ไม่ควรจะปล่อยให้อะไรต่ออะไรสายเกินไป
จะว่าไปซีรีส์เกาหลีเนี่ยมีหลายเรื่องมากที่เป็นการเล่าเรื่องเล่าการเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยต่าง ๆ นำเสนอภาพของชีวิตผู้คนในวัยต่าง ๆ ให้คนที่เด็กกว่าได้รู้ว่า อ๋อ! วัยเท่านี้มันเป็นอย่างนี้สินะ ส่วนคนที่ผ่านมาแล้วก็ได้แต่คิดย้อนไปในอดีต ว่ากว่าจะผ่านวัยนั้นมาได้สาหัสใช่เล่น ซีรีส์ในวันนี้ก็เหมือนกัน เป็นเรื่องราวของผู้หญิงวัย 40 ปี จำนวน 3 คน ที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ทุกวันนี้พวกเธอเป็นแม่บ้าน แต่ไม่ใช่แม่บ้านธรรมดา ๆ เพราะพวกเธอกำลังค่อย ๆ กลายร่างเป็นแม่มด
“เด็กสาวตอนศตวรรษที่ 20 กำลังค่อย ๆ กลายร่างเป็นแม่มด” ตรงตามชื่อเรื่องเป๊ะ Becoming Witch หรือชื่อภาษาไทยจาก Netflix ก็เด็ดใช่เล่น “แม่มดออกลาย” ซีรีส์ที่จะพาคุณไปทำความรู้จักกับผู้หญิง 3 คนที่เคยเป็นเด็กสาวธรรมดา ๆ พวกเธอใฝ่ฝันถึงชีวิตแต่งงานที่สวยงาม แต่เมื่ออายุมากขึ้นจนเข้าสู่เลข 4 มุมมองชีวิตพวกเธอก็เปลี่ยนไป นั่นเป็นเพราะประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาเริ่มสั่งสอนพวกเธอว่าอย่าได้ยอมเป็นคนขี้แพ้ให้ใครเหยียบย่ำ ถ้าชีวิตสู้กลับ ก็ต้องสู้กลับชีวิตกลับไปให้หนักกว่าเดิม เพราะฉะนั้น อย่าบังคับให้ผู้หญิงต้องร้าย เลือดขึ้นหน้าขึ้นมาพวกเธอก็คือแม่มดดี ๆ นี่เอง และอย่าได้เป็นศัตรูกับพวกเธอ ถ้ายังไม่อยากโดนโยนลงหลุมแล้วกลบดินฝัง!
เด็กเกินกว่าที่จะตาย แต่สายเกินไปที่ฝัน
“เด็กเกินกว่าที่จะตาย แต่สายเกินไปที่จะฝัน” ข้อความข้างต้นเป็นนิยามของผู้หญิงวัย 40 ในซีรีส์เรื่องนี้ สวนทางกับปรัชญาของขงจื๊อที่เป็นประโยคเปิดประโยคแรกของเรื่องที่บอกว่า “วัย 40 เป็นวัยที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งล่อใจ” พวกเธอ 3 คนต่างก็จับมือกันค้านปรัชญานั้นหัวชนฝา เพราะในเวลานี้ชีวิตของพวกเธอทั้ง 3 คนนั้น “โอนเอนอย่างกับเรือใบที่แล่นอยู่กลางพายุ ผ่านอุโมงค์อันมืดมิดโดยมองไม่เห็นหนทางข้างหน้าสักนิด” แถมยังค่อนแคะนักปรัญชาผู้โด่งดังอีกว่า “นักปรัชญาที่ตายไป 2500 ปีก่อน จะรู้อะไรเกี่ยวกับศตวรรษที่ 21”
เอาเข้าจริง นี่ไม่ใช่ซีรีส์เรื่องแรกหรอกนะที่เล่าถึงความวุ่นวายของคนวัย 40 ปี เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งจะมีซีรีส์เรื่อง Thirty-Nine ที่นำเสนอการเปลี่ยนผ่านของชีวิตจากวัยที่อายุเลข 3 เข้าสู่เลข 4 โดยที่ตัวละครต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย แตกต่างกันนิดเดียวตรงที่ตัวละครในเรื่อง Becoming Witch นี้ ตัวละครได้ก้าวข้ามมาสู่วัยเลข 4 เรียบร้อยแล้ว ใช้ชีวิตในวัยเลข 4 มาสักพัก จนได้ค้นพบความจริงที่ว่าความมั่นคงของวัย 40 ที่เคยถูกขายฝันในตอนที่ตัวเองยังเด็กกว่านี้ ตอนที่อายุยังไม่ถึง 40 นั้น เป็นเรื่องเหลวไหล โกหกทั้งเพ พวกเธอเด็กเกินไปที่จะตายในวัย 40 แต่มันก็สายเกินไปแล้วเหมือนกันที่จะมาเฝ้าฝันชีวิตในวัย 40
เพราะอะไรล่ะ เพราะถ้าหากมองด้วยสายตาของคนวัยอื่น ๆ ที่เด็กกว่า จะเห็นภาพว่าคนวัย 40 มันเป็นวัยที่หลาย ๆ ตั้งตัวได้แล้ว ชีวิตกำลังมั่นคง แบบว่าอะไรต่ออะไรกำลังไปได้สวยเลยแหละ มีคนจำนวนไม่น้อยแต่งงานมาหลายปีแล้ว ถ้ามีลูกลูกก็เริ่มโต พ่อแม่วัย 40+ เนี่ยเขาไปรับส่งลูกที่โรงเรียน บางคนที่แต่งงานมีลูกเร็ว ลูกเขาเรียนอยู่ชั้นมัธยมแล้วด้วยซ้ำไป ด้านหน้าที่การงานก็ก้าวขึ้นไปสู่ระดับหัวหน้า มีบ้าน มีรถที่เป็นชื่อของตัวเอง ในขณะเดียวกันสังขารก็ไม่ได้ดูสูงวัยขนาดนั้น สวยสะพรั่งแบบผู้ใหญ่ หล่อภูมิฐาน ถ้าดูแลตัวเองดี ๆ ก็ยังเป๊ะปัง ช่างมีความสุข มีความสมบูรณ์ในชีวิต แต่จะมีสักกี่คนที่กำลังอยู่ในช่วงวัยเลข 4 แล้วจะเป็นแบบนี้ หลายคนยังไม่มีครอบครัวด้วยซ้ำ
สำหรับผู้หญิงแล้ว วัยเลข 4 มันอาจเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการแต่งงานและการตัดสินใจที่จะมีลูก ว่ากันตามจริงอ้างอิงเหตุผลทางการแพทย์ ผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไปนี่เป็นวัยที่ไม่ควรจะมีลูกแล้วด้วยซ้ำ คือถ้าอยากจะมีจริง ๆ ก็มีได้แหละแต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะเสี่ยงไม่ปลอดภัยทั้งแม่และเด็ก นั่นทำให้ผู้หญิงหลายคนล้มเลิกความคิดที่จะแต่งงานมีครอบครัว หากอายุตัวเองก้าวเข้าสู่วัยเลข 4 มันอาจได้ไม่คุ้มเสีย
นั่นแหละ สายตาจากคนที่เด็กกว่าอาจมองว่าคนวัยเลข 4 นั้นสมบูรณ์พร้อม ซึ่งมันก็เป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น เชื่อไหมคนวัย 40+ เกินครึ่งยังไม่ได้สัมผัสกับคำว่ามั่นคงเลยสักวินาทีเดียว ยังต้องดิ้นรน ต้องต่อสู้อย่างเหน็ดเหนื่อยไม่ต่างจากคนวัยเลย 2 เลข 3 ผิดกันที่กระดูกกระเดี้ยวกรอบกว่า ลุกก็เริ่มโอย นั่งก็เริ่มโอย หรือแม้แต่เจอกับสภาพสู้ชีวิตแต่ชีวิตสู้กลับ เหมือนกับ 3 สาวในซีรีส์เรื่องนี้ ที่ชีวิตวัยเลข 4 ของพวกเธอไม่หมูแน่ ๆ เพราะเรื่องถูกสปอยล์ไว้ตั้งแต่อีพีแรก ว่าหนึ่งปีหลังจากนั้น หนึ่งในพวกเธอต้องหย่าร้าง หนึ่งคนกลายเป็นแม่ และอีกหนึ่งคนต้องตาย นี่แหละวัยของการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หาใช่วัยที่จะมั่นคงแบบที่ที่เคยคิด
ความรักก็มีวันหมดอายุไม่ต่างจากอาหารกระป๋อง
ว่ากันว่าเพื่อนกันมักจะมีอะไรคล้าย ๆ กัน ในชีวิตจริงก็มีส่วนถูกนะ เราก็บเพื่อนของเรามักจะมีอะไรบางอย่างร่วมกันที่ทำให้เวลาพูดคุยกันหรือเติบโตไปพร้อมกันจึงเข้าอกเข้าใจกันดี ทำให้มิตรภาพมันแน่นแฟ้นมากขึ้น แต่ในซีรีส์เรื่องนี้นี่ผูกเรื่องความคล้ายคลึงกันของชีวิตเพื่อนรัก 3 คนไว้ค่อนข้างชัดเจนมากทีเดียว พวกเธอทั้งหมดเจอปัญหาชีวิตและปัญหาครอบครัวเหมือน ๆ กัน โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจาก “สามี” คนที่พวกเธอเคยรักด้วยหัวใจที่ยึดมั่นว่าเขาจะเป็นคู่ชีวิตที่ดีสำหรับพวกเธอ
แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป อะไร ๆ ก็เปลี่ยน ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ “ใจคน” ผู้หญิง 3 คนต้องรับมือกับ “ใจสามี” ที่เปลี่ยนไป และทำให้พวกเธอต้องเจอกับสถานการณ์แย่ ๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของพวกเธอเลยแม้แต่นิดเดียว
เพื่อนคนแรก จู่ ๆ สามีซึ่งเป็นคนดังก็ประกาศออกสื่อว่ากิ๊กเด็กที่ตนเองกำลังนอกใจเมียไปคั่วด้วยอยู่นั้นคือรักแท้ เขาจึงต้องการจะหย่ากับเมียตามกฎหมายที่อยู่กินกันมา 15 ปีและมีลูกด้วยกัน 1 คน เขาทำทุกอย่างเพื่อจะหย่ากับเธอ ทั้งที่ถ้าย้อนไปเมื่อ 15 ก่อน เขาคนเดียวกันก็ทำทุกอย่างเพื่อที่จะแต่งงานกับเธอ แต่วันนี้ผู้ชายคนนั้นได้ตายจากไปแล้ว มีเพียงแค่เธอที่ยังต้องการรักษาความเป็นครอบครัว พ่อแม่ลูกไว้ให้ดีที่สุด แม้ว่าเธอก็ไม่ได้รักเขาแล้วเหมือนกัน
เพื่อนคนที่สอง สะใภ้ตระกูลเศรษฐี เธอแต่งงานเพราะรัก และต้องการจะทำหน้าที่เมียและแม่ที่ดี แต่สุดท้ายหน้าที่ที่เธอทำได้ดีที่สุดกลับเป็นเพียงลูกสะใภ้แสนดีที่ดูแลแม่ผัวที่นอนป่วยเป็นอัลไซเมอร์อยู่โรงพยาบาลจนตัวเองแทบกระดิกตัวไปไหนไม่ได้ แถมยังมิวายโดนนินทาว่าที่ทำอยู่ก็แค่ละครที่แสดงเป็นลูกสะใภ้แสนดี เพราะหวังสมบัติจากการปรนนิบัติแม่ผัวที่ป่วยใกล้ตาย พี่น้องของสามีเธอก็คิดเช่นนั้น ที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือสามีที่ไม่เคยทำหน้าที่สามีที่ดี แอบไปทำหมันมาโดยไม่บอกกล่าว เธอจึงมีลูกกับเขาไม่ได้อีกต่อไป และล่าสุดเธอคือรายต่อไปที่กำลังโดนขอหย่า
ส่วนเพื่อนคนสุดท้าย เธอแต่งงานกับสามีรูปหล่อที่อดีตเคยเป็นรักแรกของสาวทั้งหมู่บ้าน แต่เมื่อแต่งงานกับเธอ ชีวิตแต่งงานกลับกลายเป็นเรื่องเลวร้าย ถึงอย่างนั้นความดีหนึ่งเดียวของเขาก็ปรากฏหลังจากที่เขาเสียชีวิต คือผลประโยชน์จากเงินประกันชีวิตก้อนโตที่ตกมาถึงเธอที่เขาตายจากไป เธอจึงสามารถอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อนไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ดี เงินก้อนโตนั้นกลับเป็นทุกขลาภ ต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวง เพราะกลัวว่าจะมีคนมาเอาเงินเธอไป และล่าสุดเธอก็ได้ค้นพบความจริงเบื้องหลังการตายของสามี ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอไปตลอดกาล
ชีวิตที่เคยถูกขายฝันว่ามันจะสวยงามดุจเทพนิยาย
“ครั้งหนึ่ง เราก็เคยเชื่อว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว และเชื่อในตอนจบอันสุขสันต์” นั่นคือความคิดของเด็กผู้หญิง 3 คนในวัย 17-18 ที่เพิ่งเรียนอยู่ชั้นมัธยม เพราะพวกเธอโตมากับเทพนิยายที่ลงท้ายด้วยการแต่งงานอันแสนหวานของตัวละครเจ้าชายและเจ้าหญิง ใช้ชีวิตด้วยกันอย่างมีความสุขตราบนานเท่านาน
แต่เมื่อโตมา พวกเธอถึงเพิ่งจะตั้งคำถาม ว่าเจ้าหญิงที่แต่งงานกับเจ้าชายจะอยู่อย่างมีความสุขชั่วนิรันดร์ได้จริง ๆ น่ะเหรอ พวกเธอสันนิษฐานว่าที่เทพนิยายถูกตัดจบลงแค่ Happy Ending นั้น แท้จริงแล้วกวีก็แค่ทนเขียนเรื่องต่อไปไม่ไหวเท่านั้นเอง เพราะหลังจากนั้นมันจะน่ากลัวเกิน มันอาจเปลี่ยนแนวจากเทพนิยายแสนหวานไปเป็นนิยายแนววิปริต สยองขวัญแทน นี่แหละประสบการณ์ชีวิตในวัยเลข 4 “ไม่ต้องมีใครบอกเราก็ตรัสรู้ได้เอง ว่าของแบบนั้นเป็นแค่เรื่องเพ้อฝันที่เกิดขึ้นได้แค่ในละครหรือเทพนิยาย”
ในเวลานี้พวกเธอไม่เชื่ออีกต่อไปแล้วว่าชีวิตหลังแต่งงานคือชีวิตที่จะถูกตัดจบด้วยคำว่า Happy Ending พวกเธอรู้ซึ้งเลยทีเดียวว่าความรักที่สวยงาม ถูกขายฝันมากับเทพนิยายเจ้าหญิงเจ้าชายเท่านั้น เพราะสิ่งที่พวกเธอต้องเจอจริง ๆ มันช่างแตกต่างจากในเทพนิยายหลอกลวง พวกเธอห่างไกลจากคำว่าเจ้าหญิง และแน่นอนว่าสามีของพวกเธอก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับเจ้าชายเลยแม้แต่นิด ในเวลานี้พวกเธอกลับค่อย ๆ กลายร่างเป็นแม่มดต่างหาก ผู้หญิง 3 คนนี้จะไม่ยอมทนทุกข์กับสารพัดเรื่องราวในชีวิตอีกต่อไป แต่พวกเธอจะลุกขึ้นมาฟาดกลับแบบเผ็ด ๆ เน้นความฮาและวายป่วง
ถ้าชีวิตที่สวยงามมันมีได้แค่ในนิยาย ส่วนผู้ชายดี ๆ มีแต่ในละครล่ะก็ พวกเธอก็ขอไม่งมงายอยู่กับเรื่องเพ้อเจ้อแบบนั้นอีกแล้ว เพราะที่ผ่านมาพวกเธอถูกกระทำมาอย่างเลวร้ายเกินคาดคิด จากสามีที่พวกเธอรักยังกลายร่างเป็นศัตรูที่พวกเธอรู้สึกอยากจะฆ่าให้ตายได้เลย ชีวิตดราม่า-ตลกร้าย พวกเธอจะเปลี่ยนมันเป็นแนวสยองขวัญบัดเดี๋ยวนี้ และเปลี่ยร่างพวกเธอเป็นแก๊งสาวแซ่บร้ายแสบทรวง ด้วยมาตรการขั้นสุดคือ คิดอยากจะฆ่าพวกผู้ชายต้นเหตุให้ตาย ๆ ไปซะเลย!
บอกเลยว่าปกติเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบดูซีรีส์แนวตลกร้ายสักเท่าไร คือต่อให้ความฮามันจะเกินพิกัดก็จริง หรือเนื้อเรื่องมันจะน่าลุ้นน่าติดตามแค่ไหน แต่มันจะทำให้เรารู้สึกอึดอัดจนหายใจไม่ออกเสมอกับคำว่า “ตลกร้าย” ฟีลแบบว่าอยากจะขำแต่ก็ขำไม่ออก ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ก็เข้าข่ายเช่นนั้น มันมีความตลก ความน่าดู ความชวนลุ้น ความเอาใจช่วยผู้หญิงด้วยกัน แต่จุดหนึ่งมันก็ทำให้เรารู้สึกน้ำตาคลอ ต้องกลืนก้อนน้ำตาลงคอได้เหมือนกัน ชีวิตของแม่บ้าน 3 คนที่ลุกขึ้นมากลายร่างเป็นแม่มด ถ้าได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ก็จะไม่คิดว่าพวกเธอทำเกินกว่าเหตุหรอก ดีไม่ดีพวกเธอยังทำน้อยไปด้วยซ้ำ ถ้าต้องรับมือกับบรรดาคนรอบตัวที่น่าหยุดหัวขนาดนั้น 🤬