ความสำเร็จอย่างหนึ่งของเหล่า Tech Company ที่ทำให้โลกนี้ได้รู้จักกับโซเชียลมีเดียในรูปแบบต่าง ๆ นั้น คือการทำให้คนทั่วโลก “รับฟังแต่เสียงที่ตนเองอยากฟัง” อยู่แต่ในห้องของเสียงสะท้อน จนทำให้ทุกวันนี้มีอาชีพที่เรียกว่า Influencer เกิดขึ้นและเป็นอาชีพที่ทำรายได้มหาศาล เพราะความเชื่ออันมีต่อ Influencer
จากรายงานของ Statista เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีรายงานตัวเลขของประเทศที่นักกการตลาดต่างอาศัย Influencer ในการสร้างความจดจำให้กับแบรนด์ของตนเอง เพราะคนในยุคนี้เชื่อในการรีวิว จะซื้ออะไรแต่ละครั้งก็ต้องเปิดไปดูรีวิวก่อนจะตัดสินใจซื้อ และเชื่อว่าการรีวิวนั้นเป็นเรื่องจริง เพราะมีการแชร์หรือการใช้จากเพื่อนหรือเพื่อนของเพื่อนที่อยู่ในโลกโซเชียล
ตัวเลขที่ทาง Statista รายงานนั้นพบว่าประเทศที่ประชากรจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากการได้ดูรีวิวก่อนมากเป็นอันดับหนึ่งคือ บราซิล ต่อด้วยจีน และอินเดีย ซึ่งการที่ทั้งสามประเทศมีประชากรใช้อินเทอร์เน็ต เป็นจำนวนมากการดูรีวิว จาก influencer จึงทำให้นักการตลาดต้องใช้ Influencer เป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างความจดจำให้กับแบรนด์ของตนเอง
และที่น่าสนใจมากที่สุดน่าจะเป็นรายงานข่าวจากประเทศจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่หน่วยงานกำกับการดูแลและควบคุมสื่อของทางการจีน (ถ้าในเมืองไทยน่าจะเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ออกกฎในการควบคุม Influencer ที่ต้องรีวิวหรือไลฟ์ในเรื่องเฉพาะทางไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย การแพทย์ หรือยา จะต้องได้รับใบอนุญาตผ่านเกณฑ์ก่อนเท่านั้นจึงจะสามารถรับงานรีวิวสินค้าได้และที่ผ่านมาหน่วยงานที่กำกับดูแลสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ของจีนนั้นได้ออกกฎเพื่อควบคุมคอนเทนต์ในโลกโซเชียลมาแล้วหลายข้อเพื่อไม่ให้เกิดการรับข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาดและพฤติกรรมอันไม่เหมาะสม
ตัดภาพกลับมาที่เมืองไทยความนิยมในการใช้ Influencer เพื่อสร้างความจดจำหรือทำให้เกิด Viral ขึ้นกับแบรนด์จนติดเทรนด์ก็เป็นเครื่องมือที่นักการตลาดทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่นิยมใช้ ค่าตัวของเหล่า Influencer ก็มีให้เลือกหลากหลาย (ผู้เขียนเองเคยเขียนถึงไปแล้วหลายครั้ง) แต่สิ่งที่จะได้รับกลับมาจะเป็น “การสร้างความจดจำ” หรือ “อยากให้คนลืม” จะเป็นไวรัลในทางดีหรือไวรัลในทางร้ายนั้น เรียกว่าต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของนักการตลาดมิใช่น้อย เพราะของแบบนี้ “ตาดีได้ตาร้ายเสีย”
มีภาษิตภาษาฝรั่งเศส อยู่ประโยคหนึ่งที่ผู้เขียนมักจะยกมาใช้บ่อย ๆ เวลาจะดูว่าใครเป็นอย่างไรว่าเอาไว้ว่า “Dis moi qui tu hante je te dirai qui tu es” : (บอกมาสิว่าเธอคบหาคนแบบไหน แล้วฉันจะบอกว่าเธอเป็นคนเช่นไร) ประโยคนี้เป็นสัจธรรมที่ชัดเจนนะคะ ไม่ว่าจะในโลกออฟไลน์หรือออนไลน์ที่ยกขึ้นมาเขียนถึงอีกครั้ง เพราะอยากจะให้นักการตลาดรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ทั้งหลายได้ถามตัวเองก่อนที่จะเลือกใช้ Influencer ดูค่ะ
คนเราเป็นแบบไหน ก็จะดึงดูดคนประเภทเดียวกันเข้าหากัน เช่นเดียวกันกับ Influencer เป็นอย่างไร ผู้ติดตามของเขาก็จะเป็นแบบนั้น ดังนั้น เมื่อจะต้องเลือกใช้เครื่องมือชิ้นนี้เพื่อสร้างความจดจำให้กับแบรนด์ เหล่านักการตลาดคงต้องทำการบ้านกันนิดนึงว่าในการไลฟ์ในการรีวิวแต่ละครั้งนั้นจะมีคนประเภทไหนเข้ามารับชมบ้าง ขณะเดียวก็ต้องตรวจสอบย้อนกลับไปด้วยว่า ที่ผ่านมา Influencer ที่จะเลือกใช้นั้นเคยสร้าง Viral แบบไหนให้กับแบรนด์บ้าง
Influencer คือคนทั่วไปที่อยู่ในสังคมนี่ล่ะค่ะ มีชื่อเสียงขึ้นมาเพราะการสร้าง Content ที่ถูกใจกลุ่มเป้าหมายของเขา ที่สื่อกระแสหลักไม่สามารถทำได้ ดังนั้นวิธีคิดของ Influencer จะต่างจากบริษัทผลิตโฆษณาหรือโปรดักชันเฮาส์ ที่ต้องคอยระมัดระวังในเนื้อหา เพราะมีกฎและข้อกำหนดระบุเอาอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับศิลปินนักร้องนักแสดงที่จะมีต้นสังกัดคอยดูแลตั้งแต่ยังไม่เดบิวต์ จนเดบิวต์ไปแล้วก็ต้องดูแลชื่อเสียง ในขณะที่ Influencer ต้องดูแลตนเองตามวิธีคิดของตนเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดดราม่ารายวัน
เอาเป็นว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว สังคมที่เราอยู่ก็เปลี่ยนไป จะไปต้านความเปลี่ยนแปลงคงเป็นไปไม่ได้ แต่การควบคุมยังพอทำได้ถ้าหน่วยงานเกี่ยวข้องโดยตรง จะจัดการให้เรียบร้อยเหมือนอย่างที่ทางการจีน จัดการกับ Influencer ของตนเองเพราะรู้ดีว่าผู้คนของตนเองก็ต้องเปลี่ยนไปตามกระแสโลก ส่วนบ้านเราจะใช้วิธีการอย่างไรนั้นก็ฝากให้ท่านเจ้ากระทรวง DES ลองลุกขึ้นมาสร้างสรรค์งานดูบ้างน่าจะทำให้เกิดความจดจำกับชื่อของท่านและพรรคไม่มากก็น้อยนะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า