“หัวโบราณ vs หัวสมัยใหม่” คน 2 เจนฯ ที่ต้องใช้ชีวิตในบ้านเดียวกัน

ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย เป็นปัญหาที่พบได้ในทุกสังคม แต่ที่พบว่ามันสร้างปัญหาและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของเรามาก ๆ หลัก ๆ แล้วคือ ในครอบครัวและในสังคมการทำงาน เพราะเราต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องและพัวพันใกล้ชิดด้วยมากที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่บ้านมีญาติผู้ใหญ่ที่ต่างเจเนอเรชันกัน ส่วนในที่ทำงานก็ต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงานต่างวัย ในขณะที่ถ้าเป็นสังคมทั่ว ๆ ไปเรายังพอที่จะหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปข้องเกี่ยวได้ง่ายกว่านี้

แต่ถ้าถามว่าระหว่างคนในบ้านกับคนที่ที่ทำงาน เวลามีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัย สถานการณ์ไหนที่อึดอัดและหลีกเลี่ยงได้ยากกว่ากัน หลายคนแทบจะตอบได้ทันทีว่า มีปัญหากับคนในบ้านนั้นลำบากใจกว่า เพราะส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ในบ้านเราจะมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกัน มีความผูกพันมากกว่า ส่วนเพื่อนร่วมงานนั้นเป็นแค่คนอื่น เมื่อทนอยู่ไม่ได้ก็แค่ลาออก เปลี่ยนงาน แต่การเก็บข้าวเก็บของออกจากบ้านและตัดญาติขาดมิตรกันจะทำได้ยากกว่า

ดังนั้น บ้านใดที่มีญาติผู้ใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุหรือวัยทอง ก็น่าจะเคยประสบปัญหาอย่างหนึ่งคล้าย ๆ กัน คือรู้สึกเหมือนว่าเรากับบรรดาผู้ใหญ่พูดกันคนละเรื่อง พูดภาษาเดียวกันก็จริงแต่ไม่เข้าใจกัน เรางงกับท่าน ท่านก็งงกับเรา การจะคุยอะไรกับผู้ใหญ่เป็นเรื่องยากน่าปวดหัว เพราะฉะนั้น คุยกันดี ๆ ได้ไม่เกิน 5 นาทีก็วงแตกแล้ว

เพราะตัวเราเองกับผู้ใหญ่เกิดมาในยุคสมัยที่ต่างกัน แทบจะแตกต่างกันไปทุกอย่างเลยด้วยซ้ำ การเลี้ยงดู ปัจจัยทางสังคม ทำให้ลักษณะของการเติบโตไม่เหมือนกัน ของใหม่เมื่อหลายสิบปีก่อนกลายเป็นของเก่าที่สุดจะล้าสมัยในตอนนี้ เพราะมันมีของใหม่เข้ามาแทนที่ ทำให้ระบบความคิด ค่านิยม และกรอบความเชื่อแตกต่างกันไปด้วย เมื่อคน 2 ยุคสมัยมาเจอกันปัญหาก็อาจจะตามมา เด็กเรียกผู้ใหญ่ว่า “คนหัวโบราณ” ส่วนผู้ใหญ่ก็ดูแคลนเด็ก “พวกหัวสมัยใหม่” เมื่อมีเรื่องของความเชื่อเก่าความคิดใหม่เข้ามาอยู่ในวงสนทนา เป็นชนวนเหตุแห่งสงครามได้ไม่ยากเลย

คนสองวัยที่แตกต่างกันทุกอย่าง จะคุยกันรู้เรื่องได้อย่างไร

การใช้ชีวิตของคน “หัวโบราณ” และคน “หัวสมัยใหม่” ที่ต่างฝ่ายต่างมีแนวคิดและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ภายใต้ทิฐิ เหตุผล และอคติต่าง ๆ ที่เชื่อว่าความคิดของตนนั้นดีกว่าและเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ยิ่งทำให้คนสองวัยปรับจูนเข้าหากันได้ยาก รุ่นใหญ่เชื่อว่าตนเองถูกเสมอและทำดีแล้ว เพราะเป็นรุ่นบุกเบิกและสานต่อให้ทุกอย่างดำเนินมาได้ถึงปัจจุบัน ที่สำคัญคือเป็นคนที่เลี้ยงคนรุ่นใหม่ ๆ ให้เติบโตมาด้วย ทำมาตั้งนานไม่เห็นมีปัญหา ฉะนั้นจะไม่ดีได้อย่างไร ในทางกลับกัน รุ่นใหม่กลับรู้สึกว่ามันมีหนทางใหม่ ๆ ที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่านี้ โลกมาตั้งไกลแต่ยังย่ำอยู่กับที่ มันถึงไม่เจริญไปมากกว่านี้แล้ว อะไรที่ล้าหลังก็ถึงเวลาที่ต้องปรับ ต้องเปลี่ยน ต้องเลิกเสียที

เมื่อคนสองวัยต้องใช้ชีวิตในบ้านเดียวกัน และเพื่อให้มีการเปิดใจเรียนรู้กันระหว่างคนทั้งคู่ อาจต้องใช้หลักการที่ว่า “เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ แต่เราเริ่มปรับที่ตนเองได้” โดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องเลิกคาดหวังอย่างเด็ดขาดว่าตัวเองจะไปดัดไม้แก่ได้ ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่มีความมั่นใจสูง และอีโก้ก็สูงด้วย พวกเขาจะถือว่าตนเองแก่กว่า มากประสบการณ์กว่า เด็กเมื่อวานซืนด้อยกว่าทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ และการหงายการ์ดเด็ดว่าเป็นคนเลี้ยงเรามา พวกเขาอาจจะไม่เปิดใจฟังผู้น้อยเลย

การพยายามเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่พวกเขาเชื่อมานานมาก ๆ นั้นเหนื่อยเปล่า อย่าพยายามจะไปเปลี่ยนสิ่งที่พวกเขาคิดหรือเชื่อมาทั้งชีวิต คิดง่าย ๆ แค่ว่าระหว่างทางที่ใช้ชีวิตมาจนถึงอายุขนาดนี้ ประสบการณ์ก็มาก เจอโลกมาเยอะ ถ้าเขาจะเปลี่ยนคงเปลี่ยนไปนานแล้ว แต่ให้ลองทำให้มันเป็นเรื่องที่ท้าทาย ยื่นเงื่อนไข เพื่อให้พวกเขาลองพิสูจน์ด้วยตนเอง ว่าความคิดความเชื่อใหม่ ๆ ไม่ใช่เรื่องแย่ เมื่อพวกเขาพิสูจน์และประจักษ์ด้วยตัวเองแล้ว พวกเขาจะตัดสินใจเองว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน แรก ๆ อาจจะมีวางฟอร์มหน่อย ๆ แต่ถ้าเห็นว่าวิธีใหม่มันดีกว่า เขาก็จะแอบ ๆ ทำเรื่อย ๆ คนรุ่นใหม่ก็ไม่ต้องไปเหน็บแนมอะไร คิดเสียว่ามันเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่จะยอมรับคนที่เด็กกว่าตรง ๆ

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ คือ วิธีการสื่อสาร หลายคนจะทราบดีว่าการอธิบายของเราจะเท่ากับการเถียงเสมอไป เมื่อมีอารมณ์ด้วยแล้วล่ะก็ยิ่งพูดกันยาก เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะฟังให้มากกว่าพูด เมื่อเห็นว่าอีกฝ่ายเริ่มใช้น้ำเสียงแข็ง ๆ เริ่มมีอาการโวยวาย ให้หยุดพูด ปล่อยให้อีกฝ่ายพูดไปจนพอใจ เดี๋ยวเหนื่อยก็หยุดเอง ถ้าไม่สำคัญ หูทวนลมไปเลยก็ดี อย่าเก็มมาเป็นอารมณ์ ไม่มีประโยชน์ที่จะไปเถียงเพื่อเอาชนะ หรือทำให้เขาอคติกับเรามากขึ้น เพราะเขาอาจปิดประตูใจใส่เราเลยก็ได้ พยายามไม่ใช้วิธีต่อต้าน ให้ตามน้ำไปก่อนแล้วค่อย ๆ ช่วยเหลือ

กลยุทธ์แบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นฝ่ายยอม แต่เราไม่จำเป็นต้องท้าชน พุ่งเข้าใส่ด้วยการหัวดื้อ หัวแข็งเสมอไป หากการใช้ไม้อ่อน หรือเอาน้ำเย็นเข้าลูบมันจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะกับคนที่ต่างวัยกันมาก ๆ เราต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเขาก่อน ซึ่งจะง่ายกว่ามากที่เขาจะเปิดใจรับฟัง การที่เขาจะเปิดใจรับฟังใครสักคน ก็แปลว่าเขาต้องเชื่อถือคนผู้นั้นในระดับหนึ่งแล้วว่าสามารถแนะนำอะไรได้ มันจึงจำเป็นที่เราต้องสร้างความน่าเชื่อถือก่อน ใช้วิธีพูดแบบฉลาด จับจุดอ่อนแล้วค่อย ๆ ตะล่อม จริงจังแต่ไม่ก้าวร้าว สุขภาพจิตดีกว่า แถมไม่เสียแรงเปล่าด้วย

การที่คนสองวัยจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่มีปัญหาเรื่องช่องว่าระหว่างมาเป็นเรื่องน่ารำคาญที่สร้างความลำบากใจ ต้องค่อย ๆ ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยิ่งสังคมไทยกำลังจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น ในขณะที่คนรุ่นใหม่ ๆ ก็เติบโตขึ้นมาเพิ่มทุกวัน การหาทางออกร่วมกันด้วยวิธีที่ประนีประนอมมากที่สุดน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แม้ว่าจะคิดจะเชื่อไม่เหมือนกัน แต่ถ้ามันไม่ได้สร้างปัญหาในการอยู่ร่วมกัน ก็ไม่เห็นต้องเดือดร้อนอะไร อีกทั้ง อย่าลืมถอดบทเรียน มองเป็นกรณีตัวอย่างว่าในวันที่คนรุ่นใหม่อย่างเรากลายเป็นคนแก่ และมีคนรุ่นที่ใหม่กว่าขึ้นมาแทนที่ เราจะเป็นคนแก่แบบที่โดนเด็กค่อนขอดว่าหัวโบราณเหมือนกันหรือเปล่า