การทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือแม้กระทั่งประกันโรคร้าย สำหรับหลาย ๆ คนคิดว่าเป็นเรื่องรอง ๆ อันดับหลัง ๆ หากมีเงินเหลือถึงคิดทำประกัน ซึ่งความจริงแล้วการทำประกันสำคัญมาก ๆ เพราะด้วยสถิติการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ที่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นทุก ๆ ปี เราจึงควรมีการวางแผนการเงินเพื่อวางแผนการรักษาของเราในอนาคตให้มาก เพื่อลดความเสี่ยงในการที่ต้องเอาเงินออมที่มีมาจ่ายกับค่ารักษาที่เราไม่คาดคิด เพราะค่ารักษาบางอย่างอาจจะทำให้เงินที่ออมมาหลายปีหมดได้ภายในไม่กี่วัน!!!
1. ศึกษาข้อมูลของแต่ละโรงพยาบาลอยู่เสมอ
ทั้งความเชี่ยวชาญที่แต่ละโรงพยาบาลมี รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย เพื่อเวลาที่เจ็บป่วยเราสามารถกำหนดงบประมาณในใจได้เบื้องต้น เเละเลือกรักษากับโรงพยาบาลที่เหมาะสม
ด้วยโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันมีให้เลือกหลายเครือ และแต่ละเครือก็มีเรตค่ารักษาที่ไม่เท่ากัน ถ้าเราอยากได้รับการรักษาที่ดีที่สุด เพื่อสุขภาพร่างกายที่จะมาปกติได้มากที่สุด ก็อาจจะทำให้กระทบสุขภาพทางการเงินส่วนตัว หากไม่ได้มีการวางแผนเรื่องความเสี่ยงในเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน
2. ตรวจสอบสวัสดิการที่มีอยู่ ทั้งจากของที่ทำงาน ประกันสังคม ว่าเรามีงบประมาณค่าห้องพักเท่าไหร่
คนที่ทำงานบริษัทเอกชนทั่วไปก็มักจะมีประกันกลุ่มที่ระบุงบประมาณค่ารักษา ค่าห้อง ค่าพยาบาล ค่าอาหารหากในกรณีต้องเป็นผู้ป่วยใน หรือสำหรับคนที่ทำงานข้าราขการ ก็จะมีสวัสดิการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐที่สามารถเบิกได้เกือบทั้งหมดเช่นกัน แต่หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ต้องเข้ารักษาตัวด่วนในโรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ที่สุด ก็อาจมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเบิกค่ารักษาได้เต็มค่าใช้จ่ายจริง ดังนั้น ก็ควรมีการทำประกันเพิ่มเติมเพื่อครอบคลุมค่าห้อง เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายจริง ถ้าเกิดเหตุเจ็บป่วย
3. วางแผนทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม
เราควรวางแผนกันเงินส่วนหนึ่งสำหรับซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม โดยในปัจจุบันประกันสุขภาพมักจะมีให้เลือกมากมาย เป็นแพ็กเกจ รายการเฉพาะ หากเรามีสวัสดิการอยู่แล้ว อาจจะเลือกทำประกันสุขภาพเพิ่มในส่วนของค่าห้อง ค่าผ่าตัด หรือโรคร้ายแรง เลือกเบี้ยและความคุ้มครองตามกำลัง
และอย่าลืมว่า “ค่ารักษาพยาบาลนั้นปรับเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ” ทำให้ประกันสุขภาพที่เราวางแผนทำไว้ อาจจะไม่ครอบคลุมค่ารักษาในอนาคตได้ เราจึงควรทบทวนกรมธรรม์ที่ทำไว้อยู่เสมอว่าความคุ้มครองที่ทำไว้ ยังเหมาะสมกับค่ารักษาอยู่หรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น *ค่ารักษาสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรงพยาบาลเอกชนชั้น 1 ของประเทศ มีค่ารักษาเพิ่มขึ้น 33% ต่อ 5 ปี โดยในปี 2552 ค่ารักษาเฉลี่ยอยู่ที่ 257,783 บาท และในปี 2557 ค่ารักษาเฉลี่ยอยู่ที่ 342,666 บาท
ค่ารักษาสำหรับโรคไส้ติ่งอักเสบ ในปี 2552 ค่ารักษาเฉลี่ยอยู่ที่ 57,649 บาท ปี 2557 เพิ่มเป็น 81,406 บาท เทียบเป็นสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 41% ใน 5 ปี
ค่ารักษาสำหรับโรคหวัด ถือเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนและมักจะหายเองได้ การรักษาจึงเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ในปี 2552 ค่ารักษาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,053 บาท ปี 2557 เพิ่มเป็น 1,605 บาท ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น 52%
(*ข้อมูลการศึกษาจากคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)
เห็นตัวเลขการเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาลในแต่ละปี ก็ต้องวางแผนสุขภาพการเงินของเราให้พร้อมรับกับค่ารักษาสุขภาพร่างกายนี่คือเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย