หลังจากอิหร่านตัดสินใจจัดวิ่งมาราธอนระดับนานาชาติในกรุงเตะหะรานเป็นครั้งแรก ในชื่อ I run Iran ดูเหมือนสิ่งที่ได้รับการจับตามองมากที่สุด หนีไม่พ้นเรื่องการอนุญาตให้ “ผู้หญิง” เข้าร่วมการแข่งขันได้เป็นครั้งแรก
การแข่งขันดังกล่าว มีชาวอิหร่านลงทะเบียนเข้าร่วม 600 คน ในจำนวนนั้นมีผู้หญิงด้วย 156 คน ขณะที่นักวิ่งต่างชาติลงทะเบียนเข้าร่วม 160 ราย ในจำนวนนั้นเป็นผู้หญิง 50 คน แต่ก่อนหน้าการแข่งขันแค่ 2 วัน เพิ่งมีการประกาศว่า ผู้หญิงที่เข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งนี้ จะไม่ได้รับอนุญาตให้วิ่งตามเส้นทางที่ฝ่ายจัดการแข่งขันวางไว้ แต่ถูกจำกัดให้วิ่งเฉพาะใน Azadi Stadium ซึ่งเป็นสนามในร่มแทน
โดย ฮามิด ซาอาดัท โฆษกของสหพันธ์กรีฑาอิหร่าน เผยว่า “เราจัดการแข่งขันในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม จึงต้องควบคุมรายละเอียดทุกอย่าง โดยไม่อาจละเลยข้อห้ามสำหรับผู้หญิงได้” นั่นจึงทำให้ I run Iran ที่มีขึ้นในวันนี้ ไม่มีภาพประวัติศาสตร์ให้ทั่วโลกได้จารึกอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แต่น่าจะเป็นวิ่งมาราธอนครั้งแรกของโลกที่ถูกบันทึกไว้ว่าแยกการแข่งขัน “ชาย-หญิง” เสียมากกว่า
ทั้งนี้ กฎหมายของอิหร่าน ค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องการแข่งขันกีฬากับสตรี โดยไม่ให้เพศหญิงและเพศชายแข่งกีฬาร่วมกัน รวมถึงห้ามผู้หญิงชมการแข่งขันที่นักกีฬาชายแข่งด้วย ขณะที่นักกีฬาหญิงเอง ก็จำเป็นต้องสวมผ้าคลุมศีรษะ หรือฮิญาบ รวมถึงต้องใส่ชุดแข่งที่ปกปิดส่วนแขนและขาด้วย
ที่มา : iranhumanrights.org