สร้างความฮือฮาในตลาดรถยนต์บ้านเราได้อีกครั้งครับ สำหรับค่ายรถ MG จากการเปิดตัว MG5 เมื่อสัปดาห์ก่อน พร้อมเคาะราคารถระดับคอมแพ็กคาร์สู้กับรถอีโคคาร์ในตลาดอย่างหน้าตาเฉย
เอาจริง ๆ แพลตฟอร์มของ MG5 ที่ปัจจุบันเข้าสู่เจเนอเรชันที่ 2 เทียบเท่ากับรถระดับโตโยต้า อัลติส, ฮอนด้า ซีวิค และมาสด้า 3 ได้เลยนะครับ แต่แผนการตลาดที่พวกเขาใช้ได้ผลมาตั้งแต่ MG ZS ก็คือทำราคาถูกกว่าเพื่อน และเน้นออปชัน
ทำให้ราคาที่เปิดออกมาทั้ง 3 รุ่นย่อย เริ่มต้นที่ 5.59 แสน ไปจนถึงรุ่นท็อปสุด 6.89 แสนบาทนั้น กลายเป็นราคาที่ลงไปแข่งกับรถแพลทฟอร์ม ซับ-คอมแพ็ก (ที่ช่วงหลังในบ้านเราลดความจุเครื่องยนต์มาเป็นอีโคคาร์) ได้ทุกยี่ห้อ!
อย่างไรก็ดีหากนึกถึงรถยี่ห้อนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากระแสในโลกออนไลน์ต่างตั้งฉายาให้ว่า “ขวัญใจรถยก” แทนที่ ฟอร์ด และ เชฟโรเลต ไปแล้ว รวมถึงยังมีกระแสทั้งแซวทั้งแซะเรื่อยมา โดยเฉพาะคอมเมนต์ในสื่อโซเชียล
ถ้าเปรียบเป็นคน MG ก็เหมือนถูกบูลลี่เรื่อยมาครับ แล้วเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? แน่นอนว่านี่คือแบรนด์ใหม่ที่เปิดตัวในบ้านเราไม่ถึง 10 ปี ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นที่จับตามอง ที่สำคัญปัญหาดันเยอะเสียด้วยสิครับ
อีกหนึ่งประเด็นใหญ่เลยคือภาพลักษณ์ ที่แม้จะเป็นยี่ห้อที่มีต้นกำเนิดจากอังกฤษอย่าง Morris Garage แต่ถูกบริหารโดยกลุ่มทุนจีน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทุกคนมองรถยี่ห้อนี้เป็น “รถจีน” นี่ยังไม่รวมถึงบริษัทนี่นำเข้ามาทำตลาดในไทยนะครับ
ลำพังรถจากประเทศเกาหลีใต้ก็ว่าแจ้งเกิดลำบากแล้ว แล้วยิ่งเป็นรถจีน ไม่ต้องสืบครับ พอรถแต่ละคันมีปัญหาซึ่งเป็น defect มาจากโรงงาน ก็ยิ่งทำให้กลายเป็นจุดด้อยที่ถูกบูลลี่มากขึ้นไปอีก
อย่าง MG5 ที่เพิ่งเปิดตัวไป ก็มีเสียงแซะว่า ราคาถูกแบบนี้รวมค่ารถยกหรือยัง? หรือถูกเปรียบว่าเป็นรถก๊อปปี้ เบนซ์ CLA200 ขณะที่บางเพจเปรียบเทียบกับ วัคซีนซิโนแวค ที่ประสิทธิภาพต่ำสุดในรุ่นเลยก็มี
งานนี้หากผู้บริหาร MG จะมองว่าแผนการดัมพ์ราคาแล้วทำยอดขายได้ทะลุเป้า คือการประสบความสำเร็จเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าอาจจะอยู่ได้ไม่ยาวนะครับ หากไม่สามารถลดปัญหา defect ในรถรุ่นใหม่ลดลงได้
แต่ถ้าทำได้ไปยาวแน่นอนครับ และกระแสบูลลี่ก็จะค่อย ๆ จางหายไปเอง