“Ever tried. Ever failed. No matter. Try Again. Fail again. Fail better.” (พยามยามมากี่ครั้ง พ่ายแพ้มากี่หน ไม่เห็นเป็นไร พยายามอีกครั้ง แพ้อีกครั้ง แต่แพ้ครั้งนี้ต้องดีกว่าเดิม)
ประโยคที่ถูกสักอยู่บนแขนของ สตานิสลาส (สแตน) วาวรินก้า นักเทนนิสชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่ต้องตกอยู่ภายใต้เงาแห่งความยิ่งใหญ่ของโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ในช่วงเวลานั้น สแตน ต้องกล้ำกลืนกับสิ่งที่หลายคนตีราคาให้เขาว่าเป็นได้เพียง Second Best (พระรอง) ต่อจากเฟเดอเรอร์ เป็นความรู้สึกที่ทำให้เจ้าตัวเคยคิดจะอำลาวงการเทนนิส จนกระทั่งได้พบข้อความดังกล่าว และสักไว้บนแขนเพื่อคอยกระตุ้นตัวเอง
จังหวะเวลาในชีวิตคนเรานั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าจะอาศัยประสบการณ์ สัญชาตญาณ และความอดทน มาต่อสู้กับความรู้สึกท้อถอยได้แค่ไหน “สแตน” ใช้ทั้งสามอย่างมารวมกัน เขาอดทนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากสนามการแข่งขันอย่างหนัก จนถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมชื่อของ “สแตน” ก็ถูกสลักลงบนถ้วยแชมป์แกรนด์สแลม อย่าง ออสเตรเลี่ยน โอเพ่น เฟรนช์ โอเพ่น และยูเอส โอเพ่น
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ สแตน ไม่ใช่เรื่องของโชคดวง ไม่ใช่ลิขิตของโชคชะตา หากแต่เป็นตัวเขาที่เรียนรู้ทุกครั้งที่พ่ายแพ้ เรียนรู้ว่าการพ่ายแพ้แต่ละครั้งนั้นมีความผิดพลาดอะไรบ้างที่ต้องกลับไปแก้ไข เขาไม่รีบร้อนที่จะวิ่งหาความสำเร็จ หากแต่รอจังหวะที่เหมาะสม จังหวะที่เมื่อลงสนามไปแล้วจะไม่รู้สึกกดดันตนเอง ไม่แบกความหวังเอาไว้บนบ่าว่าต้องเอาชนะให้ได้ เป็น สตานิสลาส วาวรินก้า ที่เล่นเทนนิสด้วยความกระหายที่จะเล่น และพิสูจน์ผลงานแบบรอบต่อรอบ
เชื่อหรือไม่ว่าคุณจะรู้สึกถึงจังหวะที่เหมาะสมแบบ “สแตน” ได้เช่นกัน ถ้าจังหวะเวลานั้นมันเป็นของคุณจริง ๆ คุณจะลงมือทำทุกอย่างด้วยความรอบคอบ คุณมีประสบการณ์ในอดีตที่นำกลับมาเป็นแต้มต่อในปัจจุบัน คุณรู้ว่าจังหวะไหนควรถอยหรือจังหวะไหนควรบุก คุณไม่ได้คาดหวังถึงการพิชิตชัย แต่คุณสนุกกับการลงมือทำและแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ ทั้งหมดคือสัญญาณที่บอกว่า คุณกำลังอยู่ใน “จังหวะที่สมบูรณ์แบบ” เช่นเดียวกับ “สแตน”
ที่หยิบเอาเรื่องของ “สแตน” มาเล่าให้คุณผู้อ่านได้อ่านกันอีกครั้ง (จากที่เคยเขียนถึงเมื่อนานมาแล้ว) ส่วนหนึ่งเพราะเราต่างอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ของโรคระบาด หลายคนสูญเสียงาน หลายคนสูญเสียกิจการ และนับเป็นการสูญเสียโดยไม่ตั้งตัว ไม่เต็มใจ ความพ่ายแพ้นั้นทำให้หลายคนรู้สึกโกรธแค้นและอยากหาที่ระบาย
ซึ่งก็หนีไม่พ้นโซเชียลมีเดีย เราได้เห็นข้อความระบายความอัดอั้นตันใจอยู่เต็มหน้าฟีดในทุกแพลตฟอร์ม เป็นอารมณ์ที่ผู้เขียนเองเข้าใจ แต่ก็มีคำถามที่อยากจะถามย้อนกลับไปว่า “วิธีการแบบนั้น ทำให้คุณสบายใจขึ้นหรือไม่ ทำให้สิ่งที่คุณต้องเผชิญอยู่ดีขึ้นหรือเปล่า” ถ้าคำตอบคือ “ไม่” เช่นนั้นเราหันกลับมาพิจารณาความพ่ายแพ้ของตนเองในครั้งนี้กันดีไหม
พิจารณาว่าเราพ่ายแพ้เพราะอะไร เราได้ใส่ความสามารถของเราลงไปอย่างเต็มที่หรือยัง เราลงทุนในช่วงเวลาที่ถูกต้องไหม หรือเราเชื่อแต่เสียงที่อยู่ในหัวตัวเองจนละเลยที่จะพิจารณาเหตุปัจจัยรอบด้าน เราได้พยายามปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นกับยุคสมัยแค่ไหน หรือเราได้แต่นั่งดูและรอคอยความหวังหรือความช่วยเหลือ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังค่ะ เพราะคุณต้องเอาประสบการณ์และความพ่ายแพ้ในครั้งนี้เพื่อนำกลับไปสู้อีกครั้ง ในโลกหลังโควิด-19 ที่จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
เอาเข้าจริงความพ่ายแพ้ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายชนิดที่คุณต้องด้อยค่าตนเอง มองในอีกมุม คนที่พ่ายแพ้คือคนที่ลุกขึ้นมาสู้และกล้าพอที่จะลงสนาม ดีกว่าพวกที่ไม่ทำอะไรเลยเพราะกลัวที่จะแพ้ เหนืออื่นใด ความพ่ายแพ้คือประสบการณ์ชั้นดีที่จะทำให้คุณได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดของตนเอง ลดอีโก้ที่เคยมีอยู่ล้นปรี่ และถึงแม้ว่าความพ่ายแพ้จะส่งความรู้สึกเจ็บปวด สร้างแผลเป็นในใจที่ไม่มีวันจางหาย
แต่วันหนึ่งเมื่อคุณกลายมาเป็น ผู้ชนะบ้าง คุณจะไม่เสพติดความรู้สึกของผู้ชนะจนเสียแต้มต่อของตนเอง เพราะบทเรียนที่ผ่านมาทำให้คุณรู้ว่าจังหวะเวลาไหนที่จะเป็นของคุณ และจังหวะเวลาไหนที่คุณควรจะถอยหลังเพื่อตั้งหลัก และถึงแม้จะแพ้อีกครั้ง คุณก็จะรู้ด้วยตัวคุณเองว่า ความพ่ายแพ้ในรอบนี้เป็นความพ่ายแพ้ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ