วิธีปฏิเสธเพื่อนร่วมงานจอมตื๊อให้เลี้ยงนั่นเลี้ยงนี่

จริง ๆ แล้ว ในสังคมการทำงาน ทั้งเพื่อน (ร่วมงาน) และเงิน ต่างก็มีความสำคัญพอ ๆ กัน เราไม่สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใครเลย แล้วเราก็ทำงานเพื่อให้มีเงินสำหรับการดำรงชีวิตในแต่ละวัน เพราะฉะนั้น สมดุลของเพื่อนร่วมงานและเงินจึงต้องไม่ถูกถ่วงไปที่ด้านใดด้านหนึ่ง

แต่การเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมงาน แน่นอนว่าต้องใช้เงิน อย่างการร่วมกันกินอาหารมื้อแพง ๆ บ้างตามโอกาสพิเศษ การนัดกันสังสรรค์เฮฮาหลังเลิกงานนาน ๆ ครั้ง ลำพังการต้องจ่ายเงินในโอกาสพิเศษแบบนี้ก็เกินจากงบการเงินที่วางแผนไว้ในแต่ละวันแล้ว และยิ่งถ้าเจอเพื่อนร่วมงานประเภท “มื้อนี้เลี้ยงหน่อยนะ” ตื๊อไม่เลิก ยิ่งไปไม่เป็นหนักกว่าเดิมอีก

เพราะต้องยอมรับมีเพื่อนร่วมงานประเภทนี้บางคนก็เห็นแก่ตัวเกินเยียวยา คิดจะเอาแต่ได้ และไม่มีความเกรงใจเอาเสียเลย แรก ๆ ก็คิดว่าแค่พูดเล่น แต่สุดท้ายกลับจริงจัง นิสัยเดิมเกือบทุกครั้ง ที่ยืนยันจะให้เราเลี้ยงให้ได้ แบบนี้ไม่ได้แน่ ไม่ยุติธรรมเลยที่เราต้องเ๗ียดเงินส่วนตัวมาเลี้ยงเพื่อนร่วมงานจอมเอาเปรียบแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง

ในเมื่อเรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร เราหลาย ๆ คนไม่ได้ใจดีเรื่องเงินเหมือนกับหน้าตา แล้วเราจะมีวิธีปฏิเสธเพื่อนร่วมงานพวกนี้ได้อย่างไรดี แบบที่ไม่ต้องเสียทั้งเงิน ไม่เสียทั้งเพื่อนร่วม (ทำ) งาน และไม่เสียบรรยากาศในออฟฟิศ

ตั้งเงื่อนไขว่าต้องหารกันจ่ายเท่านั้น

ต้องกล้าพูดให้ชัดเจนตั้งแต่ถูกเอ่ยปากชวน ว่าเงื่อนไขในการไปสังสรรค์ในวันนี้ คือ “หารกัน” หรือ “ต่างคนต่างจ่ายของใครของมัน” เท่านั้น ฉันจะไม่ยอมออกเงินจ่ายคนเดียวแน่ ๆ แต่ถ้าจะหาร แนะนำให้ระวังพวกที่ไหนก็ต้องจ่ายแล้ว จึงเอาแต่กอบโกยจนคนอื่น ๆ ในวงกินไม่ทัน และพวกที่อ้างเหตุผลหน้างานว่าลืมเอกกระเป๋าเงินมา หรือลืมกดเงินสดมาด้วย คนพวกนี้หาช่องว่างอยู่ และยิ่งถ้าเป็นการไปสังสรรค์กันครั้งแรก อย่าหลวมตัวเลี้ยงใครเด็ดขาด รับรองได้เลยว่าจะต้องมีครั้งต่อ ๆ ไปตามมาแน่นอน

หาเรื่องไม่ไปด้วย

เกือบทุกออฟฟิศนั่นแหละ ที่มักจะมีการรวมตัวเป็นสมาคมกันเกือบทุกเย็น หมูกระทะเอย ชาบูเอย วงแอลกอฮอล์เอย ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะมีการเสริมสร้างความกลมเกลียวแบบนี้ทุกวัน แต่ถ้าลางสังหรณ์ไม่ดีว่าอาจจะกลายเป็นผู้เสียทรัพย์แน่ ๆ ให้รีบหาทางชิ่งโดยด่วน มีเหตุผลสารพัดให้ยกขึ้นมาอ้างเพื่อขอแยกตัวออกมา อย่ายอมแพ้ หรือยอมไปเพื่อตัดรำคาญ รำคาญก็ทนเอา จำให้ขึ้นใจว่าถ้าเราใจแข็งเสียอย่าง ใครก็มาบังคับลากเราไปด้วยไม่ได้ เพราะเพื่อนร่วมงานประเภทนี้จะหาเรื่องมาลากเราไปเลี้ยงได้ตลอด ซึ่งถ้าเจอเราชิ่งบ่อย ๆ ก็อาจจะพอรู้ตัวว่าเลิกใช้มุกนี้เถอะ

ปฏิเสธทีเล่นทีจริง แต่ยังถนอมน้ำใจ

ถึงจะตั้งหน้าตั้งตาปฏิเสธเท่าไร แต่การทำงานก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่ดี ดังนั้น ควรเลือกวิธีพูดอย่างประนีประนอมและชาญฉลาดที่สุด เราไม่จำเป็นหยาบคาย แต่ก็ต้องไม่หัวอ่อนยอมง่าย ๆ ด้วย คนพวกนี้กล้าขอให้เราเลี้ยงเพราะรู้ว่าเราจะยอม ถ้าไม่อยากเผชิญปัญหาทางการเงินแบบนี้ ก็ต้องพูดกับเขาตรง ๆ หรือจะแบบทีเล่นทีจริง (แต่จริงจัง) ก็ได้ ไม่ต้องเป็นคนใจดีเพื่อหวังสร้างมิตรภาพกับคนที่ไม่เกรงใจและเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียวหรอก คนประเภทนี้ดูง่าย สังเกตได้จากคำพูดคำจาและบุคลิกก็พอรู้ ไม่ต้องเสียดายความไม่สนิทสนม อย่างไรก็แค่ทำงานด้วยกันเท่านั้น

อ้างเรื่องเงิน เธอไม่มี ฉันก็ไม่มีจะเลี้ยงใครเหมือนกัน

เพื่อนร่วมงานประเภทกินเสร็จแล้ว (กินของแพงและกินเยอะด้วย) ชอบใช้มุกลืมเอากระเป๋าเงินมา ไม่ก็ไม่ได้กดเงินสดมา ออกให้ก่อนได้ไหม แต่จากนั้นก็ไม่รู้เมื่อไรที่จะได้เงินคืน พอทวงก็โวยวายว่าเราไม่มีน้ำใจ วิธีแก้คือ ก่อนออกมาให้พวกเขาเช็กว่าเอากระเป๋าเงินมาด้วยไหม หยิบให้เราดูเลย มีเงินสดพอหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็ให้เขาโอนมาแล้วค่อยให้เงินสดไป จากนั้นก็แอบเทศน์พอหอมปากหอมคอว่าขอโทษที่ไม่เลี้ยง เราเองก็ไม่มีเงินถุงเงินถังอะไร แต่ถ้ายังดันทุรังจะให้เราเลี้ยงให้ได้ ก็บอกไปว่าเราก็ไม่มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกินละกัน!

อย่าใจอ่อนเด็ดขาด

สารพัดวิธีข้างต้นจะได้ผล ก็ต่อเมื่อเราใจแข็งและเด็ดขาดพอ อย่าหลงกลใจอ่อนเด็ดขาด เพราะถ้ามีครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง สาม สี่ ก็จะตามมาจนได้ การแสดงน้ำใจเป็นเรื่องดี แต่ไม่เหมาะกับคนชอบเอาเปรียบ ต้องทำให้พวกเขารู้ว่าเราพูดคำไหนคำนั้น จะไม่เลี้ยงใครพร่ำเพรื่อ และจะพยายามไม่ให้ใครมาเลี้ยง ไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบหรือเอาเปรียบใคร ถ้าคิดจะเดินทางนี้แล้วก็ต้องมุ่งมั่นและแน่วแน่ ถ้าโดนตื๊อ ปฏิเสธเท่านั้นที่ครองโลก แต่ถ้าเพื่อนร่วมงานคนไหนที่เรามั่นใจว่าเขาจะไม่เอาเปรียบเรา เราก็สามารถมีน้ำใจกับเขาได้ตามโอกาสนะ อย่างไรก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน