สูบบุหรี่ต้องระวัง! “ปอดเรื้อรัง” ทำเสี่ยงเสียชีวิตหากติดโควิด-19

จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 นอกจาก 5 โรคประจำตัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิต อย่าง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อ้วน  ไตเรื้อรัง  และไขมันในเส้นเลือดสูงแล้ว ผู้ป่วยด้วยโรค “ปอดเรื้อรัง” ก็มีความเสี่ยงสูงในการเสียชีวิตด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ โรคปอดเรื้อรังมีความเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด -19 มากกว่าคนปกติ 5-14 เท่า และเมื่อมีอาการป่วยมักจะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จนเกิดโรคเรื้อรัง

บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่าบุหรี่มวน

อย่างที่ทราบกันว่าบุหรี่ประกอบไปด้วยสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดที่ส่งผลต่อสมองและระบบประสาท และสารดังกล่าวสามารถดูดซึมผ่านทางเนื้อเยื่อผิวหนัง เยื่อเมือกภายในจมูกและปาก ซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปยังปอดได้ อีกทั้งผู้ที่ได้รับสารนิโคตินเข้าไปในร่างกาย อาจมีความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น มีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หายใจถี่ขึ้น หรือน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้

ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งคนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่ามีอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่มวนนั้น กลับมีอันตรายมากกว่า  เพราะมีปริมาณสารนิโคตินมากกว่า เนื่องจากบุหรี่มวนมีปริมาณนิโคติน 1 มิลลิกรัม แต่น้ำยาที่ใช้เติมบุหรี่ไฟฟ้า 1 ซีซี มีปริมาณนิโคตินสูงถึง 180 มิลลิกรัม จึงสูงกว่าบุหรี่มวนถึง 180 เท่า

ปอดเรื้อรังเกิดจากสูบบุหรี่มากที่สุด

การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง หรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง เนื่องจากในควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด สารและแก๊สเหล่านี้ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดลมและถุงลม จนนำไปสู่การอักเสบเรื้อรัง และทำให้ปอดเสื่อมสมรรถภาพในที่สุด

ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานานจึงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง แม้ไม่ได้สูบก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน

ปอดเรื้อรั้งระยะแรก อาการไม่ปรากฏ

ความน่ากลัวของโรคปอดเรื้อรัง คือในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการปรากฎ จนกระทั่งปอดถูกทำลายมากขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน รู้สึกเหนื่อยหอบ หมดเรี่ยวแรง หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจบ่อย ๆ  ซึ่งบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด ปากและเล็บเปลี่ยนเป็นสีม่วง

เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยหอบมากจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ น้ำหนักลดลงอย่างมาก และในระยะท้ายของโรคมักพบการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ภาวะหายใจวาย (respiratory failure) และหัวใจด้านขวาล้มเหลว

โควิด-19 ทำให้ปอดอักเสบ จึงเสี่ยงเสียชีวิต

พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรมปอด สถาบันโรคทรวงอก ระบุว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโควิด-19 นั้น ส่วนใหญ่มาจากผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบเพราะในปอดมีถุงลม เมื่อเกิดการติดเชื้อจึงถูกทดแทนด้วยสารที่เกิดจากการอักเสบขึ้นมา ทำให้ลมและออกซิเจนไม่สามารถผ่านเข้าไปเพื่อส่งต่อไปยังเส้นเลือดเพราะมีตัวกั้นที่เกิดจากการอักเสบเพราะติดเชื้อ เส้นเลือดจึงไม่สามารถนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายต่าง ๆ ได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยปอดเรื้อรังจีงมีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปอดของผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่ไม่แข็งแรง ทำให้มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ที่ป่วยด้วยโรคปอดเรื้อรังเสียชีวิตทุกวัน

แพทย์จึงแนะนำให้ลดละเลิกการสูบบุหรี่ เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปอดอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ สำหรับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับปอดเรื้อรัง นอกเหนือจากกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง (โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตเรื้อรังระยะ 5, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคเบาหวาน, โรคอ้วน)

ข้อมูล : รพ.บำรุงราษฎร์ / พบแพทย์ / รพ.เพชรเวช