ในอนาคตการเดินทางไปต่างประเทศจะไม่ได้มีเพียงแค่พาสปอร์ตที่แสดงตัวตนของผู้เดินทางเท่านั้น แต่จะต้องมี “พาสปอร์ตวัคซีน” (Vaccine Passport) เพื่อยืนยันความปลอดภัยของผู้เดินทางด้วยว่าเป็นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 แล้ว
โดยล่าสุดหลายประเทศเริ่มดำเนินการแล้ว เพื่ออนุญาตให้ผู้ที่มีพาสปอร์ตวัคซีนสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ เมื่อคาดการณ์ว่าโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อย่างโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกยาวนาน
อย่างไรก็ตาม แม้มีชื่อเรียกว่า “พาสปอร์ตวัคซีน” แต่ที่ประเทศต่าง ๆ กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ ล้วนเป็นพาสปอร์ตที่มาในรูปแบบ Digital Vaccine Passport นั่นคือสามารถดูข้อมูลจากทางการผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน เพื่อเป็นการยืนยันว่าผู้เดินทางได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วจริง ๆ
ประเทศในยุโรปเริ่มดำเนินการแล้ว
เมื่อพาสปอร์ตวัคซีนกลายเป็นความหวังในการฟื้นเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเริ่มดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว โดยมีไอซ์แลนด์เป็นชาติแรกที่ระบุว่าจะออกพาสปอร์ตวัคซีนให้กับพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส เพื่ออนุญาตให้เดินทางระหว่างประเทศได้ ด้วยการดาวน์โหลดใบรับรองการฉีดวัคซีนออนไลน์ว่าตนเองได้รับวัคซีนแล้ว
ขณะเดียวกัน ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศที่มีพาสปอร์ตวัคซีนยืนยันว่าได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 โดส จะสามารถเดินทางเข้าประเทศได้เช่นกัน โดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ Swab Test หรือกักตัวอย่างต่ำ 5 วัน แต่ยังมีข้อยกเว้นว่าห้ามประชาชนจากประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเดินทางเข้าประเทศ
ส่วนเดนมาร์กเตรียมใช้พาสปอร์ตวัคซีนภายใน 3-4 เดือนข้างหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางโดยเฉพาะการเดินทางในเชิงธุรกิจ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนประเทศ ส่วนการเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ นั้นจะมีการพิจารณากันในภายหลัง
เช่นเดียวกับสวีเดนที่วางแผนจะใช้พาสปอร์ตวัคซีนในช่วงกลางปีนี้ โดยมองว่าเมื่อประเทศเพื่อนบ้านเริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ก็จำเป็นต้องมีพาสปอร์ตวัคซีนสำหรับการเดินทางเข้าออกประเทศด้วยเช่นกัน
ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน โดยร่วมมือกับประเทศที่ก้าวล้ำด้านเทคโนโลยีอย่างเอสโตเนียมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ด้วยการนำเทคโนโลยี Blockchain ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยสำหรับข้อมูลที่เปิดเผยได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางในการส่งข้อมูล มาใช้ในการพัฒนาใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในรูปแบบดิจิทัล และใช้ชื่อเรียกว่า “Smart Yellow Card”
นอกจากนี้ ก็ยังมีประเทศต่าง ๆ ในยุโรป อาทิ โปแลนด์ สเปน กรีซ ไซปรัส โปรตุเกส และเบลเยียม ก็สนับสนุนแนวคิดในการใช้พาสปอร์ตวัคซีนเช่นกัน เพื่อให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอื่น สามารถเข้าประเทศได้โดยไม่มีข้อจำกัด
อย่างไรก็ตาม สภายุโรปยังอยู่ระหว่างการชั่งน้ำหนัก และพิจารณาข้อดีข้อเสียเกี่ยวกับข้อเสนอของชาติสมาชิก กรณีใช้พาสปอร์ตวัคซีนเพื่อประโยชน์ด้านการรับนักท่องเที่ยวของประเทศต่าง ๆ เนื่องจากเวลานี้ผู้นำของประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ต่างเห็นชอบว่าควรใช้พาสปอร์ตวัคซีนเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ก่อน
สายการบินนำร่องใช้ก่อนใคร
แม้ว่าประเทศต่าง ๆ ยังไม่ได้ใช้พาสปอร์ตวัคซีนอย่างเป็นทางการ แต่ปัจจุบันมีบริษัทและหน่วยงานระหว่างประเทศหลายแห่งพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองเพื่อทำพาสปอร์ตวัคซีนออกมาใช้ในรูปแบบดิจิทัลกันแล้ว โดยมีสายการบินต่าง ๆ นำร่องใช้ไปแล้วด้วย เพื่อใช้ในการตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารว่ามีเอกสารรับรองทางการแพทย์เกี่ยวกับโควิด-19 หรือไม่
อาทิ CommonPass ซึ่งพัฒนาโดย World Economic Forum กับ The Commons Project ถูกนำมาใช้โดยสายการบิน United Airlines, Verify แอปพลิเคชันของ Daon ที่ถูกนำมาใช้โดยสายการบิน British Airways และ American Airlines หรือแอปฯ Scan2Fly ของสายการบิน Air Asia
ไทยรอหารืออาเซียนทำพาสปอร์ตวัคซีนร่วมกัน
แม้ว่าเวลานี้มีเพียงประเทศในยุโรปเท่านั้นที่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องพาสปอร์ตวัคซีน แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเช่นกัน เมื่อกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬามอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หาวิธีดึงชาวต่างชาติกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเข้ามาเที่ยวไทย และหารือร่วมกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (NTO) ของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเพื่อออกเป็นพาสปอร์ตวัคซีนร่วมกัน ภายใต้มาตรฐานเดียวว่าถ้าฉีดแล้ว สามารถเดินทางเข้าประเทศนั้น ๆ ได้โดยไม่ต้องกักตัว
โดยนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดหวังว่าพาสปอร์ตวัคซีนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวให้ดีขึ้นได้ หลังจากปี 2563 รายได้จากฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงไปมากถึง 83 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเน้นที่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาก่อน เนื่องจากชาติในอาเซียน และเอเชียตะวันออกโดยประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ยังคงขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศถ้าไม่จำเป็น
ขณะเดียวกัน ททท.ก็เริ่มคุยกับพันธมิตรสายการบิน เช่น สายการบินจากภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างเอมิเรตส์ และกาตาร์แอร์เวย์ส รวมถึงโรงแรมและบริษัทผู้รับจัดบริการเดินทางที่เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย เพื่อขายแพ็คเกจท่องเที่ยวแบบ All Inclusive แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มุ่งเพิ่มยอดการใช้จ่ายต่อทริปต่อคน ด้วยการพัฒนารูปแบบกิจกรรมท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ความหลากหลายและมีมูลค่าสูงมากขึ้น
แนวโน้มท่องเที่ยวไทยจะดีขึ้นหรือไม่?
ผู้ว่าการททท.มองว่าแนวโน้มท่องเที่ยวของไทยจากตลาดต่างชาติจะได้ถึง 10 ล้านคนตามเป้าหมายที่ททท.ตั้งไว้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 เรื่องว่าจะได้รับการผ่อนปรนมากแค่ไหน ได้แก่ 1.ความเชื่อมั่นของคนไทยในฐานะเจ้าบ้าน 2.สถานการณ์การเข้าถึงวัคซีนทั้งในไทยและต่างประเทศ 3.การอำนวยความสะดวกในการเข้าเมือง 4. นโยบายการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศของประเทศต้นทาง และ 5.มาตรการด้านสาธารณสุขในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย
ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญอยู่ที่การกักตัวนักท่องเที่ยวเมื่อเดินทางเข้าประเทศ หากยังมีเงื่อนไขให้ต้องกักตัว 14 วัน โอกาสที่จะเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้น พาสปอร์ตวัคซีนจึงมีความสำคัญไม่น้อยที่จะฟื้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทยให้ดีขึ้นได้ในปีนี้
อ้างอิงข้อมูล : businesstraveller.com / forbes.com/ cbc.ca/news / travelandleisure.com / nytimes.com