เหตุผลดี ๆ ทำไม “นอนแยกเตียง” ยืดความสัมพันธ์คู่รักได้

บ่อยครั้งที่ความสัมพันธ์ของคนสองคนต้องจบลงเพราะเรื่องบนเตียง โดยเฉพาะเรื่องการนอนของอีกฝ่ายที่รบกวนการนอนคู่ของตนเอง ซึ่งผลสำรวจคู่รักหรือคู่แต่งงานในสหรัฐอเมริกาจำนวน 2,000 คู่ พบว่ามีมากถึง 46 เปอร์เซ็นต์หรือเกือบครึ่งเลยทีเดียวที่ยอมรับว่าพวกเขาต้องการนอนแยกเตียงกัน

โดย 1 ใน 5 คน หรือ 19 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดระบุว่าปัญหาใหญ่ที่รบกวนการนอนของพวกเขาคือคู่นอนข้าง ๆ นั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าการนอนกรนคือปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทำให้อีกฝ่ายนอนไม่หลับ

แต่ก็ยังมีเหตุผลอีกมากมายที่ทำให้คู่แต่งงานไม่สามารถนอนร่วมเตียงหรือนอนร่วมห้องกันได้ อาทิ ไอร้อนจากตัวของอีกฝ่ายทำให้นอนได้ไม่สบาย, การแย่งผ้าห่มกันไปมาตลอดคืน บ้างก็แย่งกันปรับแอร์เพราะบางคนชอบนอนอุ่น ๆ ขณะที่บางคนชอบอากาศเย็น ๆ หรือหนุ่ม ๆ บางคนก็มีปัญหากับการปัดผมของฝ่ายหญิงที่มาอยู่บนหน้าของตนเอง

นอกจากนี้ ยังมีอีกกว่าครึ่งหรือประมาณ 57 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียวที่ยอมรับว่าต้องย้ายมานอนที่โซฟากลางดึกเพื่อจะได้นอนหลับได้สนิทขึ้น แต่ก็มีหลายคู่เลือกที่จะเปิดใจกันและตัดปัญหาด้วยการแยกเตียงกันนอน หรือแยกห้องนอน และนี่คือเหตุผลดี ๆ ที่การนอนแยกเตียงช่วยยืดความสัมพันธ์ให้กับพวกเขาได้

หลับสนิทช่วยให้อารมณ์ดี

เมื่อไม่ต้องรู้สึกเครียดกับการนอน เพราะไม่มีใครมารบกวนการนอน โดยเฉพาะเสียงกรนสนั่นหวั่นไหว จึงทำให้สามารถหลับได้สนิทขึ้น รู้สึกว่าได้นอนอย่างเต็มอิ่ม เมื่อตื่นขึ้นมาจึงรู้สึกสดชื่น และอารมณ์ดี

นอนสบายทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

การนอนหลับบนเตียงคนเดียวทำให้นอนได้อย่างสบายมากขึ้น เพราะมีพื้นที่ในการนอนที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้รู้สึกผ่อนคลายกับการนอนและมีความสุขยิ่งขึ้น ไม่ต้องกังวลใจเรื่องการขยับตัวหรือนอนดิ้นว่าจะไปรบกวนอีกฝ่ายหรือไม่

ไม่หงุดหงิดเพราะกลิ่นกวนใจต่าง ๆ

เรื่องของกลิ่นตัวก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำลายชีวิตคู่ได้เช่นกัน บางคนอาจจะรู้สึกนอนไม่หลับถ้ามีกลิ่นกวนใจจากฝ่ายชาย  ขณะที่ฝั่งภรรยาก็อาจใช้โลชั่น น้ำหอมที่กลิ่นฉุนเกินไปจนรบกวนการนอนของอีกฝ่าย ซึ่งการนอนแยกเตียงช่วยให้บรรยากาศดีขึ้นได้

รู้สึกถึงแรงดึงดูดทางเพศมากขึ้น

การแยกกันนอนทำให้ความรู้สึกที่มีต่ออีกฝ่ายเปลี่ยนไปได้ในเชิงบวก  โดยช่วยให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะเจอหน้ากันมากขึ้น หรือรู้สึกว่าอีกฝ่ายมีความน่าสนใจ ดูเซ็กซี่ยิ่งขึ้น จนเกิดความเสน่หาต่อกันมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ลดความระแวงต่อกันให้น้อยลง

เมื่อแยกห้องกันนอนจึงทำให้ไม่เห็นว่าคู่ของตนเองทำกิจกรรมใด ๆ ที่น่าสงสัยหรือไม่ จึงช่วยลดความระแวงสงสัยให้น้อยลง ต่างจากการอยู่ห้องเดียวกันที่สามารถเห็นโทรศัพท์และข้อความของอีกฝ่ายได้ และยังเป็นการฝึกความไว้วางใจต่อกันด้วย

ที่มา : nypost.com/ bonobology.com