แฮชแท็ก #สนับสนุนเลื่อนเปิดเทอม ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ตั้งแต่วันแรกที่มีมาตรการผ่อนคลายให้สถานศึกษากลับมาเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้อีกครั้ง พร้อมทั้งเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการฟังเสียงของเด็กนักเรียนด้วย
กลายเป็นกระแสตีกลับที่ย้อนแย้งกับฝั่งของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ก่อนหน้านี้ออกมาเรียกร้องให้เด็กกลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน เนื่องด้วยประสบปัญหาจากการให้ลูกเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบุตรหลานหลายคน รวมถึงมองว่าเด็กไม่สามารถจดจ่อกับการเรียนได้ตลอดเวลา อีกทั้งเวลาที่มีปัญหาไม่เข้าใจ ก็ไม่สามารถหาคำตอบได้ทันที ทำให้ผู้ปกครองต้องมาคอยนั่งกำกับอยู่ใกล้ ๆ จนไม่เป็นอันทำการทำงานในช่วงที่ Work from Home
แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 (โควิด-19) ที่ยังไม่สามารถวางใจได้ เมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อหลัก 800-900 รายเกือบทุกวัน จนทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมเฉียด 20,000 รายเข้าไปแล้ว ทำให้มุมของคนที่ต้องไปเรียนหนังสือมองว่าพวกเขากำลังถูกผลักไสจากผู้ใหญ่ให้ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
ชี้ชัดทุกเหตุผลทำไมควรเลื่อนเปิดเทอม
ความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการสนับสนุนให้เลื่อนการเปิดเทอมออกไปมีขึ้นก่อนหน้าการเปิดเทอมอย่างเป็นทางการแค่วันเดียว ก่อนจะกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงต่อเนื่องแบบข้ามวัน โดยต้นตอของการติดแฮชแท็ก #สนับสนุนเลื่อนเปิดเทอม และ #ศธช่วยฟังทางนี้หน่อย ระบุถึงเหตุผลที่ควรเลื่อนเปิดเทอมไว้ได้น่าสนใจดังนี้
ทุกคนคะ เราว่าเรื่องนี้คือเรื่องใหญ่นะคะ ยังไงอยากฝากให้คิดดู #ศธช่วยฟังทางนี้หน่อย #สนับสนุนเลื่อนเปิดเทอม pic.twitter.com/EvqaKeoaih
— ?? ?? ???????? ? (@itfeelstory) January 31, 2021
ยอดผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูง เพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคมากขึ้น ซึ่งโควิดสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันสามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้นักเรียนที่เดินทางมาโรงเรียนโดยขนส่งสาธารณะมีความเสี่ยงมาก และธรรมชาติของเด็กไม่สามารถรักษาระยะห่าง 2 เมตรได้อย่างแน่นอน
ขณะที่มาตราการป้องกันในโรงเรียนก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะปลอดภัยจริงหรือไม่ ซึ่งการให้เด็กใส่หน้ากากอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์เป็นไปได้ยาก ตอนพักกินข้าวร่วมกันเป็นกลุ่มก็ต้องถอดหน้ากากอนามัย รวมถึงตอนจับกลุ่มคุยกัน หรือหลังเลิกเรียนที่ไม่สามารถตามติดเด็กทุกคนได้
ส่วนการจัดห้องเรียนให้เหลือจำนวนนักเรียนห้องละ 25 คน หรือสลับวันกันเรียน ยังมองว่ามีความเสี่ยง เมื่อนักเรียนต้องเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับโรงเรียน ซึ่งเท่ากับนำตัวเองไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอยู่ดี และอาจนำเชื้อมาแพร่ต่อให้คนในครอบครัวด้วย ดังนั้น จึงมองว่าการเรียนออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์จะปลอดภัยมากกว่า และควร เลื่อนไปจนกว่าทุกอย่างจะดีขึ้น หรือจัดการระบบได้ดีกว่านี้
เหตุผลที่สนับสนุนให้เรียนออนไลน์ต่อ
นอกจากนี้ โพสต์ดังกล่าวยังระบุเหตุผลด้วยว่าทำไมจึงควรเรียนออนไลน์ต่อไป โดยยอมรับว่าแม้การเรียนออนไลน์อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน แต่ในสถานการณ์ตอนนี้เป็นหนทางที่ทำให้ปลอดภัย และไม่นำตัวเองไปเสี่ยงกับโควิด-19 ได้ดีที่สุด เพราะสุขภาพร่างกายของเด็กต้องมาก่อน และเป็นการหยุดการแพร่เชื่อ เพราะการเปิดเทอมก็เหมือนเปิดโอกาสให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ
ขณะที่ผู้ปกครองบางคนก็เป็นห่วงบุตรหลานไม่อยากให้ต้องไปติดเชื้อ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่าหากติดเชื้อขึ้นมา รัฐบาลสามารถรับผิดชอบได้หมดทุกคนหรือไม่ และยังเสนอแนะด้วยว่าการเรียนออนไลน์อาจจะน่าเบื่อสำหรับเด็กบางคน จึงควรนำงบประมาณไปจ้างติวเตอร์ตัวท็อปที่สามารถทำให้เด็กเพลิดเพลินกับการสอนได้โดยไม่เบื่อ ดีกว่านำครูทั่วไปมาสอนซึ่งอาจทำให้เด็กเบื่อจนไม่อยากเรียนต่อได้
ศบค.ย้ำเน้นการเรียนการสอนผสมผสาน
แม้ว่ามีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน แต่ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เน้นย้ำชัดเจนเช่นกันว่า ศบค.มีนโยบายการ “จัดการเรียนการสอนผสมผสาน”
โดยแพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. ระบุว่าการจัดการเรียนการสอนผสมผสานนั้น จะมีทั้งการเรียนที่โรงเรียน และจัดเรียนออนไลน์คู่ขนานไปด้วยสำหรับคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองที่มีความพร้อมในการให้บุตรหลานเรียนออนไลน์ ซึ่งทางสำนักกงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ระบุว่าการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ถือว่าเป็นการขาดเรียน จึงไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด
“ครอบครัว-โรงเรียน” ช่วยสอดส่องวัดอุณหภูมิ
ส่วนความกังวลเรื่องความเสี่ยงในการติดเชื้อของเด็กนักเรียนทั้งจากในโรงเรียนและจากการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะนั้น พญ.อภิสมัยระบุว่าการติดเชื้อในเด็กนั้นมีจำนวนไม่มาก ซึ่งอาจเป็นด้วยเรื่องของภูมิคุ้มกัน พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ช่วยระมัดระวัง ด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิลูกก่อนไปโรงเรียน หากพบว่ามีอาการระบบทางเดินหายใจให้อยู่บ้าน พร้อมทั้งตรวจวัดอุณหภูมิอย่างสม่ำเสมอ
ขณะที่โรงเรียนก็ต้องมีมาตรการในการคัดกรองเช่นกัน หากพบว่าเด็กมีไข้ ให้แจ้งผู้ปกครองเพื่อนำตัวเด็กกลับบ้าน ซึ่งจะช่วยให้ป้องกันการแพร่กระจายให้อยู่ในวงเล็ก และสามารถควบคุมได้
เรียนออนไลน์ส่งผลระยาวต่อพัฒนาการเด็ก
พญ.อภิสมัยเผยด้วยว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันนอกเหนือจากข้อมูลในเชิงระบาดวิทยา นั่นคือ “พัฒนาการของเด็ก” ซึ่งในส่วนของกุมารแพทย์ และจิตแพทย์เด็ก มีรายงานชัดเจนว่าการที่เด็กล็อกดาวน์อยู่ที่บ้าน หรือไม่ได้รับการเรียนการสอนที่สมควรแก่พัฒนาการของเด็กอาจส่งผลเสียในระยะยาวได้ ดังนั้น เมื่อมีมาตรการผ่อนคลายให้เปิดเทอมได้ สถานศึกษาก็ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการดูแลนักเรียนด้วยเช่นกัน
แต่หากเกิดสถานการณ์คลัสเตอร์ใหม่ ๆ หรือมีการแพร่กระจายเชื้อในวงกว้างหลังจากมีการผ่อนคลาย เพราะไม่ได้รับความร่วมมือที่มากพอ ทางศบค.จะพิจารณาปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นตามตัวเลขที่เป็นหลักฐาน
และแม้ว่ามาตรการผ่อนคลายเริ่มต้นแล้ว แต่มาตรการควบคุมโรคยังต้องการ์ดสูง 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ตนเอง ครอบครัว และชุมชนปลอดภัย
