“วงการบันเทิงอะเนอะ!” เมื่อชีวิตจริงดาราสวนทางกับภาพลักษณ์ที่มี

“วงการบันเทิงอะเนอะ!” เป็นคำที่เราท่านน่าจะได้ยินกันมาพักใหญ่แล้ว แค่ฟังครั้งแรกก็ปฏิเสธไม่ออกว่าเราสัมผัสได้ถึงน้ำเสียงกระแนะกระแหนเต็ม ๆ ส่วนหนึ่งเพราะเรารู้กันดีว่าอีกชื่อของวงการบันเทิงก็คือ “วงการมายา”

พอกลายเป็นคำว่า “มายา” ความหมายก็ค่อนข้างชัดเจนในตัวเอง เพราะมันแปลว่า “มารยา การลวง การแสร้งทำ เล่ห์กล” ดังนั้น วงการมายาก็จะหมายถึง วงการที่ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการ “สร้าง การลวง การแสร้งทำ” หรือแปลให้ง่ายกว่านั้นก็คือ มันเป็น “การแสดง” ที่จะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องลวงก็ได้

เพราะดารายืนอยู่ท่ามกลางแสงไฟ

การเป็นบุคคลที่อยู่ท่ามกลางจุดสนใจของผู้คนในสังคม มักถูกกำหนดว่าต้องมีความเฟอร์เฟคแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยสิ่งนี้ทำให้ทั้งสื่อ แฟนคลับ และคนในสังคมทั่วไปต่างคาดหวังว่าดาราจะเป็นบุคคลที่สมบูรณ์แบบ เป็นลักษณะคล้าย ๆ กับ “พระเจ้า” บนโลกมนุษย์ก็ได้ เมื่อต้องออกสื่อ ทุกการกระทำและคำพูด จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เสมอทั้งจากสื่อและประชาชน

เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับดารานักแสดงเป็นสิ่งที่น่าสนใจเสมอ ข่าวฉาวต่าง ๆ ล้วนกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น อยากมีส่วนร่วมได้ ในเมื่อดาราอยู่ในที่สว่าง อยู่หน้ากล้อง ภาพลักษณ์จึงตามมา โดยเฉพาะเรื่องของการวางตัวในจุดที่เป็น “คนของสังคม” หลายคนจึงคาดหวังให้ดาราเป็นในสิ่งที่เราอยากให้เป็น ทั้งที่นั่นอาจไม่ใช่ตัวตนจริง ๆ ของเขาก็ได้

พอดารามีข่าวในด้านลบ ความรู้สึกผิดหวัง (จากการไปคาดหวัง) ก็เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่เห็นมันแตกต่างจากคนที่เราเคยรู้จัก เหมือนว่าจริง ๆ แล้วเราไม่ได้รู้จักเขาเลย รู้สึกว่าถูกหลอกลวง รู้สึกว่าทั้งหมดเป็นเรื่องสร้างภาพ เป็นที่มาให้สังคมหมดศรัทธาและความน่าเชื่อถือ เลิกเข้าข้างแล้วหันมาเป็นปฏิปักษ์ ด่าว่าเสีย ๆ หาย ๆ แทน ทั้งที่ความจริงแค่หันหลังให้เขาเฉย ๆ ก็ทำได้ ไม่เห็นต้องไปตามด่า

นัก “แสดง” ก็เป็นแค่อาชีพ

ในเมื่อนักแสดงก็เป็นแค่อาชีพ เราก็ไม่ควรที่จะไปคาดหวังให้นักแสดงเป็นในแบบที่เราอยากให้เป็น เพราะนั่นอาจไม่ใช่ตัวตนจริง ๆ ของเขาก็ได้ ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวตนจริง ๆ ของดาราทุกคนจะสวนทางกับภาพลักษณ์ที่สร้างมา แค่อย่าไปคาดหวังให้ใครเป็นแบบที่ใจเราปรารถนาก็พอ

ดารา นักแสดงก็เป็นคนหาใช่พระเจ้าไม่ ทำผิดได้พลาดได้ หากเขาสำนึกผิดก็ควรให้อภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง แต่ถ้าเขาไม่สำนึกก็แค่ปล่อยให้ความไร้สามัญสำนึกของเขาลงโทษตัวเขาเองไป ตัวเราไม่จำเป็นต้องไปร่วมทัวร์กับเขาก็ได้ แต่ถ้าอยากร่วมทัวร์ ก็อยากให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ติเพื่อก่อ ไม่ใช่ด่า “วิพากษ์วิจารณ์≠ด่า”

ฉะนั้นอาจจะต้องเข้าใจใหม่ว่า วงการบันเทิง ก็คือมีเพื่อ “ความบันเทิง” และนักแสดงก็เป็นอาชีพที่ต้อง “แสดง” นั่นหมายความว่าต่อให้นักแสดงจะเป็นอย่างไร เจอข่าวด้านลบหรือด้านบวกแค่ไหน เขาก็ยังต้องแสดงต่อไป ดาราหลายคนกลัวตรงนี้ และการไม่เป็นตัวของตัวเองก็ทำให้ดารามีอาการป่วยทางจิตใจ จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายก็มี

แต่ภาพลักษณ์ก็ยังสำคัญกับดารา

ดาราและภาพลักษณ์ (ที่ดี) เป็นของคู่กัน โดยเฉพาะเรื่องของการวางตัวในจุดที่ “เป็นคนของสังคม” แต่หลายคนก็ลืมคิดไปว่า นักแสดงก็เป็นเพียงอาชีพอาชีพหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าชีวิตหรือตัวตนจริง ๆ ของดาราอาจไม่เหมือนกับภาพลักษณ์ที่ต้องแสดงออกต่อสาธารณชนก็ได้

เมื่อดาราสร้างภาพจำแรกเมื่อเข้าวงการ นั่นจะเป็นความประทับใจแรกของคนในสังคม ทำให้สังคมจำคน ๆ นั้นในภาพนั้น โดยไม่คิดว่ามันอาจจะใช่หรือไม่ใช่ตัวตนของเขาก็ได้ บางคนต้องวางตัวในภาพแบบนั้นด้วยบทบาทของละครที่เขาเล่น เพราะฉะนั้น ความหมายของภาพลักษณ์จึงไม่ได้เข้าใจยาก มันคือภาพที่เกิดจากความนึกคิดหรือที่คิดว่าควรจะเป็นเช่นนั้น

ลองนึกดูว่านักแสดงที่เข้าวงการมาแบบคาแรคเตอร์เฟียส ๆ โดนด่าตั้งแต่แรกที่เข้าวงการ พออยู่นานไป สังคมเริ่มเข้าใจว่ามันเป็นเพียงการแสดง ตัวจริงเขาอาจจะไม่ได้เฟียสแบบนั้น แล้วทำไมคนที่เข้าวงการมาแบบคาแรคเตอร์เรียบร้อยชีวิตจริงถึงจำเป็นต้องเรียบร้อย ไม่จำเป็นเลย แต่เรื่องจะถูกขุดคุ้ยจนดราม่าและทัวร์ลงหนักมากเมื่อเกิดเรื่องฉาว หลายคนจึงเกิดอาการ “รับไม่ได้” ขึ้นมา แต่บางคนก็เป็นคนแสดงออกตรง ๆ ตั้งแต่แรก ก็เพราะเป็นคนแบบนั้น

แต่ถ้าถามว่าการสร้างภาพลักษณ์ยังจำเป็นต้องทำไหม แน่นอนว่ายังจำเป็นต้องทำ เพราะมันคือโลกของการทำงาน ภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนชื่นชม เชื่อมั่น เชื่อใจ จะนำไปสู่การจ้างงาน ก็เหมือนกับคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ถึงนิสัยจริงเราเป็นคนขี้เกียจมาก แต่เวลาทำงานก็แสดงออกว่าขี้เกียจไม่ได้ ความขยันต้องมา หากคนที่จ้างงานรู้ว่าเราขี้เกียจ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นอะไรก็น่าจะรู้ดี ส่วนตัวดาราเอง ถ้าเผลอเอาด้านมืดออกมา ก็ต้องรับผลลัพธ์ของการกระทำที่ตัวเองก่อเหมือนกัน มันคือสิ่งที่สังคมลงโทษ แต่ก็ต้องรู้ว่าเราลงโทษเขาได้มากน้อยแค่ไหน

อย่า (เพิ่งด่วน) ตัดสินใครที่ภายนอก

การตามด่า ตามขุด ตามแฉ หรือการยกย่องชมเชย อวยจนเกินงามก็เป็นการตัดสินคนที่ภายนอกอย่างหนึ่ง เพราะมันคือการตัดสินคนจากด้านที่เราเห็น จริง ๆ แล้ว คนเราไม่ได้แย่ไปหมด ไม่ได้ดีซะทุกอย่าง การเห็นคนคนหนึ่งในภาพลักษณ์แสนดี ก็ต้องเตรียมใจไว้ด้วยว่าสิ่งเราเห็นอาจไม่เป็นจริงตามนั้นเสมอ

และการจะเอาคนดัง คนบันเทิงมาเป็นบรรทัดฐานว่าควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมก็อาจจะไม่ค่อยยุติธรรมกับดาราเท่าไรนัก เพราะเขาก็เป็นแค่คนคนหนึ่ง (ที่บังเอิญดัง) เมื่อไรที่เขาแอ๊บแตก ก็ไม่จำเป็นที่ต้องไปด่าว่าเขาเสียหาย ๆ แค่รู้ว่านั่นอาจเป็นตัวตนจริง ๆ ของเขาก็พอ

คำพูดที่เป็นเหมือนดาบสองคมจึงไม่ควรจะถูกนำมาเป็นอาวุธทำร้ายใครทั้งนั้น ฉะนั้น จะแสดงความคิดเห็นอะไรก็ขอให้คิดให้เยอะ ๆ นึกถึงใจเขาใจเรา และระมัดระวังกันหน่อย เพราะถึงเขาจะทำผิดทำ เขาก็ไม่ใช่ที่รองรับอารมณ์โกรธแค้นของใคร วิพากษ์วิจารณ์แค่สิ่งที่เขาทำผิด อย่าลามไปถึงชีวิตส่วนตัว และต้องเข้าใจว่า “วิพากษ์วิจารณ์≠ด่า” วิพากษ์วิจารณ์มันคือการติหรือชมด้วยเหตุและผล ไม่ใช่การด่าให้เสียหายด้วยถ้อยคำหยาบคาย เพราะการเอาแต่ด่าไม่ชี้แนะ ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย

อย่าตัดสินคนที่ภายนอกแค่ด้านที่เขาแสดงออก หรือสิ่งที่เห็นจากเขาแค่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะดีหรือเลว เราก็ไม่มีสิทธิ์จะไปตัดสินใครทั้งนั้น ดูคนต้องดูไปนาน ๆ แล้วโลกจะน่าอยู่กว่านี้อีกเยอะ บทความนี้แค่อยากให้เห็นในอีกด้านของคน และยอมรับความจริงว่าเขาแค่แสดงออกแบบนั้น ไม่ถูกใจก็ไม่ต้องถึงขั้นด่าหยาบคายก็ได้ อยากแบนก็แบนเงียบ ๆ สังคมอุดมดราม่าแบบนี้มันเหนื่อยอยู่นะ