ใครที่เป็นคอซีรีส์เกาหลีน่าจะทราบกันดีว่าในรอบปีที่ผ่านมานั้น เป็นปีของ “พระรอง” เลยจริง ๆ ที่จริง พระรองมีบทบาทกับซีรีส์เกาหลีมาสักพักใหญ่แล้ว มีนักแสดงมากมายที่แจ้งเกิดเปรี้ยงปร้างจากบทพระรอง แต่ในนาทีขอยกพระรองล่าสุดที่เป็นกระแสหนักมาก “คิมซอนโฮ” จาก Start-Up “ฮวังอินยอบ” จาก True Beauty และ “นาอินอู” จาก Mr.Queen 3 คนนี้คือผู้ที่มาสั่นบัลลังก์พระเอกชนิดที่ว่าพระเอกต้องรีบโกยคะแนน ตกคนดูไปได้หลายคน สาว ๆ ตามหาวาร์ปกันวุ่นวายไปหมด
แน่นอนว่ายังไงนางเอกเขาก็ต้องคู่กับพระเอก ถึงพระรองจะครองจักรวาลคนดูได้ส่วนหนึ่ง ท้ายที่สุดพระรองก็ไม่มีที่ยืนในซีรีส์เรื่องนั้น ๆ ในฐานะคนดูที่หวั่นไหวกับพระรองไม่มากก็น้อย และก็เสียพระเอกให้นางเอกไปแล้ว จึงต้องบอกว่า “พระเอกเป็นของนางเอก แต่พระรองเป็นของทุกคน”
แล้วเคยสงสัยไหมว่าทำไมซีรีส์เกาหลีจะต้องสร้างตัวละครที่เรียกว่า “พระรอง” มาให้คนดูลำบากใจอยู่เรื่อย แสนดีมากจนน่าหลงใหลบ้างล่ะ น่าสงสารบ้างล่ะ น่าเอ็นดูบ้างล่ะ บางเรื่องคนดูพากันเทใจไปอยู่ทีมพระรองหมด สุดท้ายก็นกทั้งพระรองและคนดู
ภาวะที่เกิดขึ้น เรียกว่า “second lead syndrome” คือภาวะที่คนดูเทใจและจิ้นให้นางเอกรักกับพระรอง สร้างพระรองหล่อ แสนดี ส่วนพระเอกน่าหมั่นไส้หนักมาก แต่พอจบเรื่องก็แห้ว เพราะถ้านางเอกเลือกพระรอง พระรองก็กลายเป็นพระเอกน่ะสิ
ทำไมพระรองถึงตกคนดูได้มากมาย
ความรักที่ไม่สมหวังนี่แหละที่ทำให้พระรองของเราดูน่าสงสารขึ้นเป็นล้านเท่า เพราะสิ่งหนึ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับมนุษย์เรามาก ๆ ก็คือ “การไม่สมหวังในความรัก” แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีปัจจัยอื่นที่ใกล้เคียงที่ทำให้พระรองได้ใจคนดู
ก็เพราะว่านี่คือรักข้างเดียวไง!
ขึ้นชื่อว่าพระรองยังไงก็สู้พระเอกไม่ได้ ต่อให้แสนดีแค่ไหน หรือรักนางเอกมากขนาดไหน ก็คนมันไม่รักยังไงก็คือไม่รัก ความรู้สึกอินและฟินเวลาที่นางเอกอยู่กับพระรอง ทำให้คนดูจิ้นพระรอง แต่คาแรคเตอร์ของพระรองจะเด่นกว่าพระเอกในตอนจบไม่ได้! บทเลยออกมาให้พระรองต้องชอกช้ำหัวใจเพราะนางเอกเลือกพระเอก ขัดใจคนดูเป็นอย่างยิ่ง บางเรื่องทำเอาพาลเกลียดคนเขียนบทไปเลย ที่ทำให้พระรองต้องเจ็บปวดขนาดนี้
เพราะรักนางเอกไม่ต่างจากพระเอก
พระรองส่วนมากจะมีคาแรคเตอร์แบบ “คนอื่นจะยังไงก็ช่าง แต่ฉันจะดีกับเธอคนเดียว” จริง ๆ แล้วที่เขาสร้างพระรองขึ้นมาให้รักนางเอกขนาดนั้น ก็เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้พระเอกรู้ใจตัวเอง รู้ว่านางเอกสำคัญมากขนาดไหน เพราะส่วนใหญ่พระเอกน่ะรักนางเอกตั้งนานแล้วแต่ไม่รู้ตัว หรือก็รู้ตัวนั่นแหละ แต่ทำปากแข็งไม่ยอมรับความรู้สึกตัวเอง พอรู้สึกว่ามีคู่แข่งประเภทที่ทำให้นางเอกหวั่นไหวได้ แล้วเริ่มรู้สึกเหมือนตัวเองจะแพ้ ให้อดทนเก็บงำความรักต่อไปมีหวังโดนคาบไปกินแน่ ๆ
แต่ถึงอย่างนั้น หน้าที่ของพระรองแทบทุกเรื่อง คือไม่เรียกร้องขอความรักจากนางเอก หรือแค่บอกให้นางเอกรู้ ส่วนตัวเองอยู่ในอาการหมดหวัง รำพึงรำพันว่าถ้าเป็นตัวเองก็คงดี ก็คือขอเป็นเพียงคนที่อยู่ข้าง ๆ ในตอนที่เขาเป็นทุกข์เพราะพระเอก โดยแอบหวังลึก ๆ ว่าสักวันนางเอกจะหันมามองแล้วเห็นความดีของตัวบ้าง
นางเอกอยู่ด้วยแล้วทำคนดูฟิน
จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องธรรมดาที่คนอย่างเรา ๆ ก็เป็นกัน เวลาอยู่กับคนที่เรียกว่า “เพื่อน” จริง ๆ จะไม่มามัวนั่งแอ๊บหรือรักษาภาพลักษณ์ให้เสียเวลา ไม่มีเขินอาย ไม่ก็หลุดมุมโก๊ะ ๆ น่ารักออกมา แต่พระรองก็รับได้ทุกอย่างที่เป็นนางเอก ก็คนมันไม่มีใจอะเนอะ เขาจะมองยังไงก็ไม่สำคัญ ไม่เห็นต้องแคร์อะไร
ตอนจบพระรองโดดเดี่ยว
นี่คือสิ่งที่ซีรีส์เกาหลีต่างจากละครไทย เพราะพระรองไทยที่แอบรักนางเอก ถึงจะไม่สมหวังกับนางเอก แต่หลายเรื่อง พระรองก็ยังมี “นางรอง” อยู่ เรียกง่าย ๆ ก็คือคู่รองนั่นเอง ถึงจะอกหัก แต่พระรองไทยก็ไม่ได้เจ็บปวดมากนัก ต่างจากพระรองเกาหลีที่ต้องยืนมองคนที่ตัวเองรักสมหวังต่อหน้าต่อตา ได้แต่แสดงความยินดีกับพวกเขา แม้จะมีหลายเรื่องที่พระรองได้พบกับผู้หญิงคนใหม่ ที่ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นมาอีกครั้ง แต่เรื่องจะไม่เล่าความสัมพันธ์ระหว่างพระรองกับผู้หญิงคนนั้น ต่างจากละครไทยที่เขาจะหันไปหานางรอง และมีเส้นเรื่องความรักของเขาเอง
เพราะเขา “หล่อ”
ปัจจัยสุดท้ายคือ พระรองหล่อ เพราะคนที่จะเป็นพระเอกได้ก็ต้องหล่อในระดับหนึ่งอยู่แล้ว และถ้าจะเป็นคู่แข่งที่สูสีกับพระเอกได้ก็ต้องหล่อด้วยเหมือนกัน หล่อทั้งคู่ คนดูก็เลือกไม่ได้ ยิ่งช่วงกลาง ๆ เรื่อง ที่เปลี่ยนเป็นผู้ชายดี ๆ แล้วทั้งคู่ ยิ่งทำให้ลำบากใจเข้าไปใหญ่ ขอเก็บเธอไว้ทั้ง 2 คน
พระเอก-พระรอง ที่เป็นมากกว่า พระรอง-พระเอก
คอซีรีส์เกาหลี น่าจะพอรู้อยู่แล้วว่าการที่เขาสร้างคาแรคเตอร์พระเอกพระรองมาแบบนี้ก็เพื่อ “สร้างภาพ (จำ)” ให้ผู้ชายเกาหลี เดิมสังคมเกาหลีเป็นสังคม “ปิตาธิปไตย” หรือ “ชายเป็นใหญ่” ขนานแท้ เพราะฉะนั้น เรื่องการสร้างค่านิยมด้วยภาพจำใหม่ ๆ จะสามารถกลบภาพจำเดิมได้ แต่ต้องยอมรับว่าความคิดนี้มันค่อนข้างฝั่งรากลึกในสังคมเกาหลี อาจต้องใช้เวลาและขยันสร้างภาพผู้ชายเกาหลีในอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมาให้เป็นที่จดจำในสายตาชาวโลก รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ชาย
อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีถึงได้มีสิ่งที่เรียกว่า “ไอดอล” เพราะว่าไอดอลนั้นมันไม่ได้เป็นกันได้ง่าย ๆ การเป็นต้นแบบของตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม ภาพลักษณ์ต้องดีทุกอย่าง ตัวตนของไอดอลจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่โดยค่าย ถูกจำกัดว่านั่นได้ ทำนี่ไม่ได้ สำหรับบางคนมันก็ฝืนความเป็นตัวเองมากจนเกินไป ซึ่งสร้างความกดดันและอึดอัด ทำอะไรก็ต้องเป็นคนดีตลอด (แต่ไม่ได้หมายความว่าตัวจริงเขาเป็นคนไม่ดี) นั่นทำให้เวลาไอดอลมีเรื่องเสียหาย เรื่องฉาวขึ้นมาก็เลยโดนถล่มเละเทะ
แต่เดิมสังคมเกาหลีเป็นสังคมที่มีความเชื่อในลัทธิขงจื๊อ ความคิดที่ว่าผู้ชายเป็นใหญ่กว่าผู้หญิง จะตามมาด้วยบทบาทและหน้าที่ในสังคมที่มากกว่า ดังที่เราเห็นในซีรีส์พีเรียดยุคโบราณของเกาหลี หรือคนรุ่นเก่า ๆ ที่อยู่ในซีรีส์สมัยใหม่ มักจะมองผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชายเสมอผ่านทางคำพูดและการกระทำ รวมถึงปัญหาการคุกคามทางเพศในเกาหลี หรือปัญหาครอบครัวที่เกิดจากความไม่พอของผู้ชาย ผู้ชายเป็นฝ่ายเริ่มกระทำ แต่กลายเป็นว่าสังคมเกาหลีมองว่าผู้หญิงไปอ่อยเขาก่อนหรือเปล่า และก็เพิกเฉยกับปัญหานี้
ผู้หญิงในสังคมเกาหลี เรียกได้ว่ามีส่วนร่วมน้อยนักหากเทียบกับผู้ชาย ทั้งโอกาสการมีส่วนร่วมของผู้หญิงเกาหลีใต้ในเชิงระบบเศรษฐกิจ รวมถึงช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศก็เช่นกัน
แต่สังคมปิตาธิไตย ก็นำมาสู่การสร้างซีรีส์เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพจำผู้ชายเกาหลีเสียใหม่ รวมถึงการเพิ่มบทบาทของผู้หญิงเข้าไปด้วย โดยเฉพาะนางเอก ที่มีอาชีพดี ๆ ไม่ใช่แม่บ้านอีกต่อไป สามารถแสดงความคิดเห็นได้ และเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ผู้ชายเกาหลีช่วงอายุ 20-30 ปีที่เติบโตมากับซีรีส์เกาหลีแบบปัจจุบัน (ฉบับที่เปลี่ยนภาพลักษณ์พระเอก พระรองแล้ว) มีแนวโน้มเป็นผู้ชายอ่อนโยนและโรแมนติกมากขึ้น
พระเอก-พระรอง เปลี่ยนไปอย่างไร
การสร้างซีรีส์เกาหลีที่มีพระเอกเย็นชา ปากแข็ง ปากร้าย ไร้มารยาท ไม่ได้สนใจนางเอกตั้งแต่แรก แต่ท้ายที่สุดก็เปลี่ยนนิสัย (ถึงจะน้อยนิด) เพราะไปรักนางเอก กับการสร้างพระรองแสนดีและรักนางเอกเทียบกับพระเอก บางเรื่องเขารักนางเอกมาก่อน รักมานานแล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไป การปฏิบัติของผู้ชายเกาหลีที่ปฏิบัติต่อผู้หญิงเกาหลีก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
จะสังเกตได้ว่าพระเอกซีรีส์เกาหลี เรื่องที่มีนางร้าย พระเอกแทบไม่แยแสนางร้ายเลย จะมีเห็นใจบ้างก็เฉพาะเวลาที่เห็นว่านางน่าสงสาร นี่คือภาพที่สะท้อนว่าก็พระเอกมีแค่นางเอกในใจ เขาไม่ได้รักนางร้าย จะไม่ทำให้นางร้ายหวั่นไหวหรือสับสน รักแค่นางเอกคนเดียว ก็จะไม่ทำดีกับใครทั้งนั้น ส่วนหน้าที่ของพระรอง คือ คิดถึงนางเอกเป็นอันดับแรก ส่วนความรู้สึกของตัวเองมาทีหลัง
สังคมเกาหลีมีภาวะกดดันและความเครียดสูง ดังนั้น การที่ตัวละครต้องเจอกับปัญหามากมาย ก็เปรียบเสมือนชีวิตจริงของคนเกาหลีที่ต้องเจอปัญหาในทุกวัน บวกกับการที่พล็อตซีรีส์เกาหลีทั่วไป มักจะนำเสนอเรื่องราวของตัวละครที่มีชีวิตยากลำบากหรือมีปมในใจนับร้อยนับพัน มีแผลในใจที่มีแค่ตัวเอกเท่านั้นที่เยียวยาได้ ตัวละครหลักจะต้องเผชิญปัญหามากมาย แต่ทั้งคู่ก็สามารถฝ่าฝันมาได้ และรักกันในที่สุด พล็อตนี้อาจดูไม่ต่างจากละครบ้านเราเท่าไรนัก แต่องค์ประกอบอื่นในซีรีส์เกาหลีนั่นเองที่ทำให้มันต่าง
ดังนั้น ต่อให้ผู้ชายอย่างพระรองจะดีแค่ไหน ก็ไม่อาจได้ความรักจากนางเอก จึงทำได้แค่หวังให้นางเอกมีความสุข แม้ว่าความสุขนั้นจะไม่มีตัวเองอยู่ก็ตาม แถมยังทำให้อกหักอีก ตรรกะ “ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก” ใช้ไม่ได้กับนิยามของพระรอง
เป็นพระเอกก็ต้องมีของดี
พระเอก ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะมีคนมารัก แต่การสร้างตัวละครพระเอกขึ้นมานั้นต้องมีตำราพิชัยสงคราม ลองนึกตามว่าในโลกของความเป็นจริง การที่ผู้ชายปากร้าย ใจร้าย เย็นชา ไม่มีมารยาท ผู้ชายแบบนี้เป็นที่รังเกียจ โดนผู้หญิงด่าแน่นอน แล้วก็ไม่ใช่ตรรกะ “ผู้หญิงด่าแปลว่าผู้หญิงรักด้วย” คำด่าแต่ละคำมันแสดงความรักได้ที่ไหนกัน
โดยทั่วไป กลยุทธ์ที่พระเอกจะงัดมาดันพระรอง คือ จุดอ่อนบนความสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะละครไทยหรือเกาหลี สูตรสำเร็จของพระเอกมักจะเป็นคนที่ดูสมบูรณ์แบบ เก็บซ่อนอะไรไว้ในใจ แต่เมื่ออยู่กับนางเอกมักจะแสดงด้านที่อ่อนแอหรือข้อเสียออกมา ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อคนที่เรามองว่าสมบูรณ์แบบ ก็มีด้านที่เขาอ่อนแอ แล้วเราดันเป็นคนเดียวที่รู้ด้านนั้นของเขา เราจึงมีแนวโน้มจะชอบคนเหล่านั้นมากขึ้น เริ่มจากความสงสาร เห็นใจ จนใจอ่อน และก็มองว่าเขาใกล้ชิดตัวเองมากขึ้นถึงได้แสดงด้านนั้นออกมา
การเปลี่ยนแปลง พระเอกสูตรสำเร็จของเราจะเริ่มกลายเป็นหนุ่มที่อ่อนโยน ใจดี เป็นสุภาพบุรุษ ก็ต่อเมื่อเขามีใจ หรือยอมรับว่ารักนางเอกเข้าให้แล้ว ส่วนนางเอกนั้นก็จะตกหลุมรักพระเอกที่เปลี่ยนไปเป็นคนดี ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า คนเราชอบการเปลี่ยนแปลงมากกว่าอยู่นิ่งไม่มีอะไรพัฒนา เมื่อเห็นว่าตัวเองทำให้เขาเปลี่ยนได้ นางเอกจะมองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง และตัวเองก็มีคุณค่ามากพอที่ทำให้เขาเปลี่ยน
กลัวการสูญเสีย คนเราจะเห็นคุณค่าของบางสิ่งบางอย่างก็ต่อเมื่อเสียมันไปแล้ว (แน่นอนว่าไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับพระเอก) จะเห็นว่าพระเอกชอบหนีไปให้นางเอกตามหา ซึ่งจะเกิดเมื่อพระเอกถอดใจกับนางเอกที่ปากแข็ง พอนางเอกกลัวว่าจะเสียเขาไป หรือเกิดอาการหึงหวง เลยต้องไปตามกลับมา หรือการกลัวว่านางเอกจะหวั่นไหวกับพระรองแล้วเสียเธอไป จึงต้องยอมรับความรู้สึกตัวเอง ประมาณว่าจะรู้ในตอนว่าเขาหรือเธอมีค่ามากแค่ไหนก็ต่อเมื่อเขากำลังจะกลายเป็นของคนอื่น
พระรองมีเพื่อสร้างภาพให้นางเอก
ไม่ว่าจะสังคมเกาหลีหรือสังคมไทย บรรทัดฐานที่ใช้มองผู้หญิง คือการรักเดียวใจเดียว แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนมาจนถึงปี 2021 แล้ว แต่ผู้หญิงก็ยังถูกมองในแง่ลบเสมอว่ากาารสารภาพรักกับผู้ชายก่อน หรือการที่รักผู้ชายมากกว่าหนึ่งคนในชีวิต (แต่งงานหลายรอบ) เป็นเรื่องไม่ดี ไม่รักนวลสงวนตัว เช่นกัน หากนางเอกลังเล สองจิตสองใจ หรือแสดงท่าทีว่าเลือกไม่ได้ นางเอกจะถูกมองในมุมลบทันที
ซีรีส์เกาหลีส่วนใหญ่ เราจะเห็นว่านางเอกปฏิเสธพระรองไปแบบตรง ๆ อาจไม่ได้ดูร้ายเท่าพระเอกจัดการนางร้าย รู้สึกผิดอยู่บ้าง แต่คำพูดแทบจะไม่ถนอมน้ำใจกันเลย เพราะการทำดีด้วยมันทำให้อีกฝ่ายหวั่นไหว แล้วก็ดูว่าลังเลนั่นเอง
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตเราพบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตา บางคนผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป บางคนผ่านมาเพื่อให้จำ และบางคนก็ผ่านมาแล้วสร้างบาดแผลไว้ให้ จริงอยู่ที่ว่าคู่ที่เขารักกันจริง ๆ รักแค่คนคนเดียวมันก็มี แต่การจะเอาเกณฑ์ลักษณะนี้มากำหนดให้ผู้หญิงทุกคนเป็นแบบนั้นก็ไม่ยุติธรรม ในเมื่อเลิกกับแฟนเก่า จะให้ผู้หญิงไม่รักใครอีกเลยตลอดชีวิตก็คงไม่ใช่
เพราะมันเป็นสิ่งที่สังคมคาดหวัง การสร้างตัวละครนางเอกให้รักแค่เพียงพระเอก ทั้งที่พระรองผู้แสนดีจะทำให้หวั่นไหวแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่อาจมาทลายความรักที่ยั่งยืนของเธอได้ หากพระรองเป็นประเภทดีกับนางเอกคนเดียวแล้วนางเอกเกิดหวั่นไหวในช่วงแรก มันก็จะมีเหตุการณ์ให้นางเอกได้รู้แง่ลบของพระรองเข้า (โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับพระเอก) จนนางเอกต้องถอยห่างแล้วสร้างกำแพงมากั้นไว้ ทั้งที่ความเป็นจริง ไม่มีใครจะดีไปหมดทุกกระเบียดนิ้ว แม้แต่พระเอกที่เธอรักยังไม่ได้ดีมาก่อนหน้านี้ได้เลย
แล้วก็วนเข้า “ชายเป็นใหญ่” อีกที?
ที่นี้ก็กลับมามองที่ผู้ชาย การที่นางเอกไม่รักพระรอง โดยพระรองอยู่ได้แค่ในฐานะแอบรักและแสดงความยินดี มันก็กลับมาเสริมภาพลักษณ์ผู้ชายอีกอยู่ดี เพราะการสร้างตัวละครพระรองขึ้นมา ก็เหมือนกับการสร้างภาพจำที่ดีให้กับผู้ชายเกาหลีว่าขนาดเขาไม่รักก็ยังดีกับเขา แล้วก็อาจจะวนเข้าสู่เรื่องชายเป็นใหญ่อีกเหมือนเดิม เพียงแต่เป็นใหญ่ในแบบที่ดีขึ้นมาหน่อย ไม่ค่อยกดทับกดขี่อย่างเมื่อก่อน
ง่าย ๆ ก็คือ ยิ่งซีรีส์เกาหลีสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้ชายเป็นคนดีมากเท่าไร ผู้หญิงก็อาจจะถูกมองในแง่ลบได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะ…
นางเอก ถ้าเธอยังลังเลระหว่าง “คนที่เธอรัก และเขาก็รักเธอ” กับ “คนที่รักเธอ แต่เธอไม่รักเขา” แล้วล่ะก็ ภาพลักษณ์ของนางเอกและผู้หญิงที่ดีก็จะจางลง แน่นอนว่าหลายคนไม่คิดแบบนั้นแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าผู้หญิงจะทำอะไรก็ดูจะเสียหายมากกว่าผู้ชายเสมอ โดยเฉพาะในสังคมเกาหลี แถมเธอยังดูใจร้ายด้วยที่ไม่เลือกพระรองแล้วไปมีความสุขกับพระเอก อย่าลืมว่าชาวเน็ตเกาหลี (และไทย) หลายคน แยกไม่ออกระหว่างเรื่องจริงและละคร แอนตี้แฟนพร้อมถล่มยับเสมอ
การที่ซีรีส์เกาหลีมีแฟนต่างชาติติด อย่างในไทยก็มีแพลตฟอร์มทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายอยู่เต็มไปหมดเพื่อฉายซีรีส์เกาหลี การสร้างพระเอก-พระรองลักษณะนี้ มันก็คือการสร้างภาพลักษณ์และค่านิยมใหม่ให้กับแฟน ๆ ทั่วโลกเห็นว่าผู้ชายเกาหลีเปลี่ยนไปแล้ว อย่างพระเอก-พระรองที่อาจเคยนิสัยไม่ดีมาก่อน ยังเปลี่ยนได้เพราะผู้หญิงคนเดียว ยิ่งเน้นย้ำว่าผู้ชายเกาหลี “เปลี่ยนไปแล้ว” จริง ๆ
อย่างที่เรารู้กันว่าสื่อนี่แหละที่ชี้นำสังคมได้ดีกว่าอะไรทั้งหมด หลายคนจึงมองสื่อเป็นตัวเสี้ยมหรือยั่วยุ ขาดจรรยาบรรณ การสร้างตัวละครขึ้นมาในบทประพันธ์สักเรื่อง แน่นอนว่าคาแรคเตอร์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาลอย ๆ ยิ่งตัวละครดูกลมมากเท่าไร ก็ยิ่งชักนำสังคมได้มากเท่านั้น อย่างที่เรามักจะบ่นกันถ้าตัวละครตัวไหนแบนมากจนน่ารำคาญ และก็เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างละครขึ้นมาสักเรื่องโดยไม่มีที่มาที่ไป ไม่ชี้นำสังคม ไม่มีข้อคิดอะไรสอดแทรก ละครหรือซีรีส์จึงเป็นบันเทิงคดีที่มีหน้าที่ในตัวมันเอง โดยใช้ตัวละครที่เป็นมนุษย์เหมือนกับคนดูให้อะไรบางอย่างกับสังคม
สังคมเกาหลีอาจจะแตกต่างกับสังคมไทยบ้างในบางประเด็น แต่การสร้างจักรวาลพระเอก พระรอง และนางเอกขึ้นมาแบบรักสามเส้าเราสามคนนั้น เป็นขนบใหม่ที่สังคมเกาหลีพยายามทำ และก็ทำมันออกมาได้ดีด้วย ถึงได้ทำให้คนดูอิน ฟิน ตั้งทีมพระเอก-พระรอง แล้วก็หนีไปดูซีรีส์เกาหลีกันหมด เพราะพล็อตเดิม ๆ ของละครไทยที่มีตัวร้ายชายบ้างหญิงบ้าง ตบต่อยกันไปมา มันดูน่ารำคาญ แล้วก็ไม่มีอะไรน่าสนใจเลย ทุกเรื่องเป็นเหมือนกันหมด เขาเบื่อพล็อตแบบละครไทยกันเต็มแก่