ปีใหม่นี้เลิกงง “จับฉลาก” หรือ “จับสลาก” ดี

หลายคนน่าจะเคยงง หรือเคยสับสนกันมาบ้างตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วที่เริ่มมีการจับของขวัญช่วงปีใหม่ โดยที่เราไม่รู้ว่าจะเรียกมันว่าอะไรดี ระหว่าง “จับฉลาก” หรือ “จับสลาก” นั่นก็เพราะบางคนใช้ “ฉลาก” บางคนใช้ “สลาก” แล้วจริง ๆ แล้วใช้คำไหนกันแน่ ที่ตัวเราใช้อยู่นั้นใช้ผิดหรือใช้ถูก Tonkit360 มีคำตอบ

ความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของทั้ง 2 คำ ดังนี้

ความหมายของ “ฉลาก”

  • น. สิ่งเช่นติ้ว ตั๋ว หรือแผ่นกระดาษเล็ก ๆ เป็นต้น ซึ่งทำเป็นเครื่องหมายกำหนดไว้เนื่องในการเสี่ยงโชคเสี่ยงทายเป็นต้น
  • น. ป้ายบอกชื่อยา ใช้ปิดขวดยารักษาโรค เรียกว่า ฉลากยา
  • น. สลาก ก็ว่า
  • (กฎ) น. รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุสินค้า เช่น ฉลากยา ฉลากเครื่องสำอาง

ความหมายของ “สลาก”

  • น. สิ่งเช่นติ้ว ตั๋ว หรือแผ่นกระดาษเล็ก ๆ เป็นต้น ซึ่งทำเป็นเครื่องหมายกำหนดไว้เนื่องในการเสี่ยงโชคเสี่ยงทายเป็นต้น เช่น สลากภัต (ป.; ส. ศลาก)
  • น. ป้ายบอกชื่อยา ใช้ปิดขวดยารักษาโรค เรียกว่า สลากยา, ฉลาก ก็ว่า. (ป.; ส. ศลาก)
จากความหมายตามพจนานุกรม นั่นทำให้ในบริบทของการจับรางวัล จับของขวัญ ลุ้นโชค ชิงโชค เราสามารถใช้ได้ทั้ง 2 คำ คือ “จับฉลาก” และ “จับสลาก”

ทำไมถึงสับสนว่าต้องใช้อะไรกันแน่

สันนิษฐานว่ามาจากการเทียบเคียงความหมายจากภาษาอังกฤษ โดย

สลาก ถูกนำไปเทียบเคียงกับ a ticket, a tab, (to draw) lots หมายถึง การเสี่ยงโชค ซึ่งให้ความหมายในลักษณะของกระดาษแผ่น ๆ เล็ก ๆ ที่มีการทำสัญลักษณ์ในนั้น ใช้ชิงโชค เสี่ยงทาย แต่ไม่มีการแปะติดกับสิ่งของแต่อย่างใด

ส่วน ฉลาก ถูกนำไปเทียบเคียงกับ a label หมายถึง รูป รอยประดิษฐ์ กระดาษ หรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้า ซึ่งแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้า ซึ่งจะให้ความหมายในลักษณะเป็นป้าย ยี่ห้อ หรือถูกแปะติดเพื่อทำเครื่องหมาย เพราะมันถูกให้ความหมายว่า “แสดงไว้ที่สินค้า”

เมื่อความหมายในการตีความตามความรู้สึกไม่เหมือนกันจากการเทียบเคียงภาษา ทำให้สับสนว่าจะใช้อะไรกันแน่ คำไหนถูก และคำไหนผิด แต่ถ้าใช้ในภาษาไทยแล้ว ตามความหมายในพจนานุกรมภาษาไทยทั้ง 2 คำมีความหมายเดียวกัน จึงสามารถใช้ได้ทั้ง 2 คำ ได้ทั้งจับฉลากและจับสลาก

รู้จัก “พจนานุกรม” กันสักนิด

จำกันได้หรือไม่ “พจนานุกรม” คือ หนังสือที่หลาย ๆ คนต้องพกไปโรงเรียนทุกวันสมัยเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา หรือก็คือ เป็นหนังสือที่ใช้อธิบายความหมายของคำศัพท์ภาษาไทย และตรวจตัวสะกด ที่ราชบัณฑิตยสภาจัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการเขียนหนังสือไทยให้เป็นระเบียบเดียวกัน ซึ่งจะมีการปรับปรุงแก้ไขตามลำดับเรื่อยมา ตามยุคสมัยของช่วงเวลาทางสังคม

นั่นเป็นเพราะว่า เมื่อเวลาผ่านไป จะมีคำศัพท์บางคำที่ตายไปแล้ว (ไม่ปรากฏการใช้คำศัพท์คำนั้นอีกแล้ว) พจนานุกรมฉบับปรับปรุงใหม่ก็จะนำคำนั้นออกไป เช่นเดียวกัน เมื่อมีคำศัพท์เกิดใหม่ หรือคำศัพท์เดิมที่มีความหมายเพิ่มเติม ก็จะบัญญัติความหมายขึ้นมาใหม่เช่นกัน

เมื่อราชบัญฑิตยสภาจัดพิมพ์พจนานุกรมเล่มใหม่เสร็จแล้ว จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการใช้ตัวสะกด และเผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษา ก็จะมีผลบังคับใช้ นั่นแปลว่าหนังสือราชการ หนังสือเรียน หรือเอกสารอื่นใดที่ใช้สำหรับการติดต่อกิจธุระ จะใช้ตัวสะกด ออกเสียง และให้ความหมายตามพจนานุกรมฉบับล่าสุดเสมอไป

ซึ่งปัจจุบันนี้ พจนานุกรมฉบับล่าสุดที่ใช้สำหรับอ้างอิงตัวสะกด อ้างอิงการออกเสียง และอ้างอิงความหมาย จะใช้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เป็นหลัก เพราะฉะนั้น หากไม่แน่ใจการสะกดคำว่าถูกหรือไม่ ไม่มั่นใจว่าคำนี้ต้องออกเสียงอย่างไร และไม่รู้ว่าคำนี้แปลว่าอะไร ให้ใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เป็นตัวอ้างอิง

ถึงเวลานี้ หลายคนน่าจะนึกรูปร่างหน้าตาของพจนานุกรมในสมัยเด็ก ๆ ออกแล้วว่าเป็นหนังสือที่ค่อนข้างใหญ่และหนัก แต่ในปัจจุบันนี้ เราไม่จำเป็นต้องแบกพจนานุกรมเล่มใหญ่นั้นไปไหนต่อไหนเพื่อตรวจดูว่าเขียนถูกหรือไม่ หรือเปิดความหมายคำอีกต่อไปแล้ว เพราะทางราชบัณฑิตยสภาได้เปิดระบบพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 แบบออนไลน์ และมีเป็นแอปพลิเคชันให้ดาวน์โหลดได้ฟรีบนสมาร์ตโฟนแล้ว

ในชีวิตประจำวัน เราสามารถใช้ภาษากันเอง ภาษาปาก ภาษาผิด ๆ ถูก ๆ ศัพท์วัยรุ่น ศัพท์สแลง ได้ตามสะดวก เพราะตามหลักภาษาศาสตร์ ที่ศึกษาที่ตัวภาษาโดยตรงไม่เชื่อมโยงกับศาสตร์แขนงอื่นใด ไม่มองว่าเป็นภาษาวิบัติ แต่มองว่าเป็น “การเปลี่ยนแปลงของภาษา” ซึ่งถือเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของภาษา ภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ จะมีแนวโน้มการใช้งานที่ยาวนานกว่าภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อย หรือไม่เปลี่ยนแปลงเลย จะทำให้ภาษาเหล่านั้นตายไปในที่สุด

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าคู่สนทนาของเราเป็นใคร ใช้ในสถานการณ์แบบไหน แต่เมื่อต้องใช้ในการติดต่อสื่อสารแบบเป็นทางการ สถานการณ์ที่เป็นงานเป็นการ จะต้องใช้คำให้ถูกต้อง สะกดให้ถูก และใช้อย่างถูกความหมาย เพื่อป้องกันการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการสื่อสาร

เพราะฉะนั้น จากนี้ก็เลิกงงหรือสับสนได้แล้วว่าจะ “จับฉลาก” หรือ “จับสลาก” ดี สามารถใช้ได้ทั้งสองคำตามบริบทของการจับรางวัล จับของขวัญ ลุ้นโชค ชิงโชคนั่นเอง