15 ต.ค.ของทุกปี คือ “วันล้างมือโลก”

รู้หรือไม่  วันที่ 15 ต.ค.ของทุกปี คือวันล้างมือโลก (Global Handwashing Day) เพื่อกระตุ้นให้ชาวโลกเห็นถึงความสำคัญของการล้างมือด้วยสบู่ว่าสามารถช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ การล้างมือถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี จนทำให้มีการรณรงค์เรื่องการล้างมือให้สะอาดมากเป็นพิเศษ

วันล้างมือโลกเริ่มมีครั้งแรก ปี 2551

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations :UN) กำหนดให้วันที่ 15 ต.ค. เพื่อเป็นการรณรงค์และกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชากรทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญเรื่องของการล้างมือด้วยสบู่อย่างถูกวิธีเป็นประจำ ตลอดจนเกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการป้องกันการติดเชื้อโรคที่สำคัญได้ทางหนึ่ง 

โดยวันล้างมือโลกถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2551 พร้อมกับเลือกให้ปีนั้นเป็นปีสากลแห่งการรักษาอนามัย ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่เห็นความสำคัญของการล้างมือและเข้าร่วมเป็นภาคีกว่า 83 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศภาคีด้วยเช่นกัน

โดยปีนี้กระทรวงสาธารณสุุขมีแนวคิด “สุขอนามัยมือ สำหรับทุกคน : Hand Hygiene for All เพื่อสร้างพฤติกรรมด้านสุขอนามัยให้ประชาชนล้างมืออย่างถูกวิธีเป็นประจำ และสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของการล้างมือ ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน ตลาดสด ศูนย์อาหารหรือสถานที่อื่น ๆ

ล้างมือลดอัตราเสี่ยงเกิดโรค

รู้หรือไม่ว่าการล้างมือช่วยป้องกัน และลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ อาทิ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร โดยจากการสำรวจของกรมอนามัยในการจัดกิจกรรมรณรงค์วันล้างมือโลกที่ผ่านมา พบว่าประชาชนมีการล้างมือทุกครั้งมากที่สุดหลังออกจากห้องส้วม ร้อยละ 95.24 รองลงมาคือหลังสัมผัสสิ่งสกปรก เช่น น้ำมูก น้ำลาย ขยะ ร้อยละ 90.20 และหลังกลับจากนอกบ้าน ร้อยละ 70.89 โดยส่วนใหญ่มีการล้างมือด้วยน้ำและสบู่มากที่สุด ร้อยละ 86.36 ขณะที่มีเพียง ร้อยละ 28.11 เท่านั้น ที่ทราบวิธีการล้างมือที่ถูกต้องว่ามี 7 ขั้นตอน

ล้างมือสะอาดยึดหลัก 2 ก่อน 5 หลัง 7 ขั้นตอน

การล้างมือที่ถูกวิธีด้วยน้ำและสบู่นั้น  แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัยแนะนำให้ยึดหลัก 2 ก่อน 5 หลัง คือ ก่อนทำอาหาร และรับประทานอาหาร และ 5 หลัง คือหลังเข้าห้องส้วม หยิบจับ สิ่งสกปรก เยี่ยมผู้ป่วย สัมผัสหรือเล่นกับสัตว์ และหลังกลับมาจากนอกบ้าน

โดยวิธีการล้างมือทึ่ถูกต้อง ทำได้ใน 7 ขั้นตอน

1) ฝ่ามือถูกัน

2) ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว

3) ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว

4) หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ

5) ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ

6) ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ  

7) ถูรอบข้อมือ 

ทั้งนี้ ทุกขั้นตอนให้ทำ 5 ครั้ง สลับกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งการล้างมือด้วยวิธีการนี้ถือเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เสียค่าใช้จ่ายน้อย และสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ดี

ข้อมูล : กรมอนามัย