ก่อนจะเซ็น “ค้ำประกัน” ให้ใคร ขอให้ท่องไว้ “เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด” เพราะเมื่อใดที่คุณจรดปากกาลงนามในสัญญาค้ำประกัน เท่ากับว่า คุณอยู่ในฐานะ “ผู้ค้ำประกัน” ที่ยินดีชดใช้หนี้แทน หากลูกหนี้ตุกติกไม่ยอมชำระหนี้ ดังนั้น เพื่อจะไม่เกิดปัญหาในภายหลัง ลองมาดูกันว่า การค้ำประกันคืออะไร มีวิธีแก้ไข หรือป้องกันเมื่อเกิดข้อผิดพลาดอย่างไรบ้าง
การค้ำประกัน คือ?
เป็นการที่คุณเอาตนเองเข้าไปผูกพันต่อเจ้าหนี้ ในฐานะ “ผู้ค้ำประกัน” ซึ่งยินยอมชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม หรืออาจเรียกว่า เป็นการเอาความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้ค้ำประกัน เข้าไปประกันการชำระหนี้นั่นเอง
โดยสัญญาค้ำประกันมีหลากหลายประเภท อาทิ กู้ยืมเงิน, กู้เงินเรียน (กยศ., ทุนเรียนต่อ), เช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์, ซื้อขายบ้าน/คอนโด หรือค้ำประกันบุคคลเข้าทำงาน เป็นต้น
สามารถเป็น “ผู้ค้ำประกัน” ให้ใครได้บ้าง และจำกัดจำนวนหรือไม่?
คุณสามารถเซ็นชื่อในสัญญาค้ำประกันให้กับบุคคลใดก็ได้ โดยไม่จำกัดว่าบุคคลดังกล่าวจะมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือไม่ ปัจจุบันการค้ำประกันที่พบได้ส่วนใหญ่มีทั้ง ครู/อาจารย์ค้ำประกันการกู้เงินเรียนให้ลูกศิษย์ เพื่อนค้ำประกันซื้อรถยนต์ให้เพื่อน พี่ชายค้ำประกันซื้อบ้านให้น้องสาว หรือแม้แต่แฟนช่วยค้ำประกันซื้อรถจักรยานยนต์ให้แฟน เป็นต้น
นอกจากนี้ กฎหมายไม่ได้ห้ามว่า บุคคลหนึ่งสามารถเซ็นค้ำประกันให้บุคคลอื่นได้กี่คน ฉะนั้น คุณจะเซ็นชื่อในสัญญาค้ำประกันให้ญาติหรือเพื่อนจำนวนเท่าใดก็ได้ เพียงแต่การค้ำประกันให้กับบุคคลอื่น ควรจำกัดวงเงินให้อยู่ในขีดความสามารถที่คุณสามารถชำระหนี้ได้จริง เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกบังคับคดียึดทรัพย์ หรือฟ้องล้มละลาย
เมื่อลูกหนี้หลีกเลี่ยงการชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันต้องชดใช้อย่างไร?
โดยมากแล้วสัญญาค้ำประกัน จะระบุให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่าง “ลูกหนี้ร่วม” เท่ากับว่า เจ้าหนี้สามารถเข้ามาทวงถามเอาจากผู้ค้ำประกันได้ ทั้งวงเงินที่กู้ ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ตามมา อาทิ ค่าเสียหายที่เกิดจากเหตุที่ลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ อย่างค่าทนายความ หรือค่าใช้จ่ายในการทวงถาม เป็นต้น เรียกว่า ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบแบบไม่จำกัดวงเงิน
ทั้งนี้ หากในสัญญาค้ำประกันไม่ได้ระบุว่า “ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม” ก็สามารถใช้ “สิทธิเกี่ยง” เมื่อถูกเจ้าหนี้ทวงหนี้ได้ ในกรณีดังนี้
(1) หากเจ้าหนี้มาบังคับให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ถ้าลูกหนี้ยังไม่ได้ถูกฟ้องล้มละลาย หรือหนีไปต่างประเทศ ผู้ค้ำประกันสามารถขอให้เจ้าหนี้ไปบังคับชำระเงินเอาจากลูกหนี้ก่อนได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688)
(2) ถ้าผู้ค้ำประกันสามารถพิสูจน์ได้ว่า ลูกหนี้ยังมีหนทางที่จะชำระหนี้ได้ กฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องไปบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 689)
(3) หากเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน ถ้าผู้ค้ำประกันร้องขอให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์ที่เจ้าหนี้ได้ยึดไว้ เจ้าหนี้ต้องบังคับชำระหนี้จากทรัพย์ที่ยึดไว้เสียก่อน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 690)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้ค้ำประกันจะมีสิทธิเกี่ยงก็จริง แต่ถ้าลูกหนี้ไม่มีหรือไม่ยอมชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิกลับมาเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระได้อยู่ดี
ผู้ค้ำประกันมีสิทธิไล่บี้เอากับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำร่วมหรือไม่?
สำหรับผู้ค้ำประกันที่ได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ไปแล้ว มีสิทธิที่จะฟ้องไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันร่วม เพื่อเรียกจำนวนเงินกับดอกเบี้ยที่ชำระหนี้แทนลูกหนี้คืน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693)
เมื่อผู้ค้ำประกันเสียชีวิต ทายาทต้องชดใช้แทนหรือไม่?
เรื่องนี้ควรแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
(1) กรณีผู้ค้ำประกันเสียชีวิต ก่อนลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้
สำหรับประเด็นนี้ อาจขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้พิพากษา เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีมีคำพิพากษาที่วางบรรทัดฐานในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จาก
(1.1) ทายาทของผู้ค้ำประกันไม่ต้องเข้ามาชดใช้แทน เนื่องจากลูกหนี้ผู้ค้ำประกันตายก่อนที่ลูกหนี้จะผิดนัด สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงระงับลง (ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 6023/2538)
(1.2) สัญญาค้ำประกันไม่ใช่สัญญาเฉพาะตัว จึงสามารถตกทอดแก่ทายาทได้ แม้ผู้ค้ำประกันตายไปก่อนที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ ทายาทย่อมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันแทนที่ผู้ตาย ดังนั้น หากลูกหนี้ผิดนัดภายหลังที่ผู้ค้ำประกันตาย ทายาทของผู้ค้ำประกันก็ยังต้องรับผิดใช้หนี้ให้เจ้าหนี้อยู่ดี (ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1268/2555)
(2) กรณีผู้ค้ำประกันเสียชีวิต หลังที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้
สำหรับกรณีนี้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดใช้หนี้แทนลูกหนี้ตามสัญญาค้ำประกันอยู่แล้ว เป็นผลให้หนี้ดังกล่าวตกทอดไปถึงทายาทของผู้ค้ำประกันด้วย
สามารถถอนตัวจากการเป็นผู้ค้ำประกันได้หรือไม่?
ในเรื่องนี้ กฏหมายไม่ได้ให้สิทธิผู้ค้ำประกันสามารถถอนการค้ำประกันได้เอง ฉะนั้น หากผู้ค้ำประกันต้องการขอถอนชื่อ ต้องเจรจากับเจ้าหนี้โดยตรง หากเจ้าหนี้เห็นชอบก็สามารถยกเลิกการเป็นผู้ประกันตามสัญญาค้ำประกันได้ทันที แต่ส่วนใหญ่แล้วเจ้าหนี้มักจะไม่ยกเลิกสัญญา เนื่องจากว่าหนี้ของลูกหนี้ที่มีการทําสัญญาค้ำประกันการชําระหนี้ไว้ตามกฎหมาย เป็นการการันตีว่า หนี้ของเจ้าหนี้ไม่มีวันสูญแน่นอน
อย่างไรก็ตาม สัญญาค้ำประกันต้องระบุชัดเจนว่า ค้ำประกันหนี้อะไร จำนวนเท่าไร หากระบุไม่ชัดเจน ผู้ค้ำประกันอาจหลุดพ้นความรับผิดเช่นกัน
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, วารสารนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6023/2538, คำพิพากษาฎีกาที่ 1268/2555