บังเอิญหรือตั้งใจ? เมื่อสาว ๆ มี “ประจำเดือน” ใกล้กัน

ภาพจาก freepik.com

สาว ๆ เคยสังเกตตัวเองหรือไม่ ว่าเรากับเพื่อนที่สนิทกัน หรือเรากับผู้หญิงคนอื่นที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกัน ไม่ว่าจะทำงานด้วยกัน เรียนด้วยกัน หรือเป็นรูมเมทกัน ประจำเดือนมักจะมาในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

หรือเมื่อเราเข้าไปคลุกคลีกับผู้หญิงกลุ่มใหม่ ประจำเดือนของเราก็จะเลื่อนไปใกล้เคียงกันกับทุกคนในกลุ่มได้อย่างน่ามหัศจรรย์ หากเคยมีประสบการณ์ที่ว่านี้แล้วล่ะก็ ไม่ได้มีเพียงแค่เราที่รู้สึกกันไปเอง แต่ผู้หญิงเกือบทั้งโลกก็รู้สึกเหมือนกัน ซึ่งนี่เป็นเพียงเรื่องบังเอิญ หรือเป็นเรื่องที่วิทยาศาสตร์อธิบายได้ ซึ่งนี่อาจจะเป็นกลไกตามธรรมชาติที่มีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่จะเข้าใจ

ข้อสันนิษฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับประจำเดือนของผู้หญิงที่มาใกล้เคียงกัน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีข้อสันนิษฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ โดยเริ่มจากการศึกษาของ ดร.มาร์ธา แมคคลินต็อก (Martha McClintock) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ที่เป็นที่รู้จักด้วยชื่อเสียงในการศึกษาวิจัยสารฟีโรโมนในมนุษย์ และทฤษฎีการมีประจำเดือนของผู้หญิง

ดร. แมคคลินต็อก ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงที่อยู่ด้วยกันมีรอบเดือนในเวลาใกล้เคียงกันนั้น เกิดมาจาก การที่ร่างกายหลั่งสารฟีโรโมน (pheromones) ออกมาโดยปะปนมากับเหงื่อ ทำให้ร่างกายของผู้หญิงมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารฟีโรโมนที่ว่า เป็นตัวกระตุ้นให้ประจำเดือนของผู้หญิงมาในเวลาที่ใกล้เคียงกัน หรือบางคนมาพร้อมกันเลยก็มี โดยการเร่งให้บางคนตกไข่เร็วขึ้น หรือบางคนตกไข่ช้าลง จนในที่สุดก็เข้ามาสู่ช่วงเวลาเดียวกัน

สำหรับฟีโรโมนนั้น เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่สัตว์สร้างขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อฟีโรโมนถูกหลั่งออกมา จะกระตุ้นการตอบสนองต่อสัตว์ในสังคมที่อยู่ในสปีชีส์เดียวกันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมหรือสรีระ ซึ่งสารชนิดนี้ไม่ได้มีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น ทำให้วัตถุประสงค์ของฟีโรโมนนั้นแตกต่างกันไป ส่วนในมนุษย์ที่รู้จักกันนั้น สารตัวนี้จะหลั่งออกมาเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม

อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานของ ดร. แมคคลินต็อก ก็ถูกวิจารณ์จากศ. ไคลด์ เอ็น. วิลสัน (Clyde N. Wilson) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมิสซูรี่ ที่นำเอาการวิจัยและการเก็บข้อมูลของดร. แมคคลินต็อก มาวิเคราะห์ ศ. วิลสันพบข้อผิดพลาดในการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระยะเวลาในกาตกไข่ของผู้หญิง และให้ข้อมูลว่าไม่เกี่ยวข้องที่จะทำให้ผู้หญิงมีประจำเดือนใกล้เคียงกัน

นั่นเป็นเพราะรอบเดือนของแต่ละคนสั้น-ยาวไม่เท่ากัน แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 26-30 วัน อีกทั้งยังกำหนดเวลาในการมาก็ไม่แน่นอน จึงเป็นไปได้ว่าเมื่อประจำเดือนของเราเกิดคลาดเคลื่อน ก็จะบังเอิญไปมีรอบเดือนใกล้เคียงกับผู้หญิงคนอื่นที่ใกล้ชิดกันก็เป็นได้ โดยข้อมูลนี้สอดคล้องกับข้อมูลของ ดร. ลิน ซิมป์สัน (Lynn Simpson) สูตินรีแพทย์ศูนย์การแพทย์คีฟแลนด์ สหรัฐอเมริกา ที่บอกว่าการที่ผู้หญิงอยู่ใกล้ ๆ กัน ไม่ได้ส่งผลให้ประจำเดือนมาใกล้กัน

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามเชื่อมโยงไปถึงทฤษฎีการคัดเลือกทางธรรมชาติ (Natural Selection) ของชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin) ว่าธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตต้องการการสืบพันธุ์เพื่อดำรงเผ่าพันธ์ุของตนให้อยู่รอด การที่ผู้หญิงกลุ่มเดียวกันมีช่วงตกไข่ใกล้เคียงกัน เหมือนเป็นการแสดงว่าพร้อมที่จะปฏิสนธิ อีกทั้งในช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือน ฮอร์โมนเพศจะสูงกว่าปกติ ร่างกายจึงปรับตัวเองโดยธรรมชาติให้มีฮอร์โมนดึงดูดเพศชายให้เลือกตนเอง แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็ไม่ได้มีหลักฐานใดมายืนยันแน่ชัด

บางก็ว่าการที่ผู้หญิงตกไข่ใกล้เคียงกัน หากได้รับการปฏิสนธิในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็มีแนวโน้มที่จะมีลูกในเวลาใกล้เคียงกันตามไปด้วย ซึ่งผู้หญิงก็อาจจะช่วยกันเลี้ยงลูกได้ดี บ้างก็สันนิษฐานว่าผู้หญิงที่อยู่ใกล้กันก็อาจจะมีสภาพอารมณ์คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะสภาวะความเครียดหรือการผ่อนคลายนั้นมีผลต่อการมีประจำเดือน ผู้หญิงที่อยู่ใกล้กันจึงมีแนวโน้มที่จะมีสภาวะอารมณ์สอดคล้องกัน ก็เลยมีโอกาสที่ประจำเดือนจะมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่มีหลักฐานบ้างไม่มีหลักฐานบ้าง และก็ยังคงเป็นปริศนาต่อไปว่าแท้จริงแล้ว การที่ผู้หญิงที่อยู่ใกล้เคียงกันมีประจำเดือนในช่วงเวลาใกล้ ๆ กันนั้นเป็นเพียงเรื่องบังเอิญหรือธรรมชาติสร้างโดยตั้งใจ แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนทุกกลุ่มจะต้องมีประจำเดือนใกล้เคียงกับเพื่อนกลุ่มเดียวกันหรือผู้หญิงที่อยู่ใกล้กันเสมอไป จึงต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าข้อสันนิษฐานใดเป็นไปได้มากกว่ากัน

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงเราต่างเข้าใจกันดีว่าข้อดีของการที่คนกลุ่มเดียวกันมีประจำเดือนมาใกล้ ๆ กัน จะช่วยเป็นสัญญาณเตือนให้คนอื่นในกลุ่มรู้ว่าใกล้ถึงเวลาของตัวเองแล้ว อีกทั้งยังสามารถยืมผ้าอนามัยกันได้ด้วย และที่สำคัญ ในช่วงที่มีประจำเดือน ก็มีเพื่อนหัวอกเดียวกันได้รวมกลุ่มพูดคุย ปรึกษาปัญหาชีวิตซึ่งกันและกันได้ดี

ข้อมูลจาก : health.clevelandclinic.org , healthline.com