ตรรกะวิบัติของคนทำสื่อเพราะคำว่า “ทำแค่ให้มันมี”

เคยผ่านวิชาตรรกวิทยากันมาบ้างไหมคะ วิชาที่ว่าด้วยการหาเหตุผลด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างมีระบบและแบบแผน เป็นวิชาที่ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้เหตุผล หน้าที่ของตรรกวิทยา คือการให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงทั่วไปเพื่อยืนยันให้เห็นความจริงอีกสิ่งหนึ่งอย่างมีเหตุและมีผล แต่วิธีคิดแบบหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองก็มีค่ะ และเราจะเรียกมันว่า “ตรรกะวิบัติ”

ถามว่าวิธีคิดแบบไหนที่เป็นความคิดแบบตรรกะวิบัติ ลองดูประโยคนี้นะคะ “เราไม่ต้องพยายามมากหรอก ขนาดคนอื่นยังไม่ค่อยจะพยายามเลย” (เป็นประโยคที่มาจากน้อง “ปณิธิ วณสิริกุล” จาก TEDxYouth@Bangkok) คุณเคยคิดแบบนี้ไหมเวลาทำงาน หรือคิดในลักษณะใกล้เคียงแบบนี้ อาทิ “ทำงานหนักไปก็เท่านั้น ไม่ได้เงินเพิ่มขึ้นมาหรอก” หรือ “ทำงานเท่าเงินเดือนก็น่าจะพอแล้ว” เหล่านี้ล้วนเป็นวิธีคิดแบบที่เรียกว่า “ตรรกะวิบัติ” และวิธีคิดแบบนี้กำลังลามไปทุกแวดวงการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการสื่อที่หลายคนกำลังรู้สึกอ่อนแรง บางคนถึงขั้นแค่ทำให้จบวันไปก็มี

ในฐานะที่อยู่ในวงการสื่อมาตลอดชีวิตการทำงาน คำว่า “ทำแค่ให้มันมี” นั้นมีอยู่จริงและเจอกับตัวเองมาหลายครั้งคนในลักษณะนี้จะทำงานเพียงเพื่อให้เสร็จไปวัน ๆ โดยไม่สนใจว่างานที่ผลิตออกมานั้นจะได้ผลตอบรับอย่างไร มีหน้าที่ผลิตก็ผลิตไป เจ้าของมีหน้าที่จ่ายเงินก็จ่ายไป ส่วนเนื้อหาที่ผลิตจะใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ คนทำไม่เคยประเมินตัวเองได้เพราะไม่เคยแม้แต่จะกลับไปดูงานตัวเอง ละเลยถึงขนาดปล่อยให้เกิดข้อผิดพลาดออกสู่สาธารณะแม้จะได้ชื่อว่าเป็นสื่อกระแสหลักก็ตาม

ยิ่งในยุคดิจิทัล ที่สื่อจากยุคอนาล็กำลังอ่อนแรงคนที่คิดแบบ “ทำแค่ให้มันมี” ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราได้เห็นคุณภาพเนื้อหาของสื่อกระแสหลักที่บางครั้งมีคุณภาพแย่กว่าคนที่ทำเนื้อหาในโซเชียลมีเดีย และล่าสุดเพิ่งจะได้รับโทรศัพท์เมื่อสัปดาห์ก่อน เกี่ยวกับคุณภาพของรายการถ่ายทอดสด ที่ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาในราคาแสนแพง แต่กลับปล่อยให้คุณภาพของการผลิตอยู่ในมาตรฐานเท่ากับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นการถอยหลังเข้าคลองชนิดที่บ่งบอกตรรกะวิบัติของคนทำงานเลยทีเดียว

แต่ก่อนที่ผู้เขียนจะกลายเป็นคนตรรกะวิบัติไปอีกคน เพราะไปกล่าวหาคนทำงานที่ “ทำแค่ให้มันมี” เราคงต้องกลับมาหาเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงได้มีวิธีคิดแบบนั้น ซึ่งหลังจากพิจารณาจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับทีมงานที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น แม้ว่าจะต้องทำงานในเวลาที่แตกต่างจากคนทั่วไป เข้าสตูดิโอเวลา 15.00 น. เลิกสตูดิโอ เวลา 03.00 น. (หรือตีสามของอีกวัน) สิ่งที่เห็น คือคนเหล่านั้นมีใจให้กับงาน และรู้สึกว่างานที่ทำท้าทาย สามารถนำไปพัฒนาตัวเองได้ รวมไปถึงค่าตอบแทนที่พอสมน้ำสมเนื้อ ทำให้พวกเขามีความรู้สึกอยากทำงานที่ดีออกไป แม้จะมีบางครั้งเผอเรอทำด้วยความคุ้นชิน แต่พอถูกกระตุ้นเตือนก็สามารถกลับคืนมาเหมือนเดิมได้

หากมีคนอีกประเภทแม้ว่างานจะท้าทายอย่างไร มีค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อแค่ไหน แต่ด้วยความสามารถที่ไม่เคยรู้ตัว ว่าไม่ถึง เพราะโกหกตัวเองว่ารู้มาตลอด คนเหล่านี้จะสะสมตรรกะวิบัติเอาไว้ทีละนิด ทีละนิด จนมีขนาดใหญ่ขึ้น ท้ายที่สุดก็บดบังความไม่รู้ของตนเอง “คิดว่ารู้แล้ว คิดว่าทำได้แล้ว คิดว่ามีความสามารถเหนือคนอื่น แต่พอให้ลงมือทำกลับทำไม่ได้” แล้วก็บอกกับคนอื่นว่า งานนี้ไม่เหมาะสมกับความสามารถของพวกเขา สุดท้ายก็มีบทสรุปว่า “ไม่เห็นจะมีอะไรยากเลย แต่ฉันไม่ทำหรอกเพราะฉันต้องได้ค่าตอบแทนมากกว่านี้”

เอาเข้าจริงแล้วไม่ใช่แค่รายการถ่ายทอดสดของเจ้าใหญ่เจ้านั้นแต่เพียงรายการเดียวหรอกค่ะ เพราะทุกวันนี้เราเห็นรายการโทรทัศน์บางรายการที่หลายคนมีคำถามตามมาว่า “ปล่อยให้ออกมาได้อย่างไร” เราเห็นเนื้อหาในโลกออนไลน์ที่ Copy&Paste ซ้ำไปซ้ำมา เราเห็นบทความที่เต็มไปด้วยคำผิด หรือแปลผิดจากต้นฉบับอยู่ในหลายเว็บไซต์ เราเห็นคลิปที่เต็มไปด้วยความหยาบคายหรือคุกคามทางเพศ เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะคนผลิตเริ่มต้นจากวิธีคิดที่เอาง่ายเข้าไว้ ใครทำอะไรเราทำด้วย ก๊อปปี้ไปอย่าได้แคร์ โป๊เข้าไว้จะได้เรียกยอดวิว ฉอดให้เก่งเข้าไว้คนจะได้สนใจ

ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำกล่าวหนึ่งที่ว่า “อยากรู้ว่าสังคมนั้นมีลักษณะเช่นไร ให้ดูสื่อที่พวกเขาเสพ” เป็นคำกล่าวที่ชัดเจนนะคะ เพราะเท่ากับว่าคุณภาพสื่อในปัจจุบันก็สามารถสะท้อนคุณภาพคนในสังคมได้เช่นกัน เช่นนี้แล้วการทำงานแบบ “ทำแค่ให้มันมี” อาจจะกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไปแล้ว หรือคุณผู้อ่านคิดเห็นอย่างไร

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ