รถของคุณยาวกี่เมตร?

ในช่วงที่หลายสถานที่ต้องหยุดให้บริการเพราะพิษโควิด-19 ปัญหาการหาที่จอดรถในห้างแทบจะหมดไป แต่ในบางสถานที่อย่างโรงพยาบาล ยังเป็นจุดที่มีคนแวะเวียนไปใช้บริการแน่นเอียดแทบทุกวันครับ

อย่างเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมขับรถพาคุณแม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง ทันทีที่เลี้ยวรถเข้าไป รู้สึกตกใจไม่น้อย เพราะมีรถจอดล้นออกมาถึงป้อมยามด้านติดกับถนนใหญ่ พร้อมอุทานในใจว่า “อิ๊บอ๋ายแล้ว ไม่มีที่จอดแน่นอน!”

ทว่าเมื่อวนรถเข้าไปในลานจอดได้เพียงไม่กี่สิบเมตร มีรถฮอนด้า แจ๊ซ ที่จอดเทียบข้างอยู่ กำลังเตรียมตัวที่จะออกรถ นาทีนั้นผมอุทานในใจอีกครั้ง “โชคดีจุงเบย” ขณะเดียวกัน พี่รปภ.ที่น่ารัก ก็จัดการโบกให้อย่างแข็งขัน “จอดแทนที่คันนี้เลยครับ!”

แต่ ครับ แต่ เมื่อผมนำรถเดินหน้า เพื่อเตรียมจะถอยหลังเพื่อจอดเทียบข้าง รู้สึกได้ทันที่ว่า จอดไม่ได้! เพราะคาดคะเนด้วยสายตา ความยาวของรถฮอนด้า แอคคอร์ด โฉม G9 ที่ยาวร่วม 5 เมตร คงไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปจอดในพื้นที่ว่างนั้นได้ เลยต้องเปิดโอกาสให้ท่านอื่นที่ขับตามมา และขับวนหาที่จอดใหม่ต่อไป

แน่นอนครับ มันคือเรื่องของขนาด! ที่ผมติดใจมาตลอด ว่าที่จอดรถแบบเทียบข้าง กับที่จอดแบบเข้าซอง ทั้งแนวตั้งฉาก และแนวเฉียง มันมีความกว้าง ความยาวเท่ากันทุกที่หรือไม่ เพราะในความเป็นจริงคือ การจอดแบบเทียบข้าง น่าจะต้องใช้พื้นที่ในทางยาวมากกว่า เพราะต้องเผื่อระยะจากรถคันหน้า และคันหลังเอาไว้ด้วย

กฎกระทรวงมหาดไทยปี 2537 ฉบับที่ 41 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ระบุเรื่องพื้นที่สำหรับจอดรถไว้ชัดเจนครับ ว่าต้องเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า! แหม่ อันนี้ก็แน่นอนอยู่แล้วครับ (ฮา) แต่ยังมีต่อครับ คือหากเป็นที่จอดแบบเทียบข้าง จะต้องกว้างอย่างน้อย 2.4 เมตร และยาวอย่างน้อย 6 เมตร (ย้ำว่าอย่างน้อยนะครับ)

ส่วนที่จอดแบบเข้าซอง ถ้าเป็นแนวตั้งฉากกับทางหลัก จะต้องกว้างอย่างน้อย 2.4 เมตร และยาวอย่างน้อย 5 เมตร ขณะที่ที่จอดเข้าซองแบบเฉียง 30 องศาขึ้นไป จะต้องกว้างอย่างน้อย 2.4 เมตร และยาวอย่างน้อย 5.5 เมตร นั่นหมายความว่า กฎหมายควบคุมอาคาร เขากำหนดเรื่องนี้ไว้ชัดเจนอยู่แล้ว

ทีนี้ลองกลับมาย้อนดูปัญหาที่ทำให้ผมเข้าจอดเทียบข้างไม่ได้ในวันนั้น มิติรถของผมตามสเปคโรงงาน ยาว 4.930 เมตร หรือเกือบ ๆ 5 เมตร แต่การที่รถคันนี้จอดเทียบข้างไม่ได้ มองได้ 3 กรณีครับ คือ 1 สถานที่นั้น ๆ ตีเส้นพื้นที่จอดความยาวไม่ถึง 6 เมตร เพราะถ้าตรงตามกฎกระทรวงจริง ๆ อย่างน้อย 6 เมตร รถผมเข้าจอดได้แน่นอน

ส่วนกรณีที่ 2 คือการบริหารจัดการที่จอดไม่ดีพอ ปล่อยให้รถจอดเทียบข้างเกินจำนวนคันที่ตีเส้นไว้ และกรณีที่ 3 คือคนใช้รถละเลยเรื่องของการจอดในกรอบที่เขาจัดไว้ บางคันอาจจะจอดล้ำเส้น บางคันอาจจะจอดคร่อมเพราะไม่เห็นเส้น ก็เป็นไปได้เช่นกัน

สุดท้ายอยากจะบอกว่าสิ่งที่ผมนำเสนอในวันนี้ไม่ได้โทษว่าเป็นความผิดของใครนะครับ แต่ในฐานะเจ้าของรถ อย่างน้อยเราควรรู้ข้อมูลเบื้องต้นรถของเราเอาไว้บ้าง อย่าคิดว่าเรื่องขนาดเป็นเรื่องไม่สำคัญ

อย่างเรื่องความกว้าง-ความยาว มันไม่ได้ช่วยตอนไปจอดรถนอกบ้านอย่างเดียว เวลาซื้อบ้านแล้วหมู่บ้านมักโฆษณาว่าจอดรถได้ 2 คัน แต่ถ้าคุณรู้มิติของรถคุณแล้ว จะรู้ได้ทันที่ว่าไอ้ที่จอดได้ 2 คันนั้น เป็นแบบ 2 คันลงรถสบาย ๆ หรือเป็นแบบที่ต้องกลั้นหายใจทำตัวลีบลงจากรถแทบไม่ได้กันแน่