รู้หรือไม่? คนที่มีบุคลิก HSP ส่งผลต่อการทำงานได้!

ภาพจาก freepik.com

คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยได้ยิน และไม่เข้าใจว่า “HSP” คืออะไร ทั้งที่จริงแล้ว อาการนี้อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด และมีคนมีอาการนี้มากถึง 1 ใน 5 ของประชากรโลก ซึ่งคุณก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้นก็ได้

เนื่องด้วยบุคลิกภาพ HSP สามารถส่งผลต่อการทำงานได้ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีอาการ HSP หรือไม่ เพื่อที่จะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่มาจะกระทบกับการทำงานและผู้อื่นให้น้อยที่สุด รวมถึงเพื่อนร่วมงาน ก็อาจจะต้องทำความเข้าใจพวกเขาสักหน่อย

HSP ย่อมาจาก High Sensitive Person เป็นลักษณะของคนที่อ่อนไหวง่าย มีปฏิกิริยาด้านความรู้สึกที่ไว และตอบสนองทางอารมณ์สูง แต่เพราะ HSP เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ไม่รู้จัก แม้กระทั่งเจ้าตัวเองก็อาจไม่รู้ตัว จึงทำให้ชีวิตประจำวันของคน HSP ไม่ง่าย และถูกมองว่า “ทำตัวมีปัญหา”

อาการ HSP เป็นลักษณะที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ติดตัวมาตั้งแต่เกิด คนกลุ่มนี้จะมีประสาทสัมผัสในการรับรู้ที่ละเอียดอ่อนและไวมาก อย่างไรก็ตาม ในทางจิตวิทยา HSP ไม่ใช่อาการผิดปกติ ไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่เราจำเป็นต้องรู้ว่าตนเองมีอาการ HSP หรือไม่ เพราะอาการนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เพื่อที่จะได้เข้าใจตนเอง อยู่กับมันได้ และไม่สร้างปัญหาในชีวิตประจำวัน

ด้วยความที่ถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าได้ง่ายและไว ทำให้คนที่มีอาการ HSP เป็นคนคิดมากและเครียดง่ายกว่าคนทั่วไป เพราะอาการอ่อนไหวง่าย วิตกกังวล จนบางทีอาจกลายเป็นคนหวาดระแวง โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้ตัวว่ามีอาการ จะรู้สึกว่าตนเองแปลกแยกไปจากคนอื่น เรื่องธรรมดาที่คนอื่นรู้สึก “เฉย ๆ” แต่ตนเองกลับรู้สึก “เป็นพิเศษ” จึงพยายามที่จะฝืนตัวเอง จนในที่สุดเกิดภาวะเครียดสะสม นอนไม่หลับ และกลายเป็นมีปัญหาขึ้นมาจริง ๆ

ลักษณะอาการอาจดูคล้ายคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งที่จริง HSP ไม่ใช่อาการป่วย แต่คนที่มีอาการ HSP มีโอกาสพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้ จากความหวาดระแวง กลัว ไม่กล้าทำอะไร รวมถึงการแสดงออกทางอารมณ์ คนที่ไม่เข้าใจก็จะมองคนกลุ่มนี้เป็นตัวปัญหา เกิดอาการฝังใจ กลัวถูกตำหนิ และสูญเสียความมั่นใจในตนเอง

หากยังไม่แน่ใจว่าตนเอง หรือคนรอบข้างลักษณะอาการ HSP หรือไม่ ให้สังเกตจากอาการหลัก ๆ เหล่านี้

เป็นคนคิดลึก คิดมาก

คนที่มีอาการ HSP สมองจะทำงานหนักกว่าคนทั่วไป ทำให้ควบคุมการคิดสิ่งต่าง ๆ ได้ยาก บางคนอาการหนักถึงขั้นกลายเป็นคน “ย้ำคิดย้ำทำ” ไม่กล้าที่จะลงมือทำอะไรสักที และมีความกังวลเรื่องอื่นแทรกขึ้นมาตลอดจนไม่ได้งาน แต่ในคราวที่ต้องตัดสินใจ คนกลุ่มนี้จะวิเคราะห์สถานการณ์ได้ดี ความคิดลึกและกังวลทำให้คนประเภทนี้ระมัดระวังตัว คิดรอบคอบ และพยายามมองทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นภาพรวม

ประสาทสัมผัสไวมาก

ไวต่อรูป รส กลิ่น แสง เสียง และการสัมผัสต่าง ๆ อะไรนิดอะไรหน่อยก็ตกใจ รู้สึกรำคาญ หงุดหงิดกับเสียงเล็ก ๆ น้อย ๆ อะไรที่แว่บผ่านสายตา ก็จะถูกดึงสมาธิจากสิ่งที่ทำอยู่ไปเลย หรือมีคนมายืนใกล้ ๆ ก็รู้สึกเหมือนโดนจับผิดอยู่ตลอด ทำให้คนประเภทนี้วอกแวกและเสียสมาธิได้ง่ายมาก นั่นทำให้พวกเขาไม่สามารถทำงานได้เลยในสภาพแวดล้อมที่คนจอแจ และมีโอกาสถูกขัดจังหวะให้เสียสมาธิ

ตอบสนองทางอารมณ์สูง

คนที่มีอาการ HSP จะมีความรู้สึกร่วม (หรือที่เรียกว่า “อิน”) กับสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ ถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าได้ง่ายและแรง เก็บอาการไม่ค่อยอยู่ บางครั้งก็แสดงออกทางสีหน้า จนถูกมองว่าเป็นคนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ความอดทนต่ำ จึงทำให้คนกลุ่มนี้ดูเป็นคนเก็บตัว เพราะพยายามเลี่ยงสถานการณ์กดดัน ที่จะทำให้ “สติแตก” แต่มีคน HSP จำนวนไม่น้อยที่ชอบพูดคุย ชอบเข้าสังคม สนุกสนานกับคนอื่นได้ปกติ เพียงแต่อาจต้องการเวลาส่วนตัวมากกว่าชาวบ้าน

หวั่นไหวต่ออารมณ์ของคนอื่น

เคยเป็นไหม? เวลาคุยกับเพื่อน แต่เมื่อเพื่อนตอบกลับมาสั้น ๆ หรือแสดงอาการที่ (คิดว่า) ต่างไปจากเดิม ก็เริ่มคิดล่วงหน้าไปเองแล้วว่าตนเองไปทำอะไรให้เพื่อนโกรธหรือไม่พอใจหรือเปล่า ทั้งที่เพื่อนอาจจะแค่เหนื่อยจากที่อื่นมา หรือไม่มีอะไรจะพูด หรือจริง ๆ เพื่อนไม่ได้เป็นอะไรเลย ในท้ายที่สุดก็ไม่กล้าถาม แล้วเก็บกลับมาคิดมากจนเครียดอยู่คนเดียว ถ้าคุณเคยมีอาการแบบนี้ แสดงว่าคุณก็เป็นคน HSP แล้วล่ะ

มีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

คนที่มีอาการ HSP จะไม่ค่อยชอบอยู่ในที่ที่มีคนเยอะ เพราะทำให้เกิดอาการประหม่า หากต้องย้ายที่อยู่ใหม่ ก็ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเลยในการปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ใหม่หรือคนอื่น เนื่องจากรู้สึกกังวลอยู่ตลอดว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับตัวเอง หรือจะต้องเริ่มบทสนทนาอย่างไร ได้ยินอะไรมาก็เก็บมาคิดมากอยู่เสมอ อ่อนไหวต่อคำพูดของคนอื่น รวมถึงอาการที่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของตนเอง ขี้เกรงใจ และปฏิเสธคนอื่นไม่เป็น สุดท้ายก็มีแต่ตัวเองที่รู้สึกไม่ดี

ทั้งหมดนี่คือลักษณะอาการหลัก ๆ ของคนที่เป็น HSP ซึ่งคุณจำเป็นต้องสำรวจตัวเองว่ามีอาการหรือไม่ ไม่ต้องกังวล เพราะอาการนี้ไม่ใช่อาการผิดปกติ แต่คุณต้องเรียนรู้และเข้าใจตัวเอง เพื่อที่จะอยู่กับอาการนี้ได้อย่างปกติสุข!