“สังคมไร้เงินสด” กับแนวโน้มที่เป็นไปได้ในสังคมไทย

ภาพจาก freepik.com

ทุกวันนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วมากจนตามแทบไม่ทัน โดยเฉพาะการทำธุรกรรมทางการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เราสามารถซื้อสินค้าและบริการแทบทุกอย่างได้ผ่านระบบคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่ปี

แนวคิดสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) มีมาพักใหญ่แล้วในสังคมไทย แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้ยังใช้ไม่ได้จริงเต็มรูปแบบเหมือนในต่างประเทศ เพราะกลุ่มผู้ที่ไม่ใช้เงินสดในการจับจ่ายต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย เช่น วัยรุ่น วัยทำงาน ชนชั้นกลาง และในอดีตยังมีเทคโนโลยีรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ได้ไม่มากนัก อีกทั้งความปลอดภัยก็ยังมีน้อยด้วย

แต่ในปัจจุบัน ความเป็นดิจิทัลพัฒนาขึ้นจากเดิมมาก ทุกคนจึงสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายแค่มีโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ต่างก็ปรับตัวตาม ขณะที่พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียก็ส่งผลต่อการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นทวีคูณ

รัฐบาลจึงได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) สนองนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดในประเทศไทย คนมีกระเป๋าเงินออนไลน์ทั้ง Mobile Banking บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรโดยสารสาธารณะ และอีกสารพัดบัตรตามแต่ห้างร้านและองค์กร รัฐบาลเองก็ยังมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมีกฎหมายรองรับการทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนเลิกใช้จ่ายเงินสด แล้วใช้จ่ายออนไลน์ให้ปลอดภัยและง่ายขึ้นแทน

รวมถึง COVID-19 ก็เร่งพฤติกรรมการใช้จ่ายออนไลน์ในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมเร็วยิ่งขึ้น เมื่อผู้คนเลี่ยงที่จะจับเงินสด เพราะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค แล้วหันมาพกบัตรต่าง ๆ แทนการพกเงินสด รวมถึงโหลดแอปพลิเคชันของธนาคารไว้สำหรับจับจ่ายใช้สอย ร้านค้าตามท้องตลาดก็พร้อมใจกันรับชำระเงินผ่านบัตรกันมากขึ้น โดยมี QR Code หรือเลขบัญชีธนาคารให้ลูกค้าสแกนแล้วกดจ่ายเงินได้เลย

แม้กระทั่งการขึ้นรถเมล์ที่ค่าโดยสารถูกสุดอยู่ที่ 8 บาท ก็ยังสามารถชำระผ่านบัตรได้ เพราะมีแค่เราและกระเป๋ารถเมล์เท่านั้นที่จะจับบัตร ต่างจากเงินสดที่ใช้กันร้อยพ่อพันแม่ แสดงให้เห็นว่าคนพยายามเลี่ยงที่จะสัมผัสเงินสด หรือพยายามหยิบจับให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ภาพจาก js100.com

บัตรโดยสารรถเมล์ของ ขสมก.

ข้อดีของการไม่ใช้เงินสด คือ ใช้ง่าย ประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณ กระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจ และยังตรวจสอบย้อนหลังได้ สังคมไทยจึงมีแนวโน้มที่จะก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบในไม่ช้า แต่ด้วยความที่ “ซื้อง่ายจ่ายคล่อง” จึงอาจทำให้ฟุ้งเฟ้อเกินจำเป็น อีกทั้งมีข้อเสียในเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย เมื่อต้องนำข้อมูลส่วนตัวไปผูกกับระบบ รวมถึงยังเสี่ยงที่จะทำบัตรหรือทำมือถือหายด้วย ซึ่งเท่ากับว่าเงินอาจหายทั้งบัญชีได้ ถ้าคนอื่นเข้าถึงข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือได้

แต่ถึงกระนั้น โดยรวมการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดก็ยังปลอดภัยกว่าการถือเงินสด ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมากต่อการฉกชิงวิ่งราว หรือฉ้อโกงที่ตรวจสอบย้อนหลังไม่ได้ ในขณะที่การทำธุรกรรมออนไลน์ยังมีวิธีการยืนยันตัวตน และมีการพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้น โดยลดการใช้รหัสผ่าน แต่ใช้รูปแบบการยืนยันตัวตนอย่างอื่นเฉพาะของบุคคลแทน เช่น การใช้ลายนิ้วมือ ตา เสียง หรือการใช้รหัส OTP (One Time Password) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่า โอกาสที่สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดแบบเต็มรูปแบบนั้นมีแนวโน้มเกิดขึ้นจริงได้ ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามโลกที่ทุกคนต่างต้องปรับตัวตามให้ทัน!