เพราะสังคมบีบให้เราต้องเอาตัวเองเปรียบเทียบกับคนอื่น

หนึ่งปัญหาใหญ่ที่ระเกะระกะขวางทางในการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคมตอนนี้คือเรื่องของการขาดความมั่นใจในตัวเองอย่างหนัก หรือ การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นจนมองตัวเองไม่ดีพอ เพราะการมองหาแรงขับเคลื่อนหรือในทางหนึ่งก็เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจในตัวเองโดยไม่ตั้งใจ

หลายคนอาจคุ้นเคยกับการเปรียบเทียบที่ไม่ได้เกิดจากตัวเองแต่เป็นการรับผลกระทบจากคนอื่น ๆ เช่น โดน พ่อ แม่ ญาติ ถามเชิงเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ว่าทำไมทำไม่ได้เท่าคนนั้น ทำไมคนนี้ดีกว่าเรา กลายมาเป็นการจมอยู่กับคำเปรียบเทียบจนเกิดความเครียดเป็นผลลัพธ์ทางลบติดตัวเราจนกลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองไปโดยปริยาย อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือเราถูกสภาพแวดล้อมบีบให้เกิดการเปรียบเทียบหรือเปล่า

เพราะหากแยกเหตุผลของ การเปรียบเทียบ จะได้ดังนี้คือ เปรียบเทียบเพื่อเรียนรู้ เปรียบเทียบเพื่อหาข้อเสีย ซึ่งหากในจังหวะของความคิดเชิงบวก การเปรียบเทียบของเราจะมีขึ้นเพื่อเป็นแรงผลักดันให้กับตัวเองให้พัฒนาตนไปในทางที่ดีกว่านี้ ยกตัวอย่างการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้ที่มีความก้าวหน้าหรือมีชีวิตที่ดีกว่า แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว การเปรียบเทียบ ดูเหมือนจะมีความหมายออกไปในเชิงลบเสียมากกว่าในสังคมปัจจุบัน กล่าวอย่างง่าย ๆ คือการเปรียบเทียบ ส่งผลให้เกิดการกดดันตัวเองในเชิงลบมากกว่าจะได้ประโยชน์

ยิ่งการมีอยู่ของสังคมโซเชียลมีเดียที่เราต่างพบพานประสบและเห็นชีวิตของคนอื่น ๆ มากขึ้นตลอดเวลา และด้วยความเป็น พื้นที่อวดของ ของโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะในเฟซบุ๊คสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นที่นิยม เรามักจะได้เห็นเพื่อน ๆ หรือใครต่อใครมีชีวิตที่ดูดี ของใช้ดี ได้ท่องเที่ยวในที่ดี ๆ ดีไปเสียหมดจนเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจต่อตัวเอง เป็นปัญหาต่อสภาพจิตใจของตัวเองที่หยิบเอาเรื่องต่าง ๆ มาวัดกับตัวเองไปเสียหมด

อีกทั้งกระบวนการฟื้นฟูหรือเพิ่ม Self-Esteem ให้มีความมั่นใจมากขึ้นก็มีอยู่หลายแบบ ซึ่งบอกตรงนี้ว่าวิธีการที่ไม่ควรอย่างยิ่งคือการลดทอนคุณค่าของคนอื่นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น เพราะการทำแบบนี้ไม่ใช่วิธีการเพิ่ม Self-Esteem ที่ถูกต้อง เพราะกระบวนการแบบนี้บ่งบอกได้ว่า Self-Esteem ของคุณโอนเอนหวั่นไหวไม่คงที่ และกดข่มผู้อื่นเพื่อความมั่นใจเพียงชั่วคราวไม่ถาวร

การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ มีผลวนเวียนเป็นปัญหาในจิตใจ ทำให้จิตตก สามารถจัดการตัวเองด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมได้คือการทำความเข้าใจในสิ่งนั้น ๆ รู้ถึงที่มาที่ไป ภูมิใจในความสามารถของตัวเองเข้าใจว่าแต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน เลิกสนใจโซเชียลมีเดียหรือสนใจให้น้อยลง ทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เห็นในโซเชียลนั้นเป็นเพียงด้านเดียวของเหรียญ ไม่มีใครที่จะหันด้านแย่ ๆ ออกมาให้คนอื่นเห็นอยู่แล้ว และสุดท้ายคือการมองตัวเองแบบไม่ต้องเปรียบเทียบคนอื่น ๆ หาสิ่งที่ภูมิใจในตัวเองและโฟกัสกับมัน

เพราะความจริงแล้วการเปรียบตัวเองกับคนอื่น ๆ ที่ด้อยกว่าเรามันไม่ได้ทำให้เราดีกว่าที่เป็นอยู่ฉันใด การเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ดีกว่าก็ไม่ได้ทำให้เราด้อยค่าลงฉันนั้น และเมื่อคิดได้แบบนี้ก็จะมีหนึ่งคำถามผุดขึ้นมาว่า แล้วเราจะคอยเปรียบเทียบกันไปทำไม