สถานการณ์ในฮ่องกงยังดำเนินไปด้วยความร้อนระอุด้วยการชุมนุมของชาวฮ่องกงมากมาย ความตึงเครียดยังทวีคูณขึ้นอย่างไม่ลดละและไม่มีท่าทีจะจบลงอย่างง่าย ๆ กระทบต่อความมั่นคงและการค้าการท่องเที่ยวมายาวนานกว่า 2 เดือนแล้ว
โดยก่อนหน้านี้ในปี 2014 เคยมีการชุมนุมของผู้คนนับแสนที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษารวมถึงศิลปินบางส่วนที่ออกมาประท้วงเพราะความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลจีน เกี่ยวกับการเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ถูกเรียกว่า ม็อบร่มเหลือง อันมาจากอุปกรณ์สำคัญของผู้ประท้วงคือร่มสีเหลืองเพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์เรียกร้องประชาธิปไตย และส่วนหนึ่งคือการป้องกันตัวจากการสลายการชุมนุม
มูลเหตุของความวุ่นวายในระดับนี้คุกรุ่นมานานหลายปีแล้วด้วยความไม่พอใจต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน หากแต่ชนวนของการชุมนุมล่าสุดใน“ครั้งนี้”เกิดขึ้นจากคดีฆาตกรรมชายหนุ่มที่ลงมือฆ่าแฟนสาวที่ใต้หวัน และหนีกลับมากบดานที่ฮ่องกงแต่เพราะเหตุฆาตกรรมเกิดขึ้นที่ใต้หวันทำให้ตำรวจฮ่องกงไม่สามารถดำเนินคดีกับฝ่ายชายได้
ทางฝ่ายผู้บริหารของฮ่องกงจึงคิดแก้ปัญหานี้โดยการร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเสนอเข้าสภา โดยมีเนื้อหาหลักในร่างฉบับนี้ว่าด้วยการให้อำนาจฮ่องกงดำเนินการส่งตัวผู้ต้องสงสัยไปดำเนินคดีนอกเกาะฮ่องกงได้ ซึ่งส่งผลให้ชาวฮ่องกงจำนวนมากไม่พอใจร่างกฎหมายฉบับนี้เพราะเห็นว่าจะเป็นเครื่องมือของรัฐบาลจีนที่ใช้จัดการผู้เห็นต่างจากเกาะฮ่องกงและเป็นการเปิดช่องโหว่ ทำให้เกิดการส่งตัวผู้เห็นต่างจากรัฐบาลจีนไปดำเนินคดีที่จีนแผ่นดินใหญ่ได้
ทำให้เกิดการชุมนุมครั้งใล่าสุดนี้ที่กินเวลามานานกว่า 2 เดือนแล้ว ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน และนาง แครี หลำ ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงได้ออกมาประกาศยุติการยื่นร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวในตอนต้นเดือนกรกฎาที่ผ่านมาอีกทั้งยังกล่าวว่าจะไม่มีการนำร่างกฎหมายนี้มาพิจารณาต่ออีกแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นการประท้วงยังไม่หยุดลงและมีการเรียกร้องให้ แครี หลำ ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด เพราะผู้ชุมนุมมองว่า แครี หลำ และคณะผู้บริหารเป็นตัวแทนที่สนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่
และทุกการชุมนุมในนอกจากม็อบที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐบาลจีนเป็นหลักแล้ว ยังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับม็อบออกมารวมตัวต่อต้านม็อบด้วยอีกฝ่ายหนึ่ง เกิดเป็นการปะทะกันระหว่างประชาชนจนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย
ทำไมฮ่องกงจึงไม่อยากอยู่ภายใต้จีน
ก่อนหน้านี้ ฮ่องกงเติบโตและเจริญมาในฐานะ นครรัฐ (เมืองที่ปกครองตัวเองอย่างอิสระ) ทันสมัยและเจริญรุ่งเรืองรวมถึงการเมืองการปกครองที่แข็งแรง ด้วยผลที่ส่งมาจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่ภายหลัง 1 กรกฎาคม 1997 หรือ 22 ปีที่แล้ว ฮ่องกงถูกส่งกลับคืนสู่การปกครองของจีน
ด้วยความเป็น นิติรัฐ (การบริหารปกครองแบบกฎหมายเป็นใหญ่) มาโดยตลอดของฮ่องกง ที่การตัดสินใจของรัฐจะสามารถถูกสอดส่องจากประชาชนและรัฐไม่สามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้ ชาวฮ่องกงภูมิใจกับความเป็นอัตลักษณ์ในลักษณะนี้ และด้วยการเติบโตมาในลักษณะนี้จึงทำให้การที่ฮ่องกงรวมเป็นส่วนหนึ่งของจีนนั้นกระทบต่อจิตใจและความเป็นอยู่ของชาวฮ่องกง
ปัญหาระหว่างสังคมฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่จึงเป็นปัญหาเรื้อรังที่สั่งสมมานาน เพราะชาวฮ่องกงไม่ไว้ใจจีนและกลัวการถูกครอบงำ และนอกนั้นยังมีชาวฮ่องกงบางส่วนต้องการกลับไปเป็นอาณัติของอังกฤษอีกด้วย ด้วยความในใจของชาวฮ่องกงที่ปักธงทางความคิดว่าจีนไม่มีอารยะเท่าพวกเขา
ด้วยเหตุทั้งหลายนี้ความหวั่นเกรงว่าระบบตุลาการของฮ่องกงจะพังลง
หากร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนถูกนำมาใช้ กลายเป็นการชุมนุมใหญ่ในครั้งล่าสุด
ความคุกรุ่นภายในของฮ่องกงประกอบด้วยสองแนวคิดใหญ่ ๆ คือฝ่ายที่สนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่และฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยและแยกตัวเป็นอิสระจากจีน และจากภาพของชาวฮ่องกงที่มองว่า นางแครี หลำ และกลุ่มผู้บริหาร เป็นตัวแทนของคนที่สนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่
ด้วยโอกาสการเข้าถึงการเมืองที่น้อยนิด เนื่องจากตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงนั้นประชาชนชาวฮ่องกงไม่ได้เป็นผู้เลือกตั้งเอง แต่เป็นการเลือกตั้งจากตัวแทนที่เรียกว่าคณะผู้เลือกตั้งจำนวน 1,200 คน แต่มีชาวฮ่องกงเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการเลือกคณะตัวแทนผู้เลือกตั้ง ซึ่งจำกัดไว้เพียงให้คนในแวดวงธุรกิจและการเมืองเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น จากที่รัฐบาลจีนบอกว่าจะให้ฮ่องกงใช้ระบบของตัวเองไปอย่างน้อยอีก 50 ปี แต่กลับใช้ระบบเลือกตั้งข้างต้นในการเลือกตั้งปี 2017
และด้วยจากการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าคนที่ถูกเลือกล้วนแต่เป็นผู้สนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งนั้น ในแง่ความเป็นชาติของฮ่องกงที่ถูกปลุกปั้นมาตลอดระยะเวลายาวนานทั้งระบอบประชาธิปไตยและกระบวนการยุติธรรมที่ดูเหมือนจะถูกสั่นคลอนลงโดยการเป็นส่วนหนึ่งกับจีน จึงทำให้ชาวฮ่องกงไม่พอใจและต่อต้านตลอดมา และเพราะเหตุนี้แม้การร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจะถูกยุติลง แต่ความไม่พอใจต่อการเป็นหนึ่งเดียวกับจีนของชาวฮ่องกงจะยังดำเนินไปภายใต้ความไม่ลงรอยและอ่อนข้อต่อกัน