“Facebook Live” ช่องทางใหม่ในการก่อความรุนแรง

ภาพจาก pixabay

นับตั้งแต่สื่อสังคมออนไลน์สุดฮิตอย่าง “เฟซบุ๊ก” มี “Facebook Live”  ให้ผู้ใช้สามารถถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้แบบสดๆ ก็ทำให้โลกใบนี้ดูแคบลงไปถนัดตา เพราะไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก ทุกคนสามารถรับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้พร้อมกัน ราวกับอยู่ในสถานที่แห่งนั้นด้วย

ทุกวันนี้ หลายคนจึงเลือกใช้เฟซบุ๊กในการติดตามข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงการถ่ายทอดสดกีฬา คอนเสิร์ต รวมถึงติดตามเหล่าคนดังทั้งหลายด้วย เพราะแค่มีมือถือก็ดูไลฟ์จากเพจต่างๆ ได้แล้ว

แต่สำหรับการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กของคนทั่วไปนั้น ดูเหมือนจะใช้ผิดวัตถุประสงค์กันอยู่มาก เพราะบ่อยครั้งที่เราได้เห็นการถ่ายทอดสดในเรื่องที่สะเทือนใจและสะเทือนขวัญ ชนิดที่ไม่ทันได้ตั้งตัว เหมือนเช่นกรณีล่าสุดที่ชายวัย 21 ปี ใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ถ่ายทอดเหตุการณ์ที่กำลังแขวนคอลูกสาววัย 11 เดือนจนแน่นิ่งไป ก่อนที่จะแขวนคอตัวเองตามไปเพื่อประชดแฟนสาว ซึ่งเหตุเกิดที่โรงแรมร้างในจังหวัดภูเก็ต  ขณะที่ในต่างประเทศก็เพิ่งมีข่าวฆาตรกรโรคจิตใช้เฟซบุ๊กไลฟ์เหตุการณ์ที่เขาฆ่าชายสูงวัย  74 เสียชีวิต หลังจากสั่งให้พูดชื่อแฟนเก่า ก่อนจะปลิดชีพตัวเองในระหว่างถูกตำรวจไล่ล่า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นผ่านสื่อสังคมออนไลน์สุดฮิต ซึ่งในการประชุมประจำปีที่ผ่านมา มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กกล่าวว่าทางเฟซบุ๊กไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ โดยกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อหาแนวทางในการสกัดกั้นความรุนแรงและโศกนาฏกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านเฟซบุ๊ก

ขณะที่ นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการกรณีฆ่าตัวตายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 1-2 ราย ซึ่งการถ่ายทอดสดลักษณะนี้ ไม่สามารถตัดต่อ หรือเซ็นเซอร์ในขณะออกอากาศได้ จึงเสี่ยงว่าจะเกิดพฤติกรรม “ฆ่าตัวตายเลียนแบบ” (copycat suicide)  หรือชี้นำให้เกิดการฆ่าตัวตายตามมา เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นทางออกของปัญหาได้ ยิ่งถ้าผู้รับชมเป็นเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่ระมัดระวังในการรับสื่อ ก็อาจเข้าใจผิดคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ง่าย และหากได้รับการตอบรับจากผู้ชมจำนวนมาก ก็ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มที่สูงขึ้น โดยปี 2558 พบว่า สถิติฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยเฉลี่ยเดือนละ 350 คน เรียกว่า ทุกๆ 2 ชั่วโมง จะมีผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเรื่องปัญหาความรัก จนทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายตัวเองตามมา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันได้  โดยอธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า  คนใกล้ชิดมีความสำคัญในการป้องกันการฆ่าตัวตายได้ดีที่สุด ตามหลัก 3 ส. คือ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อให้บุคลากรด้านสุขภาพจิตช่วยดูแลต่อไปยังโรงพยาบาล

และหากพบเห็นภาพการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กของบุคคลเหล่านี้  ต้องรีบยับยั้ง อย่าแชร์ หรือบอกต่อ และไม่ติดตามการถ่ายทอดสดจนจบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจตนเองได้ในอนาคต