“กงสี” ยุคใหม่พี่น้องต้องไม่ฆ่ากันเอง

คำว่า “กงสี” เป็นคำที่มาจากภาษาจีน 公司 และออกเสียงในภาษาจีนกลางว่า Gōngsī มีความหมายว่า “บริษัท” และความหมายตามบริบทของวัฒนธรรมคนจีนในเมืองไทย กงสี คือ ทรัพย์สินกองกลางที่ใช้ร่วมกันสำหรับคนหมู่หนึ่ง ๆ เช่น กิจการของตระกูลที่แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้ครอบครัวที่มีบรรพบุรุษอพยพจากจีนมายังเมืองไทย หรือ อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะใช้ระบบกงสี เพื่อบริหารกิจการในครอบครัว และ การดูแลกิจการของครอบครัวไม่ให้ตกเป็นของคนนอก ถ้าเปรียบเทียบกับฝั่งตะวันตก กงสี ก็คือการทำธุรกิจแบบ Family Business คือการบริหารธุรกิจ โดยให้คนในครอบครัวเป็นผู้ดำเนินการ และ รายได้ที่ได้มาก็อยู่เป็นกองกลางและมีพี่คนโต หรือ ผู้เป็นบิดา นั่งเป็นผู้บริหารสูงสุดมีอำนาจในการตัดสินใจ

ธุรกิจในระบบกงสี อาจจะดีในช่วงแรกที่ต้องการการลงแรงจากทีมงานเพราะ คนในครอบครัวเมื่อมาช่วยกันก็ย่อมอยากเห็นความสำเร็จและพร้อมจะมุ่งหน้าไปทางเดียวกันมากกว่าจ้างคนนอก ขณะเดียวกัน กงสี จะช่วยดูแลความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว เพราะถ้าใครมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็สามารถมาเบิกเงินจากกงสี เพื่อนำไปใช้จ่ายได้

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ผู้คนก็เปลี่ยน ระบบกงสี เริ่มกลายเป็นความล้าหลังในสายตาของลูกหลานรุ่นใหม่ ที่เห็นว่าการทำกงสี นั้นทำมากทำน้อยก็ได้เท่ากัน บางคนไม่ทำอะไรเลยก็ได้ไปด้วย และข้อจำกัดที่ให้เฉพาะคนในตระกูลเป็นผู้บริหารทำให้ ธุรกิจ กงสี เติบโตได้ช้าเนื่องจาก บางส่วนงานลูกหลานอาจมีความถนัดไม่เพียงพอ เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ระบบกงสี ในศตวรรษที่ 21 ก็คงต้องถึงเวลาปรับเปลี่ยนเพื่อให้ธุรกิจในระบบครอบครัวยังคงอยู่ได้ และ อยู่ได้อย่างดีในโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวันนี้

ระบบกงสี ทำมากทำน้อยก็ได้เท่ากันหมด จริงหรือ

หลายคนอาจบ่นว่า “ทำงานกับกงสี ทำมาก ทำน้อยก็ได้เท่ากัน บางคนไม่ทำก็ได้ด้วย” จะว่าไปแล้วเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดแต่กับในระบบกงสี ในระบบบริษัท ทุกวันนี้ก็เป็นเช่นกัน พนักงานมีความขยันไม่เท่ากันแต่ก็ยังได้รับเงินเดือนเท่ากัน สิ้นปีก็ได้พิจารณาโบนัสเหมือนกัน โดยพิจารณาจากผลประกอบการรวมของบริษัท

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วระบบกงสี นั้นถูกออกแบบมาให้ทุกคนในครอบครัวมาร่วมกันทำงานเพื่อช่วยกันก่อร่างสร้างตัวให้กับธุรกิจของครอบครัว เมื่อธุรกิจเติบโตก้าวหน้า เงินที่หามาได้ก็เป็นกองกลาง มีการจ่ายเงินเดือน ให้กับคนทำงาน และถ้ามีใครเดือดร้อน หรือ มีความจำเป็นต้องใช้เงินก็สามารถมาเบิกที่กงสีได้ ซึ่งคนบริหารกงสีนั้นส่วนใหญ่จะเป็นพ่อ หรือ เป็นพี่ชายคนโต ในการดูแลรับผิดชอบให้ เงินจากกงสี มีความงอกเงย และ สามารถช่วยให้คนในครอบครัวอยู่กันอย่างสบาย

บางคนอาจลงแรงไม่มาก แต่ยังได้เงินเดือน และ สามารถนำบิลมาเบิกกงสีได้อีก พี่น้องคนอื่นที่อยู่ในกงสี อาจรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ซึ่งปัญหาแบบนี้สามารถแก้ไขได้โดยให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในกงสี เป็นคนดูเรื่องผลตอบแทน ให้เกิดขึ้นตามความเหมาะสม เหนืออื่นใดคือการสร้างความเข้าใจระหว่างพี่น้อง ที่สามารถพูดกันได้แบบตรงไปตรงมา เพื่อให้ทุกคนได้คำตอบที่พึงใจมากที่สุด

ระบบกงสี สามารถเติบโตและแตกขยายกิ่งก้านได้

หลายคนอาจมองว่า การทำธุรกิจครอบครัว ซึ่งกันที่ระดับบริหารไว้สำหรับคนในครอบครัว จะทำให้ธุรกิจนั้นไม่ยั่งยืน ซึ่งความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่สำหรับกงสี ยุคใหม่นั้นแม้ว่าผู้บริหารจะยังเป็นคนในครอบครัวแต่ก็มีการจ้าง นักบริหารมืออาชีพเข้ามาช่วยงานทำให้เกิดการเรียนรู้งานจากคนในครอบครัว กับ Know How และ Connection จากภายนอก

ที่สำคัญเมื่อจะมีการขยายตัวของกิจการก็ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงจากหุ้นส่วน เพราะคนในครอบครัว สามารถแยกกิ่งก้านสาขาออกไปได้เลยโดยใช้เงินจากกงสีเป็นเงินทุน และ เมื่อธุรกิจนั้นเจริญเติบโตเงินก็จะกลับเข้าสู่ระบบกงสี เช่นเดียวกันกับในรูปแบบบริษัท เมื่อ เติบโตมาถึงระดับหนึ่งแล้วต้องขยายกิ่งก้านออกไป บริษัทแม่ก็จะเป็นผู้ลงทุนให้ และ บริษัทลูกเมื่อตั้งตัวได้แล้วก็จะมีการปันผลกำไรให้กับบริษัทแม่ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่

ระบบกงสี คือที่สุดของสภาพคล่องของทุนหมุนเวียน

ธุรกิจในบริหารในระบบกงสีนั้น เรียกได้ว่ามีเงินสดไหลเวียนอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก เพราะไม่ค่อยได้ใช้คนนอกในการทำงาน และมีวิธีการบริหารการเงินแบบเก่าคือ มีหนี้น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่ เมื่อจะลงทุนใดๆ จะไม่ค่อยชอบกู้แบงค์ ถ้าจะกู้จริงๆ ก็จะพยายามวางเงินทุนไว้ก่อน 60 เปอร์เซนต์ เนื่องจากวิธีการบริหารเงินในแบบเก่านั้น ไม่ต้องการให้คนทำธุรกิจต้องห่วงหน้าพะวงหลัง กับดอกเบี้ยธนาคารที่วิ่งทุกวัน และ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ธนาคารมักจะให้ร่มคุณในวันที่แดดออก และ มาเอาคืนในวันที่ฝนตก”

เมื่อเป็นเช่นนี้การบริหารทางการเงินของระบบกงสี จึงไม่ค่อยพึ่งพิงธนาคารมากนัก และ เป็นการดำเนินธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ก้าวพรวดพราดทำให้หลายๆธุรกิจที่เกิดจากระบบกงสีนั้น มีความแข็งแรง และสามารถประคองตัวให้รอดได้ เมื่อต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ระบบกงสี ต้องการธรรมาภิบาล ในการบริหาร

“ความยุติธรรมไม่เคยมีอยู่บนโลกใบนี้” เป็นเรื่องจริงที่ใครหลายคนพิสูจน์มาแล้วกับระบบกงสี หลายครอบครัวที่ใช้ระบบกงสี ต้องเผชิญกับสภาวะที่ผู้นำไม่มีความยุติธรรม และ เบียดเบียนเงินจากกงสี ไปใช้ส่วนตัวโดยไม่มีการบอกกล่าว ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้พี่น้องต้องฟ้องร้องกันเองมาเยอะแล้ว

ซึ่งหนทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ การสร้างธรรมาภิบาล หรือ กฎข้อบังคับภายในกงสีของแต่ละครอบครัว ซึ่งกงสีใหญ่ๆล้วนมีธรรมาภิบาล เป็นของตนเอง เพื่อให้คนที่มีอำนาจสูงสุดในการดูแลกงสี ปกครองและบริหาร ด้วยความยุติธรรมมากที่สุดเท่าที่จะมีได้ ดังเช่นในการบริหารบริษัทก็ต้องมีกฎบริษัท เพื่อให้ทุกคนได้ปฎิบัติตาม ใครจะทำอะไรตามใจชอบไม่ได้ แม้กระทั่งผู้บริหารก็ต้องมีการตรวจสอบ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงภาพรวมของระบบกงสี ที่อยู่บนเส้นทางที่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ และ รูปแบบในศตวรรษ ที่ 21 เพื่อให้ธุรกิจของครอบครัวยังคงดำรงอยู่ เหนืออื่นใดสมาชิกในครอบครัว จากกงสี ที่สร้างทัศนคติที่ดี ก็จะทำให้คนในรุ่นลูกรุ่นหลาน สามารถสานต่อธุรกิจของครอบครัวต่อไปได้

ดังเช่นทายาทของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ในปัจจุบัน ที่สามารถฝ่าฟันวิกฤตในยุคสื่ออนาล็อก เข้าสู่ยุคดิจิตอลได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะพวกเขารู้เรื่องการทำสื่อมากกว่าใคร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เด็กที่เติบโตมาพร้อมกับธุรกิจในครอบครัว พวกเขาต่างก็ซึมซับ Know How ของครอบครัวมาตั้งแต่เกิดเพียงแต่พวกเขาจะพัฒนาให้เกิดความเจริญสูงสุดหรือไม่ นั่นก็ขึ้นอยู่กับ “กงสี” ที่จะผลักพวกเขาไปในทางไหนเช่นกัน