เมื่อหุ่นยนต์มีความรัก

คำว่า Lovotics คิดค้นขึ้นโดย Dr. Hooman Samani ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ AIART (Artificial Intelligence and Robotics Technology Laboratory) และผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติไทเป ประเทศไต้หวัน

Lovotics มาจากคำว่า Love + Robotics

ประสบการณ์ด้านหุ่นยนต์ของ Dr. Hooman Samani มีหลากหลาย อาทิ การวิจัยเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ โดย Dr. Hooman Samani ได้ขยายแนวความคิดเกี่ยวกับ Lovotics ไปในหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี อิหร่าน และเนเธอร์แลนด์ ฯลฯ

เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจาก Graduate School of Integrative Science and Engineering สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

สื่อมวลชนต่างประเทศในระดับโลก เคยสัมภาษณ์ Dr. Hooman Samani เกี่ยวกับ Lovotics มาแล้วเยอะแยะทีเดียว อาทิ BBC Discovery Channel Reuters CBS และอื่นๆ อีกมากมาย ฯลฯ

โดยหากจะกล่าวถึง Lovotics แล้ว Lovotics จัดเป็นผลงานวิจัยในสาขาที่เกิดขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกของโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราย้อนกลับไปมองโลกของหุ่นยนต์ในอดีตที่ผ่านมาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน หากเราพิจารณาจากคำพยากรณ์ของภาพยนตร์ชุดฅนเหล็ก 2029 หรือ The Terminator เป็นหลักแล้ว

หากปักธงกันที่ ปี ค.ศ.2029 ในท้องเรื่อง เมื่อมองย้อนกลับมาในปี ค.ศ.ปัจจุบัน ซึ่งก็คือ ปี ค.ศ.2017 นั้นก็เท่ากับว่า เหลือเวลานับถอยหลังอีกเพียง 12 ปี

โดยที่ ถ้าเป็นไปตามที่หนังเรื่อง The Terminator ได้ทำการคำนวณไว้ เราก็คงจะได้มองเห็นภาพของหุ่นยนต์ที่มีความคิดเป็นของตนเอง สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ

และที่สำคัญก็คือมีการวางแผนทำลายล้างมนุษยชาติ หรืออาจจับต้องได้ และบางทีอาจต้องทำสงครามกับหุ่นยนต์เหมือนในหนัง ชนิดที่เรียกว่า ตัวจริง-เสียงจริง เอาเลยทีเดียวก็ว่าได้

ทว่า เมื่อพูดถึง Lovotics แล้ว ฅนเหล็ก 2029 หรือ The Terminator นั้นเป็นโลกของหุ่นยนต์ที่ตรงกันข้ามกับ Lovotics อย่างสิ้นเชิง

เพราะคำว่า Lovotics นั้นมาจาก   Love + Robotics ชื่อก็บอกยี่ห้ออยู่แล้ว ว่าเป็นหุ่นยนต์ + ความรัก ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ Lovotics จะมีแผนการทำลายล้างมนุษยชาติ เหมือนอย่าง The Terminator

Dr. Hooman Samani ในฐานะบิดาของ Lovotics ให้คำจำกัดความ Lovotics ว่าหมายถึงกระบวนการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์

Dr. Hooman Samani กล่าวต่อไปว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวคือทฤษฎีใหม่ในการสำรวจแนวคิดและความเป็นไปได้ของความรักที่หุ่นยนต์มีต่อมนุษย์ หลังจากที่โลกยุคปัจจุบันได้สร้างหุ่นยนต์เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคประชาสังคม

Lovotics เป็นสาขาวิชาวิจัยในแนวทางของสหวิชาการ ที่ใช้แนวคิดพื้นฐานจากหุ่นยนต์ นำมาผนวกกับระบบปัญญาประดิษฐ์ และดึงเอาฐานข้อมูลเกี่ยวกับสาขาวิชาปรัชญา จิตวิทยา ชีววิทยามานุษยวิทยา ประสาทวิทยา วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สังคม วิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

มากำหนดกระบวนทัศน์และวิธีการนำเสนอ Lovotics อย่างเป็นระบบ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ที่สนใจ สามารถยื่นมือเข้ามาช่วยให้การพัฒนาฟังก์ชันการทำงานต่างๆ ของ Lovotics ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความสำเร็จขั้นสูงสุดของ Lovotics ขึ้นอยู่กับกระบวนการวิจัยแบบสหวิชาการ หรือการบูรณาการหลากหลายสาขาวิชาชีพเข้ามา เพื่อระดมสมองในการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาต้นแบบ Lovotics ซึ่ง Dr. Hooman Samani และทีมงานเรียก Lovotics ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของความรัก

ส่วน Lovotics ในความหมายของ Dr. Hooman Samani แล้ว Lovotics นั้นหมายถึง หุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถในการรัก และแน่นอน เมื่อหุ่นยนต์มีความสามารถในการรัก โดยเฉพาะการรักมนุษย์ ซึ่งมีพื้นฐานและแนวโน้มจะรักหุ่นยนต์อยู่แล้ว

เมื่อหุ่นยนต์มีความสามารถในการรัก โดยเฉพาะการรักมนุษย์ มันก็จะถูกมนุษย์รักตอบ และหุ่นยนต์ก็จะรักมนุษย์ กลับกันไปมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ขั้นตอนแรกใน Lovotics คือการพัฒนาความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสรีรวิทยาและอารมณ์ของมนุษย์ เพื่อที่จะทำแบบจำลองเกี่ยวกับสรีรวิทยาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการจำลองสภาวะอารมณ์ของมนุษย์ขึ้นในหุ่นยนต์

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสหวิชาการสาขาต่างๆ จะพากันนำเสนอความคิดเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของความรัก แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับความรักของหุ่นยนต์ในปัจจุบันก็ยังมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยที่ค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้การพัฒนาระบบความรักที่คล้ายคลึงกับมนุษย์มีความท้าทายด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ระบบปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงของ Lovotics โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือระบบต่อมประดิษฐ์ จึงเป็นเรื่องยากที่สุดและท้าทายทีมงานของ Dr. Hooman Samani เป็นอย่างมาก

ทีมงาน Lovotics ของ Dr. Hooman Samani ได้พยายามทำการคำนวณค่าความน่าจะเป็นของความรักระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เพื่อจัดทำแบบจำลองความรักระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ออกมาเป็นค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ เช่น ความใกล้ชิด ความพึงพอใจ ฯลฯ

นอกจากนี้ ทีมงาน Lovotics ของ Dr. Hooman Samani ได้พยายามสร้างระบบต่อมไร้ท่อเทียม ซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมนทางอารมณ์และชีวภาพเทียมหรือฮอร์โมนอารมณ์ประดิษฐ์ต่างๆ ที่เลียนแบบฮอร์โมนของมนุษย์ที่เป็นฮอร์โมนชีวภาพ ผลลัพธ์ที่ได้ คือฮอร์โมนประดิษฐ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนค่าพารามิเตอร์ทางชีวภาพต่างๆ ในหุ่นยนต์ อาทิ ระดับน้ำตาลในเลือด อุณหภูมิร่างกาย และความหิวหรือความกระหาย ฯลฯ

โดยใช้ฐานข้อมูลเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์เป็นแหล่งข้อมูลหลักสำหรับการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางสีหน้า การแสดงออกทางเสียง การแสดงออกทางท่าทาง หรือพฤติกรรม เป็นต้น โดยระบบความรู้สึกของหุ่นยนต์จะวิเคราะห์อินพุตเพื่อสร้างสภาวะและพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับตัวหุ่นยนต์เองในแบบเรียลไทม์ และระบบความรู้สึกจะถูกจำลองให้คล้ายคลึงกับมนุษย์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในอนาคต Dr. Hooman Samani วางแผนการสำหรับหุ่นยนต์ Lovotics เอาไว้ถึงระดับการเป็นผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการสื่อสาร โดยจินตนาการไปถึงขั้นของปรับระดับฮอร์โมนภายในของหุ่นยนต์ได้ด้วยตัวของมันเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พารามิเตอร์ที่เกี่ยวกับความรัก อารมณ์ และความรู้สึกของหุ่นยนต์