ดราม่าเพลงก็อป คุณค่าของศิลปินวัดที่ “ผลงาน”

“โน้ตดนตรีมันมี 7 ตัวเวลาแต่งเพลงมันก็มีคล้ายกันบ้าง” หรือ “ศิลปินก็มีศิลปินต้นแบบที่พวกเขาชื่นชอบ พอฟังเพลงที่ตนเองชื่นชอบบ่อยๆ มันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจในงานของศิลปินอีกคนได้” เหล่านี้เป็นคำตอบบางส่วนต่อข้อครหาเรื่อง ก็อปทำนองเพลงต่างชาติแล้วมาใส่เนื้อไทย โดยที่ศิลปินเองก็รู้อยู่ในใจว่า นี่คือผลงานของการดัดแปลงและพวกเขาไม่เคยบอกแฟนเพลง

เมื่อแฟนเพลงบางกลุ่มจับได้ ดราม่าก็พลันบังเกิด ถ้าเป็นในอดีตอาจจะแค่ซุบซิบกันเฉพาะวง แต่ปัจจุบันที่มีโลกโซเชียล เรื่องแบบนี้คือ “ดราม่า” ที่หลายคนชอบเพราะนอกจากจะได้ระบายความหมั่นไส้ ที่มีต่อตัวศิลปินแล้วบางคนยังรู้สึกว่า ตนเองมีความสามารถเหนือกว่าศิลปินที่สามารถจับโกหกได้ ขณะที่มีบางส่วนแค่อยากจะบอกให้ศิลปินนั้นซื่อสัตย์กับแฟนเพลง

ก็อปทำนองเพลงต่างชาติไม่ใช่เรื่องใหม่

อันที่จริงแล้วเพลงไทยที่ มีท่วงทำนองคล้ายเพลงต่างชาติมีมานานแล้ว มีมาตั้งแต่สมัยที่เอาทำนองเพลงจีนมาใส่เนื้อเพลงไทยเสียด้วยซ้ำ ขณะที่เพลงจีนก็ไปเอาทำนองเพลงฝรั่งมาใส่ เลยกลายเป็นว่าถ้าย้อนกลับไป 40 ปีก่อนเพลงไทยสากลนั้นใช้สูตรสำเร็จแบบนี้ในการผลิตผลงานเพลงลักษณะนี้เกือบทั้งหมด เรียกว่าทำกันก่อนที่เจ้าของค่ายเพลงแถวอโศกจะออกจากบริษัทโฆษณามาตั้งค่ายเพลงของตัวเองเสียอีก

ส่วนสาเหตุที่ทำไมการทำเพลงไทยสากล ในอดีต ถึงนิยมใช้ท่วงทำนองต่างชาติก็จะได้คำตอบว่า “มันง่ายดี” ไม่ต้องใช้ต้นทุนมาก ในยุคสมัยที่เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ยังไม่ได้มีใครพูดถึง การนำเอาทำนองต่างชาติที่ฟังแล้วติดหูมาใส่เนื้อไทย แค่นี้ก็ขายได้แล้ว และที่สำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวคนทำงานที่ผลิตดนตรีจริงๆ มีน้อยและไม่ได้รับค่าตอบแทนสูงเท่าใดนักถ้าไม่ใช่เบอร์ใหญ่จริงๆ

แล้ววิธีการนี้ ก็ถูกใช้มาเรื่อยจนกระทั่งถึงยุค 80 ที่วงการเพลงไทยเฟื่องฟู ด้วยการต่อสู้ที่เข้มข้นของสองค่ายใหญ่แถวอโศก กับ ลาดพร้าว เวลานั้น เริ่มมีทำนองดนตรีที่แต่งขึ้นโดยนักดนตรีชาวไทยมากขึ้น แต่ก็อีกนั่นแหละ นักดนตรีไทยก็ต้องฟังเพลงต่างชาติ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง และดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะหยิบเอาท่อน “กีต้าร์” จากเพลงนั้นมาประกอบกับท่อน “เบส” ของอีกเพลง แต่ที่เอามาแบบยกทั้งเพลงเลยก็มี ชนิดที่เพลงดั้งเดิมก็ดัง เพลงดัดแปลงเนื้อไทยก็ดัง ก็มีมาแล้ว แล้วถามว่ามีดราม่า ไหมบอกเลยว่ามี แต่ไม่ถึงปัจจุบัน เพราะสมัยนั้นโลกไม่ได้เชื่อมต่อกันขนาดนี้

ดราม่า The Toys วิถีคนดังยุคดิจิทัล

อย่างกรณีของนักร้อง The Toys ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเพลง “วันนี้เธอจะบอกรักใครอีก” มีส่วนคล้ายกับเพลง “Girls” ของวง “1975” ของอังกฤษ กลายเป็นดราม่า ที่ทำให้หลายคนที่กำลังรู้สึกหมั่นไส้ ได้ถาโถมความคิดเห็นกันเข้ามาอย่างเมามัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ก็เหมือนกับคำอธิบายด้านบนทีว่า ท่วงทำนองที่คล้ายกันระหว่างเพลงไทย กับเพลงต่างชาติ หรือ แม้แต่เพลงต่างชาติที่ดันมีท่วงทำนองคล้ายกัน มีมานานแล้วไม่ใช่เพิ่งมี

แต่มิใช่ว่า การมีทำนองเพลงที่คล้ายกันจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะการขายงานของศิลปินนั้นไม่ได้ขายแค่รูปร่างหน้าตาแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่คุณกำลังขายพรสวรรค์ ที่ทำให้คนอื่นชื่นชมและเชื่อถือ แต่เมื่อวันหนึ่งมีคนมาพบว่า ผลงานที่ถูกผลิตออกมานั้นมันไม่ได้มาจากพรสวรรค์ของคุณจริงๆ คนที่ชื่นชมอยู่ก็จะหมดความชื่นชม เพราะพวกเขารู้สึกเหมือนถูกหลอก

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วดราม่า ก็บังเกิดและเลยเถิดไปยันชื่อเล่นจริง ชื่อเล่นปลอม อายุจริง อายุปลอม รวมไปถึงพวกที่กำลังจ้องด้วยความหมั่นไส้ว่า “เล่นกีต้าร์ได้แค่นี้ ใครๆ ก็เล่นได้” เป็นความหมั่นไส้บนตรรกะเพี้ยนๆของบางคนที่ชอบคิดว่าอะไรก็ง่ายไปเสียหมด แล้วพาลไปไม่ชอบในทุกสิ่งที่ศิลปินทำออกมา

ถึงตรงนี้แฟนเพลง ที่เป็น แฟนเพลงจริงๆ คงรู้สึกว่าเหมือนตัวเองถูกหลอก แต่อยากให้มองลึกลงไปที่ผลงานของศิลปินจะดีกว่า ถ้าคุณคิดว่าเขาไม่เก่งจริงขายแต่ภาพลักษณ์อีก 10 ปีข้างหน้างานของเขาก็ไม่มีใครจำได้ แต่ถ้าคุณคิดว่างานของเขาลอกคนอื่นมาอีกไม่นานศิลปินคนนี้ก็จะไม่มีที่ยืนเองไม่ใช่เพราะไม่มีแฟนคลับ แต่เพราะของปลอมมันมีอายุการใช้งานจำกัด เพราฉะนั้นไม่ต้องสร้างดราม่า หรือ หาเหตุเป็นประเด็นเชื่อมโยงให้เหนื่อย เพราะคุณค่าของศิลปินนั้น “วัดกันที่ผลงาน”