จากกรณีที่ละครเรื่องดัง “เพลิงพระนาง” ถูก อู โซ วิน ทายาทรุ่นเหลนของพระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของเมียนมาหรือพม่า เรียกร้องให้หยุดออกอากาศ เนื่องจากไม่พอใจการนำเสนอเนื้อหาของละคร ที่ทำให้ราชวงศ์และบรรพบุรุษต้องเสื่อมเสีย จากเหตุการณ์ที่ไปพ้องกับในประวัติศาสตร์ สมัยศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของราชวงศ์พม่า โดยโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า “ละครไทยเรื่องนี้สร้างความขุ่นเคืองให้กับทุกคนในเมียนมา ไม่ใช่เฉพาะแค่บางคนเท่านั้น!”
อย่างที่ทราบกันว่า เพลิงพระนาง เวอร์ชั่น ปี 2539 นำมาจากหนังสือเรื่อง “พม่าเสียเมือง” บทประพันธ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี 2512 ที่เขียนถึงการล่มสลายของพม่า ซึ่งมีสาเหตุมาจากราชวงศ์สุดท้ายในฐานะผู้ปกครองบ้านเมือง โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือ “เที่ยวเมืองพม่า” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเสด็จเยือนเมืองพม่าขณะอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ แต่ในเมื่อผู้จัดละคร ยืนยันชัดเจนว่าเป็นเรื่องจินตนาการ จึงไม่มีความคิดที่จะหยุดฉายตามที่ทายาทกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าเรียกร้องมา
ขณะที่ในโลกออนไลน์ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้ในวงกว้างเช่นกัน ซึ่งมีความเห็นที่น่าสนใจและค่อนข้างตรงกันอยู่พอสมควร เมื่อพบว่าชาวพม่าที่ทำงานในไทย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีใครสนใจในเรื่องนี้ บ้างก็ไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ในอดีตของพม่า บ้างก็ว่าสังคมพม่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องระบบกษัตริย์มานานแล้ว ขณะที่บางคนถึงขั้นติดละครเรื่องนี้อย่างงอมแงมเสียด้วยซ้ำ
ส่วนในเมียนมาเอง ก็มีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ โดยสมาชิกเฟซบุ๊กที่ชื่อ Al Aung โพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “ไม่จำเป็นต้องไปโกรธหรือเสียใจ เราเคารพ เรารักประเทศไทยและคนไทย และเข้าใจว่าบางคนอาจจะไม่ชอบเราเพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่สำคัญคือไม่จำเป็นที่จะต้องเกลียดหรือโกรธกัน”
ขณะที่ รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์พม่า ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ผู้จัดการรายวัน โดยวิเคราะห์ประเด็นนี้ว่า “จริงๆ แล้ว สถาบันกษัตริย์ของพม่าก็ไม่ได้มีการพูดถึงมานานแล้ว โดยนับตั้งแต่พม่าเสียเมืองให้อังกฤษ (ปี พ.ศ. 2428) สถาบันพระมหากษัตริย์ของพม่าก็ล่มสลายนับตั้งแต่นั้นมา ประกอบกับพระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัต เอง ก็ไม่ได้มีวีรกรรมอะไรให้คิดถึง ดังนั้น ทางพม่าเองไม่ได้ยึดเป็นสาระหรือให้การยกย่องอะไร ซึ่งการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ ควรดูให้ดีว่าเป็นกระแสสังคม หรือข้อเรียกร้องส่วนบุคคล”
ด้าน สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปลหนังสือ “ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง” และ “ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน” โพสต์แสดงมุมมองผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเช่นกันว่า “ในมุมของผู้ชม เป็นเรื่องปกติมากที่เพลิงพระนางเป็นที่ชื่นชอบสำหรับผู้ชมที่ชมเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว ที่ไม่ได้มีความสนใจหรือไม่มีพื้นทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่สำหรับผู้อ่านและผู้สนใจประวัติศาสตร์พม่า โดยเฉพาะเรื่องราวจากหนังสือ “พม่าเสียเมือง” นั้น สามารถเทียบตัวละครในเพลิงพระนาง กับบุคคลที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือพม่าเสียเมืองได้โดยไม่ยากเลย”
สำหรับประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ แม้ว่ายังไม่ได้ข้อยุติจากทางฝั่งของเมียนมาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หลังจากผู้ผลิตละครยืนยันว่าเป็นเรื่องของจินตนาการ ไม่เกี่ยวข้องกับประเทศใด แต่เชื่อว่า อย่างน้อยก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้จัดที่คิดจะนำละครแนวอิงประวัติศาสตร์มาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงความบาดหมางใดๆ ที่อาจส่งผลรุนแรงและบานปลายในระดับประเทศโดยไม่จำเป็น