คำพูดที่ว่า “โจรปล้น 10 ครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว” ยังคงเป็นคำพูดอมตะที่ใช้ได้ในทุกครั้งที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น มักมีมูลค่ามหาศาลหากไม่สามารถดับเพลิงได้ทันท่วงที จนส่งผลให้ความเสียหายลุกลามใหญ่โต
ล่าสุด วันนี้ก็เพิ่งมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นที่อาคารฟอร์จูนทาวน์ ย่านรัชดา แต่เพลิงเกิดขึ้นที่ชั้น 3 และอยู่ฝั่งที่ติดถนนใหญ่ จึงทำให้การทำหน้าที่ของพนักงานดับเพลิงเป็นไปอย่างราบรื่น และสามารถควบคุมเพลิงที่จุดเกิดเหตุซึ่งเป็นร้านขายเครื่องเสียงไว้ได้
ครั้งนี้ ถือว่าโชคดีที่บริเวณที่เกิดไฟไหม้ ไม่ใช่อาคารสูง 30 ชั้น ที่เป็นส่วนของสำนักงานให้เช่า จึงทำให้เจ้าหน้าที่สามารถนำกระเช้าดับเพลิงเข้าถึงได้ง่าย และเพลิงไม่กระทบร้านข้างเคียง แต่หากจำกันได้ เมื่อเดือนที่แล้ว เพิ่งมีเหตุเพลิงไหม้คอนโดหรูย่านสุขุมวิท “เดอะ วอเตอร์ฟอร์ด ไดมอนด์ ทาวเวอร์” ซึ่งมีความสูงถึง 45 ชั้น และต้นเพลิงไฟไหม้อยู่ที่ชั้น 35 จนต้องอพยพผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติออกทางบันไดหนีไฟ
เหตุการณ์ครั้งนั้น ยังโชคดีที่ระบบดับเพลิงอัตโนมัติทำงานได้อย่างทันท่วงที และเจ้าหน้าที่ก็สามารถเข้าไปในอาคารได้จึงช่วยผู้อยู่ในตึกได้อย่างปลอดภัย แต่ถึงกระนั้น ก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องของกระเช้าดับเพลิงว่า หากเกิดเหตุไฟไหม้บนอาคารสูงขึ้นอีก ความสูงของกระเช้าบันไดจะเพียงพอต่อการดับไฟจากนอกตัวอาคารหรือไม่
สำหรับรถดับเพลิงที่ใช้กันในเขตกรุงเทพและปริมณฑลนั้นมีหลายประเภท ซึ่งความสูงของบันไดที่ให้เจ้าหน้าที่ปีนขึ้นดับไฟนั้นแตกต่างกันไปแล้วแต่ประเภทของรถ ซึ่งเว็บไซต์ ddproperty มีข้อมูลเกี่ยวกับรถดับเพลิงไว้ดังนี้
1.รถหอน้ำดับเพลิงพร้อมกระเช้าขนาดความสูง 90 เมตร
ใช้ดับเพลิงอาคาร 30 ชั้น ขนาดรถใหญ่ไม่เหมาะกับซอยแคบ
2.รถดับเพลิง ขนาด 170 ฟุต (52 เมตร)
ใช้ดับเพลิงอาคาร 15 ชั้น ขนาดรถใหญ่ไม่เหมาะกับซอยแคบ
3.รถดับเพลิงสูงขนาดต่ำกว่า 13 เมตร
ใช้ดับเพลิงอาคาร 5 ชั้น วิ่งซอยแคบได้ แต่บรรทุกน้ำไม่ได้
4.รถดับเพลิงชนิดมีหัวฉีดน้ำในตัว บรรทุกน้ำ 1,500 ลิตร
ดับเพลิงอาคาร 3 ชั้น หรือทาวน์เฮ้าส์ไม่เกิน 4 ชั้น วิ่งซอยแคบได้
5.รถบรรทุกน้ำดับเพลิงขนาด 5,000 ลิตร
ดับเพลิงอาคาร 3 ชั้น มีตีนตะขาบบรรทุกเครื่องสูบน้ำสำหรับสนับสนุนรถหน่วยกู้ภัยคันอื่นๆ
6.รถดับเพลิงบรรทุกน้ำขนาด 10,000 ลิตร
ดับเพลิงอาคาร 3 ชั้น มีตีนตะขาบบรรทุกเครื่องสูบน้ำสำหรับสนับสนุนรถหน่วยกู้ภัยคันอื่นๆ
แม้ว่าในบ้านเราจะมีรถดับเพลิงหลายขนาด แต่ส่วนใหญ่จะใช้ฉีดน้ำดับเพลิงอาคารที่มีความสูงไม่มากนัก ขณะที่รถซึ่งมีความสูงของกระเช้าบันไดเหมาะกับอาคารสูง ก็ติดปัญหาในเรื่องขนาดรถที่ใหญ่เกินไป จึงไม่สามารถวิ่งซอยแคบได้อีก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บ่อยครั้ง เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้วลุกลามใหญ่โตในหลายๆ กรณี