THOR: RAGNAROK – เทพเจ้า 3 ช่า

ตั้งแต่จบเรื่อง CAPTAIN AMERICA: CIVIL WAR ดูเหมือนว่า มาร์เวล จะเริ่มจัดการสมดุลหนังซูเปอร์ฮีโร่ของตัวเองได้ดีกว่าเดิม จากที่เน้นตลกโปกฮา วายร้ายสุดเท่ (แต่แพ้พระเอกโคตรง่าย) ก็เริ่มมีโทนที่ซีเรียส ขึงขังมากขึ้นตามคำเรียกร้องของแฟนๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดถึงในแง่ธุรกิจ จะมาเปิดโหมดเครียดอย่างเดียวแล้วผลกำไรไม่เข้าเป้าก็อาจทำให้ผู้สร้างกุมขมับ ต้องมีสายฮา+บันเทิง มาตีตลาดด้วยเช่นแก๊งค์ Guardian of the Galaxy และล่าสุดคือ THOR ตอนใหม่ที่ซัดมุกกันไม่ยั้งมือ

ในบรรดาหนังซูเปอร์ฮีโร่จักรวาล Marvel Cinematic Universe (MCU) ผมคิดว่าหนังของเทพเจ้าสายฟ้ามีปัญหากับการเล่าเรื่องพอสมควร หยิบจับนู่นนี่นั่นมาใส่จนสะเปะสะปะ (The Dark World คือตัวอย่าง) ยิ่งบรรยากาศของหนังออกแนวจักรๆวงศ์ๆ บทพูดเชยๆ ทำให้คนที่ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้เหนียวแน่นจึงไม่อินเท่ากับฮีโร่ยุคสมัยใหม่อย่าง IRON MAN หรือกัปตันอเมริกา และนั่นก็ทำให้ ไทก้า ไวติตี้ ผกก.ที่ช่ำชองในหนังสายตลก ปิ๊งไอเดียว่าถ้าภาคก่อนๆดูโบราณนัก ภาคนี้เอาให้ฮาขี้แตกไปเลยแล้วกัน

เนื้อเรื่องภาคนี้ไม่มีอะไรมากเมื่อ เฮล่า (เคท แบลนเชตต์ – ที่เห็นแล้วก็ตั้งคำถามว่าเดี๋ยวนี้ยังมีนักแสดงรางวัลออสการ์คนไหนที่ยังไม่เล่นหนังฮีโร่บ้าง?) หลุดจากการจองจำกลับมาที่ แอสการ์ด เพื่อยึดครองบัลลังก์แทนที่ของ โอดิน (แอนโธนี ฮอปกินส์) ที่เสียเก้าอี้จากการโดน โลกิ (ทอม ฮิดเดิลสตัน) ส่งมาใช้ชีวิตบนโลก ธอร์ (คริส เฮมส์เวิร์ด) ในฐานะบุตรชายที่โอดินฝากฝังอนาคตของแผ่นดินเกิดไว้ให้ จึงต้องเข้าขัดขวาง โดยมีเพื่อนร่วมก๊วนอย่าง ฮัลค์ (มาร์ค รัฟฟาโล่) และ วัลคิรี่ (เทสซ่า ธอมป์สัน) มาช่วยกอบกู้บัลลังก์ แต่กว่าจะรวมทีมกันได้งานนี้ก็ลำบากยากเข็ญอยู่เหมือนกัน

ฉากหลังของหนังตอนนี้ไม่ได้เล่าเรื่องราวบนโลกอีกแล้ว แต่ไปฟัดกันตามดาวต่างๆเป็นส่วนใหญ่นั่นจึงทำให้ THOR  ภาคล่าสุดจึงแปรเปลี่ยนเป็นแอ็คชั่นไซไฟเต็มตัว พร้อมฉากซีจีสุดอลังการ (ที่ไม่เนียนซะเลย) ทว่าสิ่งที่โดดเด่นที่สุดไม่ใช่ตัวฉากแอ็คชั่นแต่เป็น “มุกตลก” ที่ ไวติตี้ จัดมาให้แบบเต็มเหนี่ยว ปล่อยมุกถี่ยังกับตลกคาเฟ่ตั้งแต่ฉากแรกยันฉากสุดท้าย โดยเฉพาะแก๊งค์พระเอกทั้ง ธอร์, ฮัลค์, วัลคิรี่, โลกิ ล้วนก็มีซีนตลกเป็นของตนเองทั้งสิ้น สาดมุกรัวเป็นกระสุนปืนกล ขำบ้าง แป้กบ้าง ว่ากันไป แถมยังมีล้อหนังเรื่องอื่นอย่าง Maleficent กับ Point Break อีกต่างหาก

อย่างไรก็ดี มุกตลกเหล่านั้นมันก็เหมือนเป็นดาบสองคมเหมือนกัน กล่าวคือเมื่อถึงฉากเศร้าๆซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ฉาก หนังกลับให้เวลากับมันน้อยเกินไปจน คนดูมีเวลาซึมลึกกับการกระทำของตัวละครได้ไม่มากพอ เศร้าได้แป๊ปเดียวก็กลับมายิงมุกอีกรอบ มันเลยเป็นการทำให้ตัวละครในเรื่องดูจะไม่ได้ฉุกคิดหรือเกิดสำนึกผิดกับการกระทำที่เกิดขึ้นกันเท่าไหร่ ซึ่งก็น่าเสียดายเพราะ 2 ซีนนั้นพูดถึง “การสูญเสีย” อันแสนเศร้า

อีกประเด็นหนึ่งที่แอบสังเกตเห็นคือการที่หนังตั้งใจเขียนบทให้ ธอร์ ออกลุยกับศัตรูโดยไม่มีค้อนเทพที่พังไปตั้งแต่ต้นเรื่อง ซึ่งมันคล้ายคลึงกับ IRON MAN 3 ที่ โทนี่ สตาร์ค ถูกบีบบังคับให้พึ่งพาสติปัญญาของตัวเองไปสู้กับศัตรูโดยไม่ใช้ชุดเกราะในช่วงกลางเรื่อง เพื่อพิสูจน์ว่าต่อให้ไม่มีไอเท็มพิเศษข้าก็ยังเจ๋งอยู่นะ แต่ที่แตกต่างคือ โทนี่ สตาร์ค คือคนธรรมดา แต่ ธอร์ เป็นเทพเจ้า ไม่มีค้อนก็ยังเรียกสายฟ้าได้ ดังนั้นจึงไม่น่าเอาใจช่วยเท่ากับรายแรก เพราะรู้ว่ายังไงเดี๋ยวพี่เขาก็ชนะอยู่ดีแหละ หึหึ

สรุปแล้ว หากคุณกำลังหาหนังสนุกดูคลายเครียดเพื่อลืมชีวิตการงาน, ปัญหาจราจร, ค่าบัตรเครดิตที่ติดค้างหรือหนี้กยศ. THOR: RAGNAROK ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแน่นอน คุณจะหัวเราะแบบฮากลิ้งจนคนข้างๆมองค้อน ส่วนแฟนหนัง มาร์เวล ก็ถือซะว่าเป็นการพักยกผ่อนคลาย ก่อนจะไปเครียดกันอย่างหนักหน่วงไปเลยในหนังรวมพล Avengers: Infinity War ปีหน้า ที่ดูทรงแล้วน่าจะมีตัวละครสักคนที่ถูก “สังเวย”