เมื่อ “ความพิการ” ไม่อาจขวางกั้น “ความสำเร็จ”

ภาพจาก IG : @bangdzoel_

การที่คนคนหนึ่งไม่ได้มีร่างกายครบ 32 เหมือนอย่างคนอื่นๆ ใช่ว่า “ความพิการ” ของพวกเขาจะทำให้ชีวิตตัวเองต้องด้อยคุณค่าลงแต่อย่างใด

“อาคหมัด ซัลการ์เนน” หนุ่มชาวอินโดนีเซีย วัย 24 ปี คือหนึ่งในตัวอย่างของคนที่ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา แม้ต้องไร้แขนและขาทั้งสองข้างมาตั้งแต่กำเนิด

ที่สำคัญ เขาไม่เคยรับรู้ถึงความผิดปกติของร่างกายตัวเองเลย จนกระทั่งอายุ 8 ขวบ ที่ไปโรงเรียนและถูกเด็กคนอื่นๆ ล้อเลียนเรื่องความพิการ

ซัลการ์เนน ย้อนรำลึกเหตุการณ์วันนั้นว่า เขาไปหากระจกบานใหญ่ส่องตัวเอง จึงทำให้ได้รู้เป็นครั้งแรกว่ามีรูปร่างที่ต่างไปจากคนอื่นๆ และนั่นก็ทำให้เขาตัดสินใจไม่ออกจากบ้านไปไหนอีกเลย รวมถึงไม่ไปโรงเรียนด้วย

แต่หลังได้รับกำลังใจจากครอบครัวและเพื่อนฝูงที่สนิทกัน  ทำให้เขากลับมามีความมั่นใจอีกครั้ง และกล้าพอที่จะกลับไปเรียนหนังสือ และเผชิญกับความจริง จนกระทั่งเรียนจบการศึกษาในระดับมัธยม และได้งานทำที่อินเตอร์เน็ตคาเฟ่แห่งหนึ่ง

“ที่นี่มีบริการถ่ายรูปด้วย ผมจึงตัดสินใจซื้อกล้องตัวหนึ่งแบบเงินผ่อน และตั้งใจเรียนรู้การใช้งาน จนกระทั่งได้เป็นที่รู้จักในฐานะช่างภาพ”

แม้ไม่มีนิ้วมือในการลั่นชัตเตอร์ แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคในการถ่ายรูป เพราะเขาผ่านการฝึกฝนจนชำนาญ ด้วยการใช้เนื้อที่ยื่นออกมาเล็กน้อยจากส่วนแขนที่มีอยู่ช่วยกดชัตเตอร์

ขณะเดียวกันก็ใช้แขนอีกข้างที่ยื่นออกมาไม่ถึงข้อศอกในการพยุงกล้องตัวใหญ่โดยควบคุมให้นิ่งด้วยการแนบกับใบหน้า และใช้ปากเป็นตัวช่วยในการกดสวิตช์เปิด-ปิดกล้อง

ความรักในการถ่ายรูปของหนุ่มรายนี้ มีมากมายถึงขนาดที่ครั้งหนึ่งเขาเคยพลัดตกผาขณะที่พยายามถ่ายรูปน้ำตก แต่แทนที่จะตรวจดูว่าตัวเองได้รับบาดเจ็บตรงไหนบ้าง เขากลับเช็กสภาพกล้องถ่ายรูปเป็นอย่างแรก

จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงงานอดิเรก ทุกวันนี้ การถ่ายรูปกลายเป็นอาชีพหลักของเขาไปเรียบร้อยแล้ว โดยทำเองทุกขั้นตอนไปจนถึงกระบวนการตัดต่อและรีทัชภาพในระดับฝีมือขั้นเทพที่ได้รับการยอมรับ อีกทั้งยังเป็นอาสาสมัครให้กับสโมสรเยาวชน ช่วยสอนการถ่ายรูป รวมถึงสอนทักษะการใช้โฟโตช็อปให้กับคนที่สนใจด้วย

แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ยังคงมีคนมองเขาด้วยสายตาดูถูกอยู่ แต่ก็ดีกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งซัลการ์เนนถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่ไม่ยอมให้ความพิการมาเป็นอุปสรรคในชีวิต โดยนอกจากจะถ่ายรูปเลี้ยงชีพแล้ว เขายังไม่ทิ้งการเรียนด้วยการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีด้านกฎหมายด้วย

“ถ้าอยากจะเป็นคนเก่งที่สุด  ก็ต้องลบความคิดที่ว่าตัวเองพิการออกไป  เพราะคุณไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ เพื่อจะได้เป็นคนที่เก่งที่สุด”