หนึ่งในเรื่องที่เด็กจบใหม่หลายคนมักบ่นเมื่อเริ่มมีรายได้เป็นของตัวเอง รวมถึงคนที่ทำงานมาแล้วหลายปีก็เคยบ่นเหมือนกันสมัยที่เรียนจบใหม่ ๆ และเพิ่งมีงานทำ คือเรื่องเฉพาะทางที่ระบบการศึกษาในโรงเรียนไม่เคยสอน หรือให้ความสำคัญน้อยมาก ๆ ที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับ “การเงินวัยทำงาน” ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนวัยทำงานต้องเจอเหมือนกันทุกคน ไม่ต่างอะไรกับการมีความรู้ในหลากหลายวิชาเพื่อทำงานเลย ทำให้มนุษย์วัยทำงานจำนวนมากต้องมาเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และลองผิดลองถูกด้วยตัวเองเมื่อเข้าสู่วัยทำงานมาแล้ว ซึ่งหลายครั้งมันก็นำไปสู่ปัญหาทางการเงินต่าง ๆ ได้
ทักษะเรื่องการเงิน ถือเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต แต่กลับถูกมองข้ามไม่มีสอนในหลักสูตรการศึกษา หากถามว่าทักษะที่ไม่ได้มีอยู่ในตำราเรียนนี้มีความสำคัญและจำเป็นแค่ไหน ก็ต้องตอบว่าสำคัญต่อความมั่นคงและความสุขในชีวิตเลยทีเดียว เพราะเมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน ชีวิตของเราไม่ได้มีแค่ทำงานแล้วจบที่รับเงินเดือน แต่เราต้องเผชิญกับความรับผิดชอบทางการเงินที่มากขึ้น ต้องจัดการกับรายได้ที่รับมา และรายจ่ายที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว ไหนจะต้องวางแผนยาวไปถึงวัยเกษียณที่จะไม่ทำงานแล้วแต่ยังคงต้องใช้เงินอยู่ การขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินจึงอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สิน ความเครียด และการพลาดโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว
ดังนั้น เมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงานมาแล้ว หลายคนจึงเริ่มพบว่าเรื่องการเงินไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เรื่องการจัดการรายรับ รายจ่าย มันไม่ใช่แค่รับมาแล้วจ่ายไป มันยังมีอีกหลายเรื่องที่เรื่องเงินเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้การวางแผนอนาคตทางการเงินกลายเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องไปตั้งกระทู้ถามคนมีประสบการณ์บนอินเทอร์เน็ต และบางคนก็ผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมาด้วยตัวเองแบบเลือดตาแทบกระเด็น ทั้งที่ในความเป็นจริง นี่คือทักษะที่ควรได้รับการปลูกฝังอย่างเป็นระบบตั้งแต่เยาว์วัย โดยเฉพาะในหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรงเรียนอาจไม่ได้สอนสิ่งเหล่านี้ หรือเราเองก็เคยล้มเหลวทางการเงินมาก่อน ก็ยังไม่สายที่จะเริ่มต้นเรียนรู้และปรับตัวตั้งแต่วันนี้
ทำไมการวางแผนการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญ
การวางแผนการเงินไม่ใช่เรื่องของคนรวย หรือเรื่องที่ต้องรอให้มีเงินเยอะ ๆ ก่อนถึงจะเริ่มทำได้ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่คนวัยทำงานต้องรีบวางแผนตั้งแต่วันแรกที่เริ่มมีรายได้เลยด้วยซ้ำ แผนทางการเงินที่ดีจึงช่วยปูทางไปสู่ความมั่นคงในชีวิต และที่สำคัญที่เราต้องตระหนักให้มาก ๆ ก็คือ หากบริหารจัดการเงินผิดแผน ชีวิตเปลี่ยนได้เลยทันที ซึ่งนี่คือเหตุผลว่าทำไมการวางแผนการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่คนวัยทำงานต้องมี
- เพื่อจัดการรายรับและรายจ่ายได้อย่างสมดุล อย่างที่บอก เรื่องการเงินวัยทำงานมันไม่ใช่แค่ทำงาน รับเงินเดือนแล้วจบ แต่เรายังต้องจัดการรายจ่ายให้สมดุลกับรายรับด้วย ต้องรู้หา โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกว่ารายจ่ายเริ่มเกินรายรับ หรือเริ่มมีหนี้ รู้ใช้ ต้องใช้จ่ายอย่างมีสติ แยกความจำเป็นออกจากความอยาก บริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็น และมองหาความคุ้มค่า รู้เก็บ เรื่องของการทำบันทึกรายรับรายจ่าย และการตั้งเป้าหมายการออมที่ชัดเจน โดยออมเงินก่อนใช้ และรู้ขยายผล ด้วยการนำเงินออมไปลงทุนต่อยอดให้งอกเงย
- เพื่อหลีกเลี่ยงภาระหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพราะถ้าหากไม่มีแผนที่รัดกุม ไม่รอบคอบ และไม่มีวินัยในการทำตามแผน เราอาจใช้จ่ายเกินตัวจนเกิดหนี้สิน และต้องวนเวียนอยู่กับวังวนของการใช้หนี้ที่เป็นลูปไม่มีที่สิ้นสุด
- เพื่อบรรลุเป้าหมายในระยะยาว เพราะช่วงวัยทำงานเป็นช่วงสร้างตัว คนทำงานทุกคนย่อมมีเป้าหมายที่คล้าย ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้านเป็นของตัวเอง ซื้อรถ สร้างครอบครัว หรือแม้แต่การท่องเที่ยว แผนการเงินที่ดีจะช่วยให้เรากำหนดเป้าหมายและวางเส้นทางทางการเงินไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ได้
- เตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ ไม่มีใครที่อยากจะทำงานหนักไปจนแก่ตาย ทุกคนมีแผนที่จะหยุดทำงานเมื่ออายุถึงจุดหนึ่ง แต่ถ้าไม่ทำงานก็ต้องมั่นใจว่ามีเงินสำหรับใช้จ่ายในช่วงเวลานั้นด้วย การเริ่มต้นวางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้เรามีเงินเพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณ และสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น
- เตรียมพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉิน เหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินด่วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าปล่อยให้เรื่องฉุกเฉินอยู่นอกแผนเสมอ ไม่มีการคำนวณหรือวางแผนไว้ก่อนว่ามันอาจเกิดขึ้น ปัญหาใหญ่จะเกิดทันทีเมื่อเราไม่มีเงินสำรอง เราอาจต้องเผชิญกับภาวะไม่มั่นคงทางการเงิน ซึ่งการออมเงินสำรองฉุกเฉินนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในการวางแผนการเงิน
- ลดความเครียดทางการเงิน คนที่เคยเจอปัญหาเงินขาดมือ ขาดสภาพคล่อง หรือเจอเรื่องฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อน แต่ไม่มีเงินก้อนให้หยิบมาใช้ได้ทันที จะรู้ดีว่าความเครียดจากปัญหาการเงินนั้นเป็นเรื่องที่สามารถฆ่าเราได้เลย ดังนั้น การมีแผนการเงินที่ชัดเจน จะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไปได้ เมื่อทุกอย่างอยู่ในแผน เราจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมั่นคงมากขึ้น
- สร้างอิสรภาพทางการเงิน การวางแผนที่ดีจะนำไปสู่การมีเงินเก็บและเงินลงทุนที่เติบโต เงินที่สร้างรายได้ได้เองแม้เราจะไม่ทำงาน อิสรภาพทางการเงินจึงทำให้เรามีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากขึ้นในอนาคต
บันทึกรายรับ-รายจ่าย เหมือนเรื่องงี่เง่า แต่ประโยชน์มหาศาล
“บัญชีรายรับ-รายจ่าย” อาจเป็นเรื่องเดียวเกี่ยวกับการเงินที่ใครหลาย ๆ คนเคยทำสมัยเรียน สมัยที่ได้เงินไปโรงเรียนวันละ 5 บาท 10 บาท 20 บาท หรือเด็กจบใหม่รุ่นปัจจุบันก็อาจจะเป็นวันละ 100 บาทก็ได้ สมัยนั้นการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายส่งครู เป็นการบ้านงี่เง่าที่ไม่รู้ว่าทำไปทำไม ขี้เกียจทำสุด ๆ บางคนวนเขียนแบบเดิมทุกวันตลอดช่วงเวลาของการบ้านชิ้นนี้ เพราะการจัดการกับเงินไม่กี่สิบบาทมันไม่ใช่เรื่องซับซ้อน อีกทั้งรายรับของนักเรียนก็มาจากผู้ปกครอง และรายจ่ายในทุกวันก็ไม่ค่อยจะมีอะไรที่มันพิสดารไปจากเดิมมากนัก วนอยู่กับการซื้อข้าวซื้อขนมกิน ค่ารถกลับบ้าน ที่แปลกหน่อยก็คือเก็บเงินซื้อของเล่นหน้าโรงเรียน หรือเข้าร้านเกม
แต่เมื่อได้มาหาเงินใช้เอง ความยากและความซับซ้อนบังเกิดทันที รายรับไม่ใช่แค่หลักสิบหรือหลักร้อย และรายจ่ายไม่ได้มีแค่ค่าของกินและค่ารถเดินทางอีกต่อไป มันยังมีรายจ่ายอีกมากมายที่งอกออกมาให้เราต้องรับผิดชอบ บางคนที่ไม่เคยวางแผนทางการเงินมาก่อนถึงกับมีคำถามว่าทำงานยังไงให้ตัวเองไม่มีเงินเหลือเก็บเลยสักบาท แถมยังมีชีวิตอยู่บนเส้นด้าย ใช้เงินเดือนชนเดือน ใครที่มีปัญหาแบบนี้อยู่ ขอแนะนำให้หวนกลับหาสิ่งที่เรียกว่า “บัญชีรายรับ-รายจ่าย” เพราะมันคือตัวช่วยที่มีประโยชน์ต่อชีวิตเราแบบมหาศาลเลย
แม้ว่าจะดูน่าเบื่อและเป็นเรื่องที่ต้องเจียดเวลามาทำสักเล็กน้อย แต่การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย จะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของการใช้เงินได้ชัดเจน และช่วยให้เราปรับปรุงพฤติกรรมการใช้จ่ายได้ง่ายขึ้นด้วย ช่วยตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และช่วยวางแผนเงินออมและการลงทุนได้แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีทันสมัยมากมายให้เราเลือกใช้เป็นเครื่องมือทำรายรับ-รายจ่าย ไม่จำเป็นต้องเขียนด้วยมือเองด้วยซ้ำไป เช่น Google Sheets หรือแอปพลิเคชันจัดการการเงินต่าง ๆ เป็นเครื่องมือฟรีและใช้งานง่าย ในการบันทึก ติดตาม และวิเคราะห์กระแสเงินของเรา เพื่อให้เห็นภาพรวมทางการเงินและสามารถปรับปรุงพฤติกรรมการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การคำนวณ-ยื่น-ลดหย่อนภาษี เรื่องใกล้ตัว แต่ชวนงงสำหรับเด็กจบใหม่
เมื่อเริ่มมีรายได้ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ “เรื่องภาษี” ที่แม้ว่ารายได้อาจจะไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่หน้าที่การยื่นภาษีเป็นหน้าที่ของคนไทยผู้มีรายได้ทุกคน แต่การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นเรื่องที่หลายคนยังงงงวยอยู่ตลอด โดยเฉพาะกับเด็กจบใหม่ ถึงช่วงยื่นภาษีทีไรต้องมีคนโพสต์ถามอยู่ตลอด ตั้งแต่วิธีการคำนวณรายได้ของตัวเองกับระบบภาษีแบบขั้นบันได การวางแผนลดหย่อนภาษี ที่หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอะไรบ้างที่เราจ่ายเงินไปแล้วได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกลับมา รวมถึงวิธีการยื่นภาษี ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง และเข้าไปในระบบแล้วต้องเลือกช่องไหน นี่เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องรู้ แต่หลักสูตรการศึกษากลับไม่สอน!
เด็กจบใหม่บางคนที่ต้องยื่นภาษีครั้งแรกในชีวิต ต้องมาเรียนรู้เองจากอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการยื่นภาษี ตั้งแต่หาข้อมูลว่าตัวเองต้องเลือกแบบฟอร์มการเสียภาษีตัวเลือกไหน แหล่งเงินได้ที่ต้องเสียภาษี เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส ยิ่งกับคนที่เป็นผู้ที่มีรายได้แบบไม่ประจำ หรือคนที่ทำ Freelance การยื่นภาษีอาจมีความซับซ้อนมากกว่าพนักงานประจำ ต้องเข้าใจถึงประเภทของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ และวิธีการยื่นภาษีที่ถูกต้อง จากนั้นก็ไปงงกันต่อกับการคำนวณเงินได้สุทธิ ที่หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนไปหมดแล้ว ถึงจะเอาไปเปรียบเทียบกับอัตราภาษีแบบขั้นบันได
ซึ่งนอกจากการคำนวณภาษีแล้ว การรู้จัก “เคล็ดลับในการลดหย่อนภาษี” ก็สำคัญไม่แพ้กัน มันเป็นเรื่องที่เด็กจบใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ์ลดหย่อนต่าง ๆ ที่ตัวเองอาจมีเพื่อไม่ให้เสียโอกาส นี่เป็นตัวช่วยให้เราประหยัดภาษีที่ต้องเสียได้อย่างถูกกฎหมายสำหรับคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี เช่น การซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือการทำประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา หรือการบริจาคเพื่อการกุศล นอกจากนี้ยังมีค่าลดหย่อนส่วนตัว ลดหย่อนคู่สมรส ลดหย่อนบุตร ลดหย่อนบิดามารดา ลดหย่อนประกันสังคม นี่คือสิ่งที่ควรปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยเรียนเพื่อให้เข้าใจถึงหน้าที่ในการเสียภาษี และสามารถวางแผนการเงินได้อย่างถูกต้อง
เรื่องยุ่งยากของวัยสร้างตัว ที่ต้องวางแผนซื้อบ้าน-ซื้อรถ-สร้างครอบครัว
เป็นเรื่องปกติของคนวัยทำงานที่เริ่มวางแผนจะซื้อทรัพย์สินเป็นชื่อของตัวเองเมื่อมีรายได้ นี่เป็นสิ่งที่เด็กแทบทุกคนคิดไว้ในหัวตั้งแต่สมัยเรียนแล้วว่าโตขึ้นจะซื้อบ้าน จะซื้อรถ จะมีลูกกี่คน จะส่งลูกเรียนที่ไหนดี แต่มันก็เป็นเพียงการสร้างวิมานในอากาศของเด็ก ๆ เพราะเมื่อโตขึ้นมา แผนเหล่านี้สะเทือนไปหมดด้วยปัจจัยเรื่องรายได้ ค่าใช้จ่าย เงินเฟ้อ เรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ การแบกรับดอกเบี้ยไม่ไหว ปัญหาหนี้สินระยะยาว ฯลฯ ที่เป็นผลมาจากวางแผนทางการเงินไม่เป็น ทำเอาหลายคนถึงกับพับแผนการสร้างตัวของตัวเองเก็บเข้ากรุ แล้วเลือกที่จะใช้ชีวิตให้ผ่านไปวัน ๆ แค่นั้นก็ถือว่าเก่งมากแล้ว หรือบางคนก็ต้องมาตั้งกระทู้ถาม เช่น ซื้อบ้านหรือซื้อรถก่อนดี อะไรแบบนี้
ถ้าเรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก ๆ หลายคนคงจะไม่สับสนกับชีวิตจนถึงขั้นที่ต้องไปถามคนอื่นหรอกว่าระหว่างซื้อบ้านกับซื้อรถ ซื้ออะไรก่อนดี เพราะถ้าถูกสอนมาให้วางแผนการเงินเป็น ก็จะรู้ถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องว่าจะซื้ออะไรก่อน และที่สำคัญ บ้านและรถเป็นทรัพย์สินขนาดใหญ่ที่ทำมนุษย์เงินเดือนเป็นหนี้ก้อนโตอยู่หลายปี การจะตัดสินใจซื้อบ้านหรือรถ จึงเป็นเป้าหมายใหญ่ที่ต้องมีการวางแผนที่รอบคอบ ต้องประเมินความสามารถทางการเงินด้วยการคำนวณรายได้ต่อเดือนและหนี้สิน เพราะส่งผลต่อเงินที่ต้องใช้ผ่อนในแต่ละเดือนที่ไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ ต้องศึกษาประเภทสินเชื่อและรู้จักเปรียบเทียบดอกเบี้ยสินเชื่อ และเรื่องเงินดาวน์ ที่เป็นกับดักล่อคนมานักต่อนัก
การจะมีบ้าน มีรถ หรือสร้างครอบครัวที่มั่นคงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกอย่างต้องใช้เงิน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากหากมีแผนการเงินที่ดี เพราะจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่เป็นไปอย่างรอบคอบ และไม่กระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตราบใดที่ไม่ได้เป็นมหาเศรษฐี ใช่ว่าอยากได้ อยากมี หรือจำเป็นต้องมี แล้วจะซื้อได้เลย การจะสร้างตัวด้วยการซื้อทรัพย์สินขนาดใหญ่ จึงควรจะถูกบรรจุไว้ในแผนการใช้เงินของเราในอนาคต เพื่อไม่ให้เรื่องของสินเชื่อและดอกเบี้ยเป็นกับดักก่อหนี้ที่ย้อนมาทำลายตัวเราเอง
สินเชื่อและดอกเบี้ย กับดักก่อหนี้ที่ทำหลายคนเวียนว่ายตายเกิดไม่จบสิ้น!
หลายคนไม่เคยรู้มาก่อนจนกระทั่งได้มาเผชิญหน้ากับหนี้สินท่วมหัวด้วยตัวเอง ว่า “สินเชื่อและดอกเบี้ย” เปรียบเสมือนดาบสองคมสำหรับมนุษย์เงินเดือน ที่หากรู้จักใช้อย่างชาญฉลาด ก็ถือว่าเป็น “เครื่องมือ” ที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ แต่หากไม่ระมัดระวังและหลงระเริงใช้จ่ายแบบขาดสติ มันก็กลายเป็น “กับดัก” ที่กัดกินอิสรภาพทางการเงินของเราอย่างน่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีรายได้ประจำที่แน่นอนอย่างพวกมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ที่สถาบันการเงินมักมองว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำในการผิดนัดชำระหนี้ และอาจเสนอสินเชื่อให้โดยง่าย แต่แล้วทุกอย่างกลับมาพังที่ตัวเราที่ใช้มันไม่เป็น ละเลยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจนมันเกิดขึ้น กับดักสินเชื่อที่มนุษย์เงินเดือนควรระวัง คือ
- การพึ่งพาสินเชื่อมากเกินไป เพราะการเข้าหาสินเชื่อที่ดูเหมือนช่วยแก้ปัญหาได้ทันที โดยเฉพาะนิสัย “ซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง” ซึ่งนำไปสู่ภาระหนี้สินที่สูงเกินไป เช่น การใช้บัตรเครดิตซื้อของที่ไม่จำเป็นโดยไม่ได้วางแผนการชำระ หรือกู้สินเชื่อส่วนบุคคลหลายก้อนจนดอกเบี้ยสะสมสูง ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นก็คือ รายได้ส่วนใหญ่ถูกใช้ในการผ่อนชำระหนี้ และไม่มีเงินจะออมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินหรืออนาคต
- ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ย ดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ผู้กู้หลายคนมองข้าม แต่กลับเป็นภาระที่ซ่อนอยู่ในทุกการผ่อนชำระ ความเข้าใจเกี่ยวกับดอกเบี้ย Flat Rate (อัตราคงที่) ที่ดูเหมือนดอกเบี้ยต่ำ แต่คำนวณจากเงินต้นทั้งหมด มันไม่ลดลงเมื่อเงินต้นลด และดอกเบี้ย Effective Rate (อัตราที่แท้จริง) ที่คำนวณจากเงินต้นที่เหลือ ทำให้ดอกเบี้ยสะสมต่ำกว่า แต่ยังคงสูงหากกู้เป็นเวลานาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การซื้อสินค้าผ่อน 0% แต่แฝงค่าธรรมเนียมแอบแฝง และชื่นชอบดอกเบี้ย 0% จนทำให้หลายคนตกม้าตาย หรือการกู้เงินระยะยาว (10-30 ปี) โดยไม่คำนวณดอกเบี้ยสะสม
- ดอกเบี้ยทบต้นที่กัดกินอย่างเงียบ ๆ โดยเฉพาะกับหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ดอกเบี้ยที่ไม่ได้รับการชำระจะถูกนำไปรวมกับเงินต้น ทำให้ยอดหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แบบทวีคูณ หากปล่อยไว้นาน ดอกเบี้ยก็จะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งกว่าเงินต้น ซึ่งการจ่ายขั้นต่ำของบัตรเครดิตเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของกับดักดอกเบี้ย เพราะเงินส่วนใหญ่ที่จ่ายไปจะถูกนำไปจ่ายดอกเบี้ย ทำให้เงินต้นลดลงน้อยมาก และต้องใช้เวลานานกว่าจะปลดหนี้ได้หมด
- ก่อหนี้ที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจใช้สินเชื่อเพื่อปิดหนี้ก้อนเก่า ทำให้หนี้สะสมเพิ่มขึ้นโดยไม่มีที่สิ้นสุด อย่างการกดเงินสดจากบัตรเครดิตมาปิดสินเชื่อบุคคล หรือกู้เงินใหม่มาโปะหนี้เก่า โดยไม่แก้ปัญหาพื้นฐานว่าทำไมถึงเป็นหนี้ ทำให้ติดวงจรหนี้แบบไม่จบสิ้น
- ไม่ตรวจสอบสัญญาเงินกู้ให้ดี เพราะสัญญาเงินกู้มักมีเงื่อนไขที่ซับซ้อน เช่น ค่าปรับสำหรับการชำระคืนก่อนกำหนด หรือค่าธรรมเนียมแฝง มักทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเมื่อขาดชำระเกินกำหนด และมีค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสินเชื่อ
- ใช้เพื่อสร้างหนี้เพื่อความอยากแทนความจำเป็น เพราะ “ของมันต้องมี” มนุษย์เงินเดือนจำนวนมากกู้เงินเพื่อซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น หรือซื้อของตามกระแสอยากติดแกลม โดยไม่ได้วางแผน จึงก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ทั้งยังเกิดความเครียดจากภาระผ่อนชำระที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มักมาพร้อมกับ “วงเงินพร้อมใช้” ที่ดูเหมือนเป็นเงินสำรอง แต่จริง ๆ แล้วคือ “กับดัก” ที่ลวงให้มนุษย์เงินเดือนใช้จ่ายเกินความจำเป็น เพียงเพราะรู้สึกว่ามีเงินอยู่ในมือ การใช้วงเงินเหล่านี้จึงมาพร้อมกับภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนในอนาคต ทำให้เงินเดือนที่ได้รับมาต้องถูกนำไปจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นแทนที่จะนำไปใช้เพื่อเป้าหมายอื่น ๆ
- ก่อหนี้เกินตัว ภัยความมั่นจากการมีรายได้ประจำ มนุษย์เงินเดือนมักมีความมั่นใจในรายได้ที่เข้ามาทุกเดือน ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจก่อหนี้ระยะยาว เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ หรือสินเชื่อส่วนบุคคล โดยอาจไม่ได้ประเมินภาระผ่อนชำระในระยะยาวอย่างรอบคอบ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ตกงาน ลดเงินเดือน หรือมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ก็อาจทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ทัน จนนำไปสู่ปัญหาหนี้สินพอกพูน
- สร้าง “หนี้ท่วมหัว” จากการมีสินเชื่อหลายประเภท เพราะมั่นใจในการมีรายรับทุกเดือน มนุษย์เงินเดือนบางคนจึงอาจมีสินเชื่อหลายประเภทพร้อมกัน เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ทำให้ภาระผ่อนชำระรวมต่อเดือนสูงมาก จนแทบไม่เหลือเงินสำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หรือการออม แถมยังเพิ่มความเสี่ยง หากเกิดปัญหาทางการเงิน ก็อาจไม่สามารถจัดการภาระหนี้ทั้งหมดได้พร้อมกัน
- ตกเป็นเหยื่อของการตลาดที่จูงใจ โดยเฉพาะการตลาดที่น่าดึงดูดใจ อย่าง “ดอกเบี้ย 0%” “ผ่อนสบาย ๆ” ซึ่งอาจทำให้มนุษย์เงินเดือนตัดสินใจก่อหนี้โดยไม่ได้พิจารณาถึงภาระดอกเบี้ยที่จะตามมาในระยะยาว
การออมและการลงทุน สำคัญต่อชีวิตทั้งชีวิต
สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ การออมและการลงทุนไม่ใช่แค่เรื่องของคนที่มีเงินเหลือ หรือเป็นเรื่องของอนาคตที่ไกลตัว แต่เป็นหัวใจสำคัญและเป็นรากฐานในการสร้างฐานะทางการเงินที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลต่อความสุขในชีวิตด้วยเมื่อเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาของชีวิต การให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตได้ดีขึ้น
โดยการออม ถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับกรณีฉุกเฉิน เพราะเงินออมคือกองทุนฉุกเฉินที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินในสถานการณ์ไม่คาดคิด เช่น การเจ็บป่วยหรือการตกงาน นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนด้วย โดยเป็นขั้นแรกที่ช่วยให้เรามีทุนในการลงทุนในอนาคต รวมถึงยังช่วยสร้างวินัยทางการเงินที่ดี
ส่วนการลงทุน ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มมูลค่าเงินออมในระยะยาว ซึ่งถ้าหากเรามีเงินเก็บก้อนหนึ่งแล้ว การลงทุนคือขั้นต่อไปที่ช่วยเพิ่มมูลค่าเงินก้อนนั้นของเราให้เติบโตผ่านดอกเบี้ยทบต้น หรือผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น หุ้น กองทุนรวม หรืออสังหาริมทรัพย์ ทั้งยังเป็นการรับมือกับเงินเฟ้อที่ทำให้มูลค่าของเงินลดลง การลงทุนช่วยให้เงินของเราเติบโตและรักษามูลค่าในระยะยาว นอกจากนี้ การลงทุนยังเป็นการสร้างรายได้แบบ passive ที่สร้างรายได้เสริมให้เราโดยไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการทำงานเพียงอย่างเดียว การลงทุนจึงช่วยให้เราสามารถเตรียมพร้อมสำหรับเป้าหมายระยะยาว เช่น การเกษียณอายุ การซื้อบ้าน หรือการส่งลูกเรียน และสำหรับมือใหม่หัดลงทุน นอกจากต้องตั้งเป้าหมายสำหรับการลงทุนแล้ว มี 4 เรื่องหลัก ๆ ที่ควรต้องรู้ คือ
- ประเภทของสินทรัพย์ลงทุนเบื้องต้น เช่น เงินฝาก หุ้น กองทุนรวม ตราสารหนี้ การลงทุนแต่ละลักษณะมีความเสี่ยง และได้ผลตอบแทนต่างกัน
- ความเสี่ยงและผลตอบแทน ต้องเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนในการลงทุน โดยทั่วไปสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงก็มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูง และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำก็มีโอกาสให้ผลตอบแทนต่ำ เลือกความเสี่ยงที่ยอมรับได้
- หลักการกระจายความเสี่ยง เข้าใจถึงความสำคัญของการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อลดผลกระทบจากการขาดทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง
- การเริ่มต้นลงทุน ต้องศึกษาข้อมูลให้เข้าใจตลาดและผลิตภัณฑ์การเงิน รวมถึงศึกษาขั้นตอนเบื้องต้นในการเริ่มต้นลงทุน เช่น การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ การศึกษาข้อมูลบริษัทหรือกองทุน และการลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อย ๆ ก่อน
ดังนั้น การออมและการลงทุน จึงเป็นการเตรียมพร้อมกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และเป็นการต่อยอดเงินก้อนที่เรามีอยู่แล้วให้งอกเงยได้มากกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยลดความกังวลและความเครียด เพราะการมีแผนการออมและการลงทุนที่ชัดเจน ช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไปได้มาก สร้างอิสรภาพทางการเงินที่ช่วยให้เรามีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากขึ้น ไม่ต้องทำงานเพียงเพื่อความอยู่รอด และสามารถเกษียณอายุได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องกลัวว่าจะลำบากตอนแก่ และที่สำคัญ ยังสร้างความมั่งคั่งและส่งต่อเป็นมรดกไปสู่ลูกหลานได้อีกด้วย การลงทุนที่ประสบความสำเร็จสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัว และอาจสามารถส่งต่อเป็นมรดกให้กับคนที่เรารักได้
ทั้งหมดนี้คือ “การเงินวัยทำงาน” ที่อาจไม่มีสอนในหลักสูตรของโรงเรียน แต่สำคัญและจำเป็นต้องรู้ เพราะฉะนั้น ยังไม่สายเกินไปที่เราเริ่มต้นเรียนรู้และวางแผนอย่างเป็นระบบตั้งแต่วันนี้ เพราะความรู้ทางการเงินคือเครื่องมือสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่ชีวิตที่มั่นคง มั่งคั่ง และมีความสุขอย่างแท้จริง ปลดแอกเราจากกับดักทางการเงินที่สร้างความวุ่นวายในชีวิตของเรา อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เรามีอิสระทางการเงินและใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินอีกด้วย