ทุกวันนี้ การที่บริษัทต่าง ๆ ประกาศปลดพนักงานแบบฟ้าผ่า หรือประกาศเลิกจ้างทั้งเพื่อลดกำลังคนและปิดกิจการ สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทขนาดกลาง และผู้ประกอบรายย่อย เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การมาของเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ได้ในหลาย ๆ ตำแหน่งงาน ความต้องการลดต้นทุนด้วยการลดการจ้างงาน เหลือไว้แค่บุคลากรที่มีทักษะสูง ต่อยอดได้ ผลที่ตามมาก็คือ พนักงานหลายตำแหน่งที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องเผชิญกับการถูกบีบให้ออกจากงาน หรือถูกเชิญออกด้วยการร่อนประกาศเลิกจ้าง และทำให้หลายคนต้องมีสถานะเป็น “คนตกงาน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แน่นอนว่าหลังจากที่ทราบข่าวร้ายโดยที่ไม่ทันตั้งตัวมาก่อนว่าตนเองคือคนที่ต้องออกจากงาน และกำลังจะกลายเป็นคนตกงานอย่างสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้ มักจะตามมาด้วยอารมณ์สะเทือนใจ และตกใจว่าทำไมถึงเป็นเรา บางคนอาจรู้สึกเหมือนถูกทรยศด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมาทุ่มเทให้กับการทำงานและจงรักภักดีต่อองค์กรมาอย่างยาวนาน รวมถึงความเคว้งคว้าง สับสนว่าจะทำอะไรต่อไปดี เนื่องจากการตกงานแปลว่าขาดรายได้ ในขณะที่เรายังมีรายจ่ายอยู่ในทุกวัน และหลายคนตกงานจากที่เก่าก็มาพบเจอกับเงื่อนไขมากมายในการหางานใหม่ เช่น อายุมาก หรือวุฒิการศึกษาไม่สูงตามคุณสมบัติ ที่มักเป็นข้อจำกัดในการรับสมัครงานของบริษัทต่าง ๆ
และบางคนอาจสะเทือนใจจนส่งผลต่อสุขภาพจิต คือรู้สึกอับอาย คิดว่าว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการ เป็นคนล้มเหลว ไม่เอาไหน ซึ่งอาจจะเครียดจัดจนถึงขั้นคิดสั้นจบชีวิตตัวเองได้เลยทีเดียว ข้อมูลจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การสูญเสียงานอย่างกะทันหันส่งผลกระทบต่อจิตใจที่รุนแรง 3 ประการ
1. ทำให้รู้สึกสูญเสียตัวตน
เนื่องจากคนเรามักจะระบุตัวตนของตัวเองกับอาชีพหรืองานที่ทำ เช่น ฉันเป็นหมอ ฉันเป็นครู ฉันเป็นวิศวกร และกับบางคนที่ทำงานอยู่ที่เดียวที่เดิมนาน ๆ ก็จะยิ่งมีความผูกพันอย่างแนบแน่นกับอาชีพที่ตัวเองทำ รวมถึงการที่บางคนให้ความสำคัญกับบทบาทของการเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว หรือเป็นคนที่พึ่งพาตนเองได้จากอาชีพ จากงานที่ตัวเองทำ เมื่อต้องสูญเสียงานที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวตน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จึงทำให้บุคคลเหล่านี้รู้สึกเสียส่วนหนึ่งของตนเองไปได้ ในระยะแรกที่ยังตกใจและยอมรับความจริงไม่ได้ว่าทำไมถึงเป็นตัวเราที่ต้องตกงาน ยิ่งทำให้รู้สึกเคว้งคว้าง ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับตัวเองต่อไป ฉันทำเป็นแค่งานแบบนี้ แล้วจะไปไหนต่อได้
2. ทำให้สูญเสียจุดมุ่งหมายในชีวิต
เป็นเรื่องปกติของคนที่เคยต้องตื่นแต่เช้าไปทำงานทุกวัน เป็นกิจวัตรปกติมาตลอดหลายปี เมื่อสูญเสียงานก็มักจะรู้สึกว่าชีวิตไร้จุดหมาย ตื่นขึ้นมาตอนเช้าเหมือนเดิมแต่ไม่มีที่ให้ไป จึงอาจจะมีการตั้งคำถามว่าวันนี้ฉันจะทำอะไร หรือพรุ่งนี้ฉันจะทำอะไร มันดูว่างเปล่าไปหมด เพราะตอนที่ยังทำงานอยู่ ทุกคนต่างก็มีเป้าหมายในสายอาชีพของตนเอง อยากก้าวหน้า อยากเลื่อนขั้น อยากมีเงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ จึงตั้งใจทำงานอย่างหนักเพื่อให้ตัวเองบรรลุเป้าหมาย และรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ แต่เมื่อมีเหตุที่ไม่ได้ไปทำงานแบบที่เคยทำ ถูกเลิกจ้าง โดนไล่ออก เป้าหมายที่เคยตั้งไว้ก็พังหมด จึงรู้สึกสงสัยในเป้าหมายในชีวิตตนเอง เริ่มกลับมาคิดว่าหลังจากนี้ชีวิตตัวเองจะเป็นยังไงต่อ
หลายคนเมื่อตั้งหลักได้แล้ว ก็ถือเอาช่วงเวลาแรก ๆ หลังจากว่างงานมานั่งทบทวนตัวเอง มองย้อนกลับไปว่าต้องการอะไรในชีวิต เป้าหมายเดิมยังพอไปถึงไหม หรือจะปล่อยวางแล้วเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ดี บางคนก็อาจค้นพบเป้าหมายใหม่ที่ตัวเองอยากจะทำต่อ เป้าหมายที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น และพบความหมายใหม่ในชีจิตจากกิจวัตรที่ต่างไปจากเดิม บางคนขอออกเดินทางเพื่อพักผ่อนจิตใจชั่วคราว ใช้ชีวิตแบบที่ไม่เคยใช้ในช่วงที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ บางคนนั่งทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ แล้วนึกขอบคุณที่โดนให้ออก เพราะที่ผ่านมาสุขภาพกายสุขภาพจิตย่ำแย่ แล้วเริ่มคิดว่าตัวเองอาจจะเหมาะกับเส้นทางอื่นมากกว่า ก็ค้นหาตัวเองจนพบทางใหม่หรืองานใหม่ที่เติมเต็มชีวิตได้มากกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรจะทิ้งช่วงในการหยุดพักเพื่อทบทวนตัวเองนานเกินไป เพราะอาจทำให้ยิ่งออกห่างจากโลกแห่งความเป็นจริงขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหนีความจริง และจมอยู่กับอดีตและความรู้สึกผิด เช่น เอาแต่โทษตัวเองว่าฉันทำอะไรผิดฉันถึงเป็นคนที่ถูกให้ออกจากงาน หรือเพราะเรื่องนั้นหรือเปล่าฉันถึงโดนให้ออก ถ้าวันนั้นฉันไม่ทำอย่างนั้น วันนี้ฉันก็คงไม่เป็นแบบนี้ เป็นต้น
3. ทำให้รู้สึกสูญเสียคุณค่าในตนเอง
การที่จู่ ๆ ก็โดนให้ออกจากงาน ในความรู้สึกของคนที่ไม่ทันได้ตั้งตัวว่าจะเจอเข้ากับเรื่องชวนช็อกแบบนี้ จะรู้สึกว่ามันเป็นความผิดพลาด เป็นความล้มเหลว สิ่งที่ตามมาคือสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไร้ความสามารถ ยิ่งในสังคมที่ให้ความสำคัญกับมุ่งมานะทำงานอย่างหนักเพื่อให้ประสบความสำเร็จ การมีคุณค่าคือการทำงาน ก็จะทำให้เราได้เห็นคุณค่าในตัวเองเมื่อเห็นภาพความสำเร็จจากการทำงาน ได้รับคำชมเชย ได้เลื่อนตำแหน่ง ได้ขึ้นเงินเดือน ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าและมีความสามารถในองค์กร มีศักยภาพในการเลี้ยงครอบครัว ดังนั้น เมื่อไม่มีงานทำ หลายคนจึงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์ และเป็นภาระของครอบครัว
ดังนั้น คนส่วนใหญ่ที่ถูกเลิกจ้าง ถูกไล่ออก ตกงานแบบกะทันหันโดยที่ตัวเองไม่ได้ลาออกเอง จึงมักติดวังวนความรู้สึกผิด วิตกกังวล อับอาย บางรายมีอาการเริ่มต้นของการเป็นโรคซึมเศร้าและพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้ เริ่มปลีกตัวออกจากสังคม ปฏิเสธความช่วยเหลือจากผู้อื่น กลัวการถูกมองว่าเป็นคนไร้ความสามารถ เป็นคนไม่เอาไหน ซึ่งความวิตกกังวลและอารมณ์ในด้านลบแบบนี้ก่อให้เกิดความเครียดทั้งต่อตัวเองและในความสัมพันธ์ ความรู้สึกไม่มั่นคงอาจทำให้บางคนขาดสติ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หรืออาจหันหน้าไปพึ่งสุราและสารเสพติดเพื่อคลายเครียด จนกลายเป็นชนวนของปัญหาใหญ่ ๆ ตามมาอีกหลายอย่าง
รีบตั้งสติและลุกขึ้นใหม่ให้ได้
แน่นอนว่าเมื่อต้องได้รับข่าวร้ายว่าตนเองคือผู้ถูกเลือกให้ต้องออกจากงาน เป็นใครก็เผชิญกับปัญหาด้านอารมณ์กันทั้งนั้น ทั้งความรู้สึกผิด อับอาย วิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า ก็ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องที่ต้องกดดันตัวเองมากเกินไป ซึ่งการรับมือกับอารมณ์เหล่านี้ อาจจะต้องพึ่งเวลาเพื่อตั้งสติและยอมรับความจริงให้ได้ และส่วนใหญ่มนุษย์ต้องเดินทางผ่าน 5 ขั้นของความรู้สึกสูญเสีย หรือที่เรียกว่า 5 Stage of grief
โดยเริ่มจากการปฏิเสธความจริง ไม่ยอมรับ ซึ่งเป็นกลไกในการปกป้องตัวเองของมนุษย์ยามที่เจอเข้ากับเรื่องที่ไม่ทันตั้งตัว จากนั้นจะเปลี่ยนความอ่อนไหวว่าเป็นความโกรธ ก็ยังเป็นกลไกของจิตใจที่ป้องกันตัวเองจากความเจ็บปวด ทำไมถึงเป็นฉันล่ะ ฉันทำอะไรผิด ที่ผ่านมาฉันทุ่มเทเพื่อบริษัทตั้งมากมาย แต่บริษัทหักหลังฉันแบบนี้เหรอ เมื่อความโกรธเบาลง เราจะกลับมาใช้วิธีประนีประนอมอีกครั้งด้วยการต่อรอง (ทั้งที่รู้ว่าไม่มีประโยชน์) ยังทำงานต่อได้ถึงเมื่อไร ขอเลื่อนไปอีกสักเดือนได้ไหม หรือฉันจะได้รับสิทธิชดเชยอะไรบ้าง คุ้มค่าหรือเปล่า เมื่อต่อรองไม่เป็นผลก็เข้าสู่จุดที่เริ่มโศกเศร้าเสียใจ จากนี้จะทำอะไรต่อดี จะไปทางไหน และในที่สุดก็ถึงจุดที่ต้องยอมรับ หันมาเผชิญหน้ากับความจริง และตระหนักว่าเราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ตัวเองได้ไปต่อ
การรับมือกับอารมณ์ด้านลบแบบนี้ ต้องเริ่มจากการ “มีเมตตากับตัวเอง” หรือ “self-compassion” หันมาโฟกัสที่ตัวเอง ใส่ใจตัวเอง ยอมรับความเป็นจริง เผชิญหน้ากับความล้มเหลว โดยทำความเข้าใจว่าความไม่สมบูรณ์แบบหรืออุปสรรคต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ เพียงแต่ครั้งนี้มาโดนที่เรา โดยจะต้องมีสติรับรู้ถึงอารมณ์ที่แท้จริงของตัวเองด้วย ไม่ต้องพยายามหลอกตัวเองว่าไม่เสียใจ ไม่เครียด ไม่เป็นไร รู้สึกอย่างไรก็ยอมรับกับตัวเองไปตามจริง การมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองอย่างเปิดใจ จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้แนะนำถึงสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อต้องรับมือกับความเครียดจากการยอมรับความจริงว่าตัวเองเป็นคนตกงาน ดังนี้
- พยายามอย่าตื่นตระหนก ตกใจได้แต่ต้องตั้งสติให้ทัน การมีความเครียดหรือความวิตกกังวลในระดับปานกลาง จะเป็นตัวสร้างแรงจูงใจที่ดีในการเริ่มต้นใหม่ แต่การตื่นตระหนกขั้นสุดหรือเครียดมากจนขาดสติ อาจทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ แย่ลง เนื่องจากไม่สามารถตัดสินใจอย่างถูกต้องเหมาะสมได้
- หลีกเลี่ยงการปลีกตัวอยู่ตามลำพังหรือปฏิเสธความช่วยเหลือ หลายคนเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดหรือเสียใจ มักจะปลีกตัวไปเยียวยารักษาตนเอง ขออยู่เงียบ ๆ คนเดียวสักพัก ให้เวลากับตนเองเพื่อทบทวนสิ่งที่ผ่านมา และวางแผนอนาคตใหม่หลังจากตกงาน จริง ๆ ก็ทำได้และเป็นประโยชน์ด้วย แต่ไม่ควรทำนาน ๆ และมีสติรู้อารมณ์ตัวเองเสมอว่ากำลังดิ่งอยู่หรือเปล่า นอกจากนี้ยังไม่ควรปลีกตัวออกจากคนที่รัก เป็นห่วง และห่วงใย ยิ่งถ้าพวกเขาหยิบยื่นความช่วยเหลือมาก็ไม่ควรปฏิเสธ กำลังใจจากพวกเขาในวันที่ลำบากเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
- อย่าปล่อยให้อารมณ์ลบครอบงำจิตใจนานเกินไป หลังจากตกงาน คนทั่วไปมักรู้สึกโกรธ ขมขื่น และเศร้าหมอง ไม่รู้ว่าต้องจัดการกับชีวิตต่อไปอย่างไรดี ยิ่งเป็นช่วงแรก ๆ ของการรู้ข่าวว่าตัวเองกลายเป็นคนตกงาน อารมณ์ด้านลบก็ยิ่งรุนแรง แต่เมื่อตั้งหลักได้แล้วก็ควรรีบถอยห่าง เพราะการจมอยู่กับอารมณ์เหล่านี้นาน ๆ จะทำให้เสียพลังงาน เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ นำเวลาและพลังกาย พลังใจ มาคิดหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับชีวิตตนเองจะมีประโยชน์กว่า ถึงแม้ว่าทำแล้วจะยังไม่เห็นผล แต่ก็ดีกว่าไม่เริ่มลงมือทำอะไรเลย
- เลี่ยงการติดอยู่ในกรอบเดิม ๆ หลายคนติดอยู่ในกรอบที่ว่าการทำงานประจำเป็นอะไรที่มั่นคงกว่า และอาจมองว่าการหางานชั่วคราว หรือ part-time ทำไปก่อนเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ แต่อย่าลืมว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต พอตกงานก็ไม่มีรายได้ การเงินติดขัด ย่อมส่งกระทบต่อการใช้ชีวิต ดังนั้น ให้เปิดใจมองทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ด้วย ไม่ควรติดอยู่ในกรอบเดิม ๆ ว่าต้องทำงานที่คล้าย ๆ กับงานที่เคยทำอยู่เพียงเท่านั้น เราสามารถขยับขยายได้เมื่ออะไร ๆ ลงตัว
- พยายามอย่าตั้งคำถาม “ถ้าหาก หรือ what ifs” อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงอย่างมากในช่วงที่สภาวะจิตใจยังไม่มั่นคง คือการตั้งคำถาม เช่น “ทำไมถึงเป็นฉันที่ถูกให้ออก” “ฉันทำอะไรผิดนักหนาถึงโดนให้ออก” “ถ้าฉันไม่ถูกไล่ออก ฉันคง…” หรือ “ถ้าตอนนี้ฉันยังทำงานที่…อยู่ ฉันก็คง…” ในเมื่ออดีตแก้ไขไม่ได้ ก็ไม่ควรที่จะไปเสียเวลาหวนนึกถึง เอาพลังชีวิตที่มีหันมาพิจารณาถึงเป้าหมายต่อไปในชีวิตจะดีกว่า
การตกงานหรือถูกเลิกจ้างกะทันหัน ไม่ได้แปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเราจะพังหมด อะไรที่มันไม่ประสบความสำเร็จก็เริ่มต้นใหม่ได้ ขอแค่ตั้งสติให้ได้ และตั้งใจพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน